วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เปิดศักราชจีนโพ้นทะเลในไทย

ความเป็นมาและความสำคัญ

นับแต่ที่จีนเปิดประเทศใน ค.ศ.1978 เป็นต้นมา ได้มีชาวจีนเดินทางไปใช้ชีวิตยังต่างแดนเป็นจำนวนมากด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมีที่ตั้งใจปักหลักถาวรและเพื่อทำการค้าการลงทุนดังพ่อค้าหรือนักลงทุนทั่วไปที่ไปๆ มาๆ ระหว่างประเทศแม่กับประเทศปลายทาง

กลุ่มแรกที่ตั้งใจไปอยู่อย่างถาวรยังต่างแดนนี้จึงมิใช่กลุ่มคนที่มีทุนหนาดังกลุ่มหลัง ในขณะที่กลุ่มหลังก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจมาปักหลักถาวรดังกลุ่มแรกได้เช่นกัน ภาพของชาวจีนที่เดินทางไปใช้ชีวิตยังต่างแดนนี้ต่อมาถูกเรียกขานว่าชาวจีนอพยพใหม่

ชาวจีนอพยพใหม่ก็ไม่ต่างกับชาวต่างชาติอื่นๆ ที่เดินทางออกนอกประเทศด้วยเหตุผลเดียวกันก็จริง แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวต่างชาติอื่นกลับมิได้ถูกเรียกขานโดยมีคำว่าอพยพกำกับอยู่ไปหมดทุกชาติทุกภาษา

ยิ่งในไทยด้วยแล้วเราจะไม่เคยพบคำว่า พม่าอพยพ เขมรอพยพ หรือลาวอพยพ

ทั้งที่ชาวต่างชาติเหล่านี้สามารถเห็นได้โดยทั่วไป อีกทั้งในบางพื้นที่ก็สามารถเห็นได้อย่างคลาคล่ำดาษดื่นด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่พบกลับเป็นคำเรียกที่มีคำว่าแรงงานกำกับอยู่ด้วย อย่างคำว่า แรงงานพม่า เป็นต้น

 

การเรียกที่ต่างกันเช่นนี้ย่อมเท่ากับบอกเป็นนัยๆ ว่ามีความแตกต่างบางประการระหว่างชาวจีนกับชาวต่างชาติอื่น แต่อะไรคือความแตกต่างที่ว่านี้ย่อมเป็นประเด็นที่อภิปรายได้อย่างกว้างขวาง และคงมีรายละเอียดที่มากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทั้งชาวจีนกับชาวต่างชาติอื่นมีอยู่ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างดังกล่าวเป็นประเด็นคำถามเบื้องต้นเท่านั้น ด้วยเป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดและง่าย แต่ก็เป็นประเด็นที่ตอบได้ยากหากไม่ทำการศึกษา และการที่เป็นประเด็นเบื้องต้นในด้านหนึ่งย่อมหมายความว่า ยังมีประเด็นคำถามอื่นๆ อยู่อีกชุดหนึ่งที่อาจยากกว่าและซับซ้อนกว่านี้หรือไม่ก็ได้ และต้องการคำตอบพอๆ กัน

เช่นคำถามที่ว่า ชาวจีนอพยพใหม่ในไทยได้ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้จริงหรือไม่ ได้ก่อผลกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ หรือจะมีความขัดแย้งกับรัฐไทยดังที่เคยเกิดเมื่อราว 80 ปีก่อนหรือไม่ (2)

ประเด็นคำถามที่ต้องการคำตอบดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ของชาวจีนอพยพใหม่มีความสำคัญต่อไทยในหลายระดับและหลายมิติ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ไม่ต่างกับที่มีความสำคัญกับอีกหลายสังคมที่มีปรากฏการณ์นี้เช่นกัน

แน่นอนว่า แต่ละสังคมย่อมมีประเด็นที่พึงศึกษาเฉพาะเป็นของตนเอง สุดแท้แต่บริบทของแต่ละสังคม ชาวจีนอพยพใหม่ในไทยก็เช่นกัน

 

ประเด็นที่พึงศึกษาเพื่อตอบคำถามต่างๆ ดังที่ได้กล่าวโดยสังเขปข้างต้นนั้น ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อกระบวนการกำหนดนโยบายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น หากสิ่งสำคัญยังอยู่ตรงที่ว่า คำตอบที่ได้มาจะทำให้เกิดความเข้าใจชาวจีนอพยพใหม่ในไทยได้ต้องตรงกับความเป็นจริงอีกด้วย

ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้การจัดวางปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนเหล่านี้เป็นไปด้วยดี ปฏิสัมพันธ์ที่ดีย่อมนำมาซึ่งประโยชน์ที่ดีและเสมอกัน และประโยชน์ที่ดีและเสมอกันย่อมนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติ

แต่กระนั้นก็ตาม นอกจากการศึกษาเพื่อแสวงหาคำตอบในประเด็นหลักที่สำคัญดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ประกอบอยู่ในการศึกษาด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับนิยาม หลักคิด พัฒนาการของสังคมจีนภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือความเข้าใจต่อสถานการณ์โลกของจีนหรือชาวจีน ฯลฯ

ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวพันกับประเด็นหลักอย่างแยกกันไม่ออก และเป็นประเด็นที่จะทำให้การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจชาวจีนอพยพใหม่มีความรอบด้านมากขึ้น

 

ความมุ่งหมาย

หลายปีมานี้ปรากฏการณ์ของชาวจีนอพยพใหม่ในไทยเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากในแวดวงต่างๆ หัวข้อโดยทั่วไปมักสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลมากกว่าความยินดีปรีดา

ข้อวิตกกังวลมักเป็นไปในเรื่องชาวจีนอพยพใหม่ยึดครองธุรกิจการค้าของชาวไทยในลักษณะต่างๆ บางลักษณะมิได้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ ธุรกิจของชาวจีนอพยพใหม่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีให้แก่รัฐ ชาวจีนอพยพใหม่ให้ตัวแทนชาวไทยถือหุ้นในส่วนที่เกินจากกฎหมายกำหนด หรือกว้านซื้อที่ดินผ่านตัวแทนชาวไทย เป็นต้น

ส่วนข้อที่ยินดีอันเป็นความรู้สึกส่วนน้อยนั้นเห็นว่า ชาวจีนอพยพใหม่จำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานที่มีทักษะที่ไทยขาดแคลน เป็นต้น

เหตุดังนั้น การศึกษาเรื่องชาวจีนอพยพใหม่ในไทยจึงเป็นไปเพื่อให้รับทราบถึงข้อเท็จจริงต่างๆ อันมีตั้งแต่แรงจูงใจที่ทำให้เข้ามาอยู่ในไทย ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ ครอบครัว ปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในฐานะที่เป็นคนต่างด้าวท้าวต่างแดน ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสังคมไทย หรือวิถีชีวิตในอนาคต เป็นต้น

ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะทำให้เกิดความเข้าใจที่รอบด้าน และสามารถนำมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เฉพาะภาครัฐ แต่รวมทั้งภาคเอกชนและประชาสังคมอีกด้วย

นอกจากนี้แล้วก็ยังคาดหวังอีกว่า ผลการศึกษานี้จะทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจชาวจีนอพยพใหม่มากขึ้น จนทำให้มีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม การบริหารจัดการที่ถูกต้องและเป็นธรรม ตลอดจนการคงผลประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันโดยไม่เกิดปัญหา เป็นต้น

ความคาดหวังดังกล่าวจึงเป็นอีกความมุ่งหมายหนึ่งนอกเหนือไปจากการรับทราบปัญหา และเป็นสิ่งที่งานศึกษานี้พยายามจะไปให้ถึง

 

นิยามในเชิงพัฒนาการ

ชาวจีนอพยพใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 และที่เรียกว่าชาวจีนอพยพใหม่นี้ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าไม่เหมือนกับชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่าชาวจีนโพ้นทะเล

ความแตกต่างระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลกับชาวจีนอพยพใหม่จะวัดกันที่ช่วงเวลาที่อพยพเป็นเกณฑ์ แต่เกณฑ์นี้ก็มีความยืดหยุ่นในตัวเอง เช่น โดยทั่วไปชาวจีนโพ้นทะเลคือชาวจีนที่อพยพจากแผ่นดินจีนไปยังต่างแดนเมื่อกว่า 200 ปีก่อน แล้วไปสิ้นสุดลงในช่วงที่จีนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

ในช่วงยุคสมัยใหม่นี้เองที่มีความยืดหยุ่นของเกณฑ์ที่ว่า

ด้วยบางที่ก็ยึดเอาช่วงสิ้นสุดยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน ค.ศ.1911 และเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐใน ค.ศ.1912 เป็นหลักหมาย บางที่ก็ยึดเอาช่วงสิ้นสุดยุคสาธารณรัฐและเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนใน ค.ศ.1949 เป็นหลักหมาย และบางที่ยังยึดเอาช่วงหลัง ค.ศ.1949 ไปแล้วอีกระยะหนึ่งเป็นหลักหมายก็มีเช่นกัน

ที่ว่ามีความยืดหยุ่นก็เพราะการที่จะยึดช่วงใดของยุคสมัยใหม่นั้น ในด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่ชาวจีนโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่ด้วย ว่าเวลานั้นสังคมของประเทศนั้นมีสถานการณ์ภายในและภายนอกอย่างไร

ความยืดหยุ่นนี้ทำให้เกิดความรู้เรื่องชาวจีนโพ้นทะเลที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สุดแท้แต่บริบทของประเทศที่ชาวจีนโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่เป็นอย่างไร โดยทุกบริบทล้วนอยู่ในยุคสมัยใหม่ทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลข้างต้นในประเด็นหนึ่งก็คือ หลัง ค.ศ.1949 ไปแล้วการอพยพของชาวจีนแผ่นดินใหญ่โดยอิสระก็ได้ยุติลง เพราะจีนภายใต้การยึดครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปิดพรมแดนของตน

ชาวจีนที่จะออกจากแผ่นดินใหญ่หลังปีที่ว่าทำได้เพียงสถานเดียวคือหลบหนีออกนอกเมืองอย่างผิดกฎหมาย และอาจเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายก็ได้ในรัฐหรือดินแดนปลายทาง

การยุติลงของการอพยพโดยอิสระดังกล่าวทำให้ปรากฏการณ์ของชาวจีนโพ้นทะเลสิ้นสุดลง

————————————————————————————————–
(1) บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป
(2) หมายถึงความขัดแย้งที่มีขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในช่วงทศวรรษ 1920 เมื่อชาวจีนตั้งขบวนการขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ลัทธิและเคลื่อนไหวทางการเมือง และต่อต้านญี่ปุ่นในไทยหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ก่อสงครามกับจีนใน ค.ศ.1937