เศรษฐกิจ / วัดใจ ‘บิ๊กตู่’ ปั๊มหัวใจเอสเอ็มอี เคลียร์แบงก์ชาติยืดพักหนี้

เศรษฐกิจ

 

วัดใจ ‘บิ๊กตู่’ ปั๊มหัวใจเอสเอ็มอี

เคลียร์แบงก์ชาติยืดพักหนี้

 

ออกอาการหายใจรวยรินลงทุกขณะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยหรือไมโครเอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี หลายล้านรายทั่วประเทศ

เป็นอาการที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา บวกกับปัญหาการเมืองที่ไม่นิ่ง และล่าสุดยังถูกไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระหน่ำใส่จนรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ

แม้ปัจจุบันโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้ แต่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการยังฟุบต่อจากรายได้ท่องเที่ยวที่ยังหดหายเพราะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับภาคแรงงานที่ส่วนใหญ่ยังเคว้ง รายได้ไม่เหมือนเดิม จำนวนมากยังคงตกงาน วงจรดังกล่าวจึงส่งผลต่อกำลังซื้อของคนไทยทั้งประเทศที่ยังอยู่ระดับชะลอ

ความกังวลของเอสเอ็มอี ถูกสะท้อนอย่างต่อเนื่องจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่พยายามเรียกร้องให้รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ สถาบันการเงิน เห็นใจ ออกมาตรการพักชำระหนี้เพิ่มเติม หรือไม่เกิน 2 ปี

เนื่องจากมาตรการของแบงก์ชาติจะสิ้นสุดลงวันที่ 22 ตุลาคมนี้

 

ท่าทีของ “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท.พยายามผลักดันเรื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา เจ้าตัวเคยพยายามหยิบยกเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หลายครั้ง แต่ด้วยจังหวะเวลาที่รัฐบาลมีภารกิจที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างเร่งด่วน ข้อเสนอของประธาน ส.อ.ท.จึงถูกพักไว้ก่อน ภายใต้ทางออกของเอสเอ็มอีที่ให้ไปเจรจาหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้พลางๆ ก่อน กอรปกับประเด็นนี้ผู้มีอำนาจตัดสินใจคือแบงก์ชาติ ไม่ใช่รัฐบาล จึงต้องขึ้นอยู่กับ ธปท.และสถาบันการเงินในการพิจารณาด้วย

ล่าสุดในการประชุม ศบศ.เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา วาระการดูแลเอสเอ็มอีเริ่มถูกพูดถึง ผ่านท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวกับที่ประชุมให้ไปหาทางออกเรื่องนี้ ให้ได้ข้อยุติในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องภายในปีนี้

แม้จะไม่สั่งการโดยตรง แต่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ คือสัญญาณความหวังที่ให้กับเอสเอ็มอี

 

หลังการประชุม ศบศ. “สุพันธุ์” แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า จะมีการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน และเอกชน ถึงข้อเสนอมาตรการพักชำระหนี้เอสเอ็มอีที่เผชิญกับโควิด-19 ซึ่งจะต้องได้ยุติโดยเร็ว เพราะวันที่ 22 ตุลาคมนี้ มาตรการแบงก์ชาติจะจบลงข้อ

ประธาน ส.อ.ท.ยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐค่อนข้างเพียงพอ ทั้งการเติมเงินบัตรสวัสดิการคนจน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือกระแสเงินสดของผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ธุรกิจเล็กๆ ที่จะมีปัญหาหลังมาตรการพักชำหนี้ของ ธปท.หมดลง โดยช่วงที่น่าห่วงอย่างมากคือต้นปี 2564 เรื่องนี้ทราบดีว่าเป็นอำนาจของ ธปท.

“สุพันธุ์” ยังแสดงความกังวลหากเอสเอ็มอีไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยระบุว่า หากมีมาตรการพักชำระหนี้ไม่ว่าจะ 1 หรือ 2 ปี ก็เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการให้มีกระแสเงินสดในการพยุงธุรกิจให้อยู่ต่อไป เพราะหากปล่อยให้ผู้ประกอบการรายเล็กล้มหายตายจากจะส่งผลต่อการจ้างงาน มีการเลิกจ้าง ตอนนี้มี 10 ล้านบัญชีเป็นรายเล็ก จากทั้งหมดกว่า 12 ล้านบัญชีที่มีปัญหา

ทั้งนี้ ถ้าไม่รีบแก้ไขแล้วปล่อยให้ล้ม คนอีกหลายล้านจะตกงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังซื้อเริ่มแผ่วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะมาตรการช่วยเหลือจากรัฐจบลง

“ถ้าเอสเอ็มอีรายย่อยทั้ง 10 ล้านบัญชีมีปัญหา ต้องเริ่มจ่ายหนี้แบงก์ขณะที่รายได้ กำไร ยังไม่มี ก็อาจหันไปพึ่งเงินกู้ใต้ดิน เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยแพง คนกู้ได้ก็เหนื่อย คนกู้ไม่ได้ก็เจ๊ง เกิดปัญหาตามมาอีก คิดง่ายๆ คนเป็นเอ็นพีแอลทำธุรกิจไม่ได้อยู่แล้วต้องพึ่งเงินนอกระบบ ต้องใช้เงินสด โดยกลุ่มนี้หากมีแค่ 20% หรือ 2 ล้านรายที่ต้องกู้เงินนอกระบบ หรือปิดกิจการก็แย่แล้วสำหรับประเทศไทย เป็นตัวเลขที่ประเมินขั้นต่ำแล้ว”

สุพันธุ์กังวล

 

ขณะที่ “โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่มีเอสเอ็มอีเป็นสมาชิกหลักแสนราย ให้ความเห็นว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ การหยุดเลือด อย่างน้อยคือการพักชำระหนี้ เพราะมันคือระเบิดที่รอจุดอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2564 นี้เกือบทั้งหมด ทีนี้ต้องขึ้นกับผู้ประกอบการว่าจะเจรจากับธนาคารยังไง

“ปัจจุบันสถานการณ์เอสเอ็มอี โดยเฉพาะเอสและไมโคร น่าห่วง จากการเก็บข้อมูลพบว่า ไมโครเอสเอ็มอีบางจังหวัดต้องเลิกอันเดิมแล้วไปลงทุนธุรกิจอื่นที่มีขนาดเล็กลงอีก” โชนรังสีระบุ

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอี ชี้ว่า ที่ผ่านมาสมาพันธ์พยายามสะท้อนว่าโครงการดีอาร์บิส ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยเจรจาธนาคารหรือออกมาตรการด้วยการบริหารหนี้หลายๆ กองของผู้ประกอบการให้รวมเป็นกองเดียวได้หรือไม่ และทำให้ดอกเบี้ยน่ารักขึ้นถูกลง ขยายเวลาชำระ จะทำให้เลือดออกน้อยลง เวลาสิ้นเดือนปุ๊บไม่ใช่จ่ายทีรวม 5 ขอจ่ายแค่ 1 กองที่รวมใหม่ เรื่องนี้ปัจจุบัน ธปท.ช่วยแต่กลุ่มที่หนี้รวม 50-500 ล้านบาท เป็นขนาดเอ็ม และเอ็กซ์แอล ส่วนเอสที่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงอยากสะท้อนให้ดูแลส่วนนี้ด้วยการที่บอกว่าจะให้เจรจากับธนาคารเอง ไม่ได้ทำง่ายๆ

“โชนรังสี” ยังระบุว่า สมาพันธ์ไม่มีนโยบายพึ่งรัฐ 100% ต้องพึ่งตัวเราเอง รู้เขารู้เรา แต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เขารู้เรา ไม่ค่อยประเมินกระแสเงินสด ประเมินการลงทุนช่วงที่ผ่านมา สินค้าคงคลังช่วงเงินจมจะหาทางขายยังไง เรื่องพวกนี้บางทีต้องชะลอการลงทุน ต้องวิเคราะห์การลงทุนใหม่ให้เหมาะสม ต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา เพื่อสร้างยอดขาย ต้องปรับตัว

“หากยังไม่มีวัคซีนถึงสิ้นปีหน้า ยังไงต้องดูแลเลือดไหลของผู้ประกอบการ จะแปะหยุดเลือดตรงไหน ต้องเติมวิตามิน ถ้าเติมตอนเศรษฐกิจฟูจะวิ่งตามเขาไม่ทัน เพราะยังเป็นโปลิโออยู่” โชนรังสีกังวล

“โชนรังสี” ยังให้ข้อมูลว่า สมาพันธ์ได้ทำข้อสรุปสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการ คือ 2 ลด 2 เพิ่ม บางอันรัฐบาลอาจจะทำไปแล้ว บางอันยังไม่ทำ จะเสนอกระทรวงการคลัง 2 ลด คือ ลดรายจ่าย และลดภาระหนี้ 2 เพิ่มคือ เพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มโอกาสทางขายและการตลาด

  จากเสียงสะท้อนจากตัวแทนเอสเอ็มอี น่าจับตาว่าคำสั่ง “บิ๊กตู่” กลาง ศบศ. จะทำให้แบงก์ชาติ ภายใต้การนำของ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการคนใหม่ ที่เลือกเฟ้นมากับมือ จะยอมใจอ่อนยื่นมือช่วยหรือไม่