จรัญ พงษ์จีน : เลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มได้เสียที!

จรัญ พงษ์จีน

มาสายดีกว่าไม่มา ในที่สุด “ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น” ที่โดนความมืดครอบงำมานานหลายปี นับตั้งแต่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

“การเมืองท้องถิ่น” อาณาจักรอันโสภาแขนงหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ตกอยู่ในอุ้งมือท็อปบู๊ต ด้วยคำสั่ง “ปฏิวัติ” ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งส่วนใหญ่รากงอกด้วยคำว่า “รักษาการ” บางแห่งก็ส่ง “ลูกหาบ” ไปปฏิบัติหน้าที่แทน

สิทธิเสรีภาพจะงอกงามขึ้นมาใหม่โดยประชาชนพลเมืองอีกครั้งแน่นอนแล้ว เมื่อ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกนิมนต์เข้าชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีถึงทำเนียบ เพื่อเคลียร์และชี้แจงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังการหารือกับกระทรวงมหาดไทยมาก่อนหน้านี้

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวดีให้ทราบโดยทั่วกันว่า ครม.มีมติให้จัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ “อบจ.” ก่อนลำดับแรก “เพราะมีความพร้อมมากที่สุด”

ตามข่าวสรุปว่า หลัง “ครม.เคาะ” โดยจะเป็นการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัด วันทำศึกเลือกตั้ง อยู่ระหว่างหาจุดลงตัว ไม่ 13 ธันวาคม ก็วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ตามกรอบของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่

ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น นอกจาก อบจ. 76 จังหวัดแล้ว ในลำดับถัดไป จะค่อยๆ ทยอยเลือกทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล 5,320 แห่ง “เทศบาล” 2,454 แห่ง

และก๊อกสุดท้าย คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ “เมืองพัทยา” และ “กรุงเทพมหานคร” คาดว่าจะข้ามห้วยไปเลือกตั้งในต้นปีหน้า ราวเดือนมีนาคม-เมษายน

โดยเฉพาะ “กทม.” น่าจะรั้งบ๊วยสุด ตีกรรเชียงไปถึงกลางปี 2564 เพราะติดติ่งข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ “การมีอยู่ของ ส.ก.-ส.ข.” ตามไฟต์บังคับต้องมีระยะห่างกัน 45-60 วัน

อย่างไรก็ตาม โดยสรุป เส้นทางประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นแล้ว ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศพอมองเห็นสิ่งสวยงาม ส่วนเลือกตั้งแล้วจะได้ผู้นำ-ผู้บริหารท้องถิ่นแบบไหน เป็นเสือหิว เสือโหย อีแร้ง แมลงสาบ เห็บ ก็แล้วแต่ “ดวง”

“ประชาธิปไตยจอมปลอม ถึงยังไงก็น่าจะดีกว่าเผด็จการ” ที่รวบรวมศูนย์ครอบครองอำนาจทั้งหมดไว้ที่กลุ่มคนกลุ่มเดียว แล้วแต่งตั้งพวกพ้องให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ และยึดครองอำนาจบริหารไป

 

“ผู้ว่าฯ กทม.” แม้เห็นแค่เงารางๆ แต่กระแสร้อนแรงกว่าทุกมิติในภูมิภาค “ผู้สมัคร-พรรคการเมือง” ขยับตัวกันคึกคักตามอนุรูป หนักหน่วง-เนิ่นนาน-แน่นอนมากกว่าเพื่อน เห็นจะไม่มีใครเกิน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

“ชัชชาติ” เกาะติดพื้นที่ กทม.ทำกิจกรรมตามชุมชนอย่างต่อเนื่อง

“ประเด็น” เจ้าตัวจะลงสมัครในนามอะไร สังกัดพรรค หรืออิสระ ผลจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 “เพื่อไทย” ในสนามเมืองหลวงเข้าป้ายมาอันดับที่ 3 พ่ายต่อ “พลังประชารัฐ” กับ “อนาคตใหม่” ฐานเสียงถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี

แต่ดูเหมือนว่า “ชัชชาติ” ไม่อยากวิ่งวันเวย์จากฐานเสียงเพื่อไทยเก่าอย่างเดียว น่าจะตัดสินใจลงสมัครในนาม “อิสระ” มากกว่า เพราะอีกฝั่งไม่อยากจะตีรถเปล่า ชั่ง ตวง วัดแล้ว น่าจะคุ้มค่ากว่า

ตามทฤษฎีเพื่องานแนวร่วมดังกล่าว เจ้าตัวจึงถอยห่าง หลุดเฟรมออกจากพรรค

ขณะที่ “เพื่อไทย” ไม่ว่าจะใช้หัวชื่ออะไร “ไทยรักไทย-พลังประชาชน” ไม่เคยชนะศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เลย เข้าป้ายที่ 2 มาตลอด ดูตามเนื้อผ้าแล้ว มังกรทำท่าจะกลับมาว่ายน้ำตื้นอีกครั้ง

นั่นก็คือ “คุณหญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่เมืองหลวงของพรรค บัญชีชื่อนายกฯ คนที่ 1 อยากจะเชนคัมแบ๊กมาลงสมัครชิงเก้าอี้เสาชิงช้าอีกคำรบ

แต่หลังการปรากฏตัวของ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” แล้วลูกไหลมากระทบชิ่ง ทิงนองนอย เป็นงูกินหางในเพื่อไทย จน “คุณหญิงหน่อย” ต้องประกาศไขก๊อกจากประธานยุทธศาสตร์พรรค

เกิดมีการโหวตควอลิฟาย ส่งตัวแทนผู้สมัครลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่แน่ว่าสอบผ่านหรือไม่

ตามไปดู “พรรคประชาธิปัตย์” เวลานี้เหมือนใบไม้โดนพายุลูกเห็บถล่มโงหัวไม่ขึ้นเลย ศึกเลือกตั้งใหญ่ตกต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่มีที่นั่ง ส.ส.เหลือเลยแม้เก้าอี้เดียว เข้าป้ายมาเป็นที่ 4 ทั้งที่เป็นแชมป์เก่า จะพูดว่า “ห่วยแตก” ก็แรงไป ใช้คำว่า “น่าผิดหวังแทน” ก็แล้วกัน

หลังจากนั้น ประชาธิปัตย์เคราะห์ใหญ่หลวงมาเยือน “ทัพแตก” ส.ส.-ส.ก.-ส.ข.ตบเท้าลาออกกันโกลาหล แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่มีแววจะมีผู้สมัครชั้นนำระดับแถวหน้าเปิดตัวแล้ว “โดน” เลย

ผิดกับ “พลังประชารัฐ” ที่โหนกระแส “บิ๊กตู่” ในฐานะแกนนำรัฐบาล อยากจะปักธงสนามเมืองหลวงมากเช่นเดียวกัน มีหลายคนอยากอาศัยเงาปีกลงชิงชัย เท่าที่มีข่าวติดกระแส ประกอบด้วย

1. “พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม.รักษาการคนปัจจุบัน เริ่มเสพติดอำนาจ อยากจะลงสมัครในนาม พปชร. อาศัยใบบุญทหาร แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “พี่น้อง 3 ป.”

2. “นางทยา ทีปสุวรรณ” ภรรยา “เสี่ยตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่ม กปปส.เก่าใน พปชร.มีบทบาทอยู่หลายคน และส่วนมาก คุมทัพ กทม.เป็นตัวผลักดัน ภาษีน่าจะดีกว่า “อัศวิน”

3. “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อสายเข้าทาง “บ้านพี่ใหญ่” และหวังเพื่อนร่วมรุ่นจากทหารเก่า คุมเสียงทั้ง “สีกากี-สีเขียว” อยากจะสวมปลอกแขน พปชร.ลงดวลเดือดเหมือนกัน

“บิ๊กแป๊ะ” ซุ่มหาเสียงมานานพอสมควร โดยอาศัยจิ๊กซอว์จากลูกน้องในเครื่องแบบ ออกพบปะแนะนำตัวกับบรรดาหัวหน้าวินมอเตอร์ไซค์มาก่อนปลดระวางหลายเดือน

“อนาคตใหม่” หรือ “ก้าวไกล” ในปัจจุบัน เข้าป้ายมาในสนาม กทม.ในฐานะรองแชมป์ มี ส.ส.มากถึง 9 ที่นั่ง มีผู้แจ้งความจำนงจะลงสมัครในนามพรรคกันจำนวนมากไม่น้อยทีเดียว

หัสเดิมมีข่าวว่าแกนนำเก่า เคยทาบทาม “ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ช่วงหนึ่งเคยมีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะดึงไปเป็นตัวยืนส่งลงสมัครชิงผู้ว่าฯ เสาชิงช้า

แต่กาลต่อมาเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคอะไรบางประการ “ดร.เอ้” กับ “ก้าวไกล” จบความสัมพันธ์กันโดยดี

สรุป “อิสระ-เพื่อไทย-พปชร.-ก้าวไกล” จะชิงผู้ว่าฯ กทม.กันดุเดือดแน่นอน