เกษียร เตชะพีระ | โครงสร้างความรู้สึกใหม่ : จิตใจเป็นเจ้าของชาติ

เกษียร เตชะพีระ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าพูดให้ถึงที่สุด “สำนึกใหม่ของความเป็นชาติไทย” คือประเด็นใจกลางที่เป็นนัยเนียนแนบอยู่ในการเคลื่อนไหวแฟลชม็อบของนักเรียน-นักศึกษานับจากมีนาคมศกนี้ ผ่านพักร้อนช่วงชัตดาวน์โควิด จนมาฟื้นฟูเฟื่องขึ้นใหม่ในปัจจุบัน (www.matichonweekly.com/column/article_337360)

“สำนึกใหม่ของความเป็นชาติไทย” นี้ ผมอ่านว่าคือโครงสร้างความรู้สึกใหม่ (a new structure of feeling) ที่แสดงออกซึ่งจิตใจเป็นเจ้าของชาติ (civic nationalism)

แน่นอนว่าจิตใจดังกล่าวย่อมต่างจากสำนึกความเป็นชาติไทยของกลุ่มไทยภักดีและคนที่เที่ยวกล่าวหาบรรดาผู้คัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ระเบียบอำนาจเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของ คสช. ตั้งแต่ผู้แต่งเพลง “ประเทศกูมี” และวง Rap Against Dictatorship ที่ขับร้อง อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ถูกนิติสงครามขับออกจากสภา มาจนถึงแฟลชม็อบเยาวชน… ว่าเป็นพวก “ชังชาติ”

เพราะจิตใจเป็นเจ้าของชาตินั้นรักชาติด้วยเหตุผลที่ต่างออกไปจากสำนึกความเป็นชาติแบบเดิม กล่าวคือ รักชาติเพราะชาติเป็นของเรา รักชาติเพราะชาติเป็นประชาธิปไตย

ชาติที่ไม่ใช่เป็นของเรา หากถูกผูกขาดเป็นของคนอื่น โดยเราเป็นแค่ผู้มาอาศัย และชาติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากอำนาจถูกรวบริบไว้ในมือชนชั้นนำกลุ่มน้อยด้วยกำลังบังคับโดยมิชอบ จึงเป็นชาติที่ไม่น่ารักด้วยประการฉะนี้

แต่ก่อนอื่น อาจเป็นประโยชน์ที่จะมาทำความรู้จักกันก่อนว่าอะไรคือ “โครงสร้างความรู้สึก”?

โครงสร้างความรู้สึก (structure of feeling) เป็นวลีที่บัญญัติขึ้นโดยศาสตราจารย์เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond Williams, ค.ศ.1921-1988) นักวิชาการชื่อดังผู้บุกเบิกวัฒนธรรมศึกษา (cultural studies) แนวมาร์กซิสต์ชาวอังกฤษเชื้อสายเวลช์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในงานของเขาเรื่อง Preface to Film (คำนำเรื่องภาพยนตร์, ค.ศ.1954) เพื่อใช้อภิปรายความสัมพันธ์ระหว่างธรรมเนียมการละครกับตัวบทลายลักษณ์อักษร

ประเด็นที่วิลเลียมส์สนใจคือการที่สังคมตระหนักรับธรรมเนียมการแสดงเฉพาะหนึ่งๆ เช่น แก่นเรื่อง “ผิดฝาผิดตัว” (mistaken identity) ที่ปรากฏดกดื่นในบทละครของเช็กสเปียร์ อาทิ การที่นางปอร์เชียปลอมตัวเป็นบัลถะสาร์ทนายความชายมาช่วยว่าความแก้ต่างให้อันโตนิโยผู้ถูกไชล็อกฟ้องหมายเอาชีวิตด้วยการแล่เนื้อชำระหนี้ในละครเรื่องเวนิสวาณิช พระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 เป็นต้น

การที่ละครฉากนางปอร์เชียปลอมตัวเป็นทนายเพศชายนี้ดูได้เข้าใจน่าเชื่อถือว่าเป็นไปได้สำหรับผู้ชมยุคนั้นทั้งที่ไม่มีเทคนิคพิเศษตบแต่งใดๆ ก็ด้วยอาศัยโครงสร้างความรู้สึกเรื่อง “ผิดฝาผิดตัว” ที่สังคมตอนนั้นตระหนักรับนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในงานชั้นหลังของวิลเลียมส์โดยเฉพาะเรื่อง The Long Revolution (การปฏิวัติที่ยาวนาน, ค.ศ.1961) และ Marxism and Literature (ลัทธิมาร์กซ์กับวรรณกรรม, ค.ศ.1977) เขาได้คลี่คลายความหมายของแนวคิดเรื่องโครงสร้างความรู้สึกออกไปในทางการเมืองวัฒนธรรมมากขึ้น โดยใช้มันตั้งคำถามเชิงวิจารณ์เอากับแนวคิดเรื่องอำนาจนำ (hegemony) ของอันโตนิโอ กรัมชี (ค.ศ.1891-1937) นักปฏิวัติและนักทฤษฎีมาร์กซิสต์เกี่ยวกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมชาวอิตาลี

วิลเลียมส์ไม่ถึงกับปัดปฏิเสธแนวคิดเรื่องอำนาจนำของกรัมชีซึ่งหมายถึงวิธีคิดครอบงำในกาลเทศะเฉพาะเจาะจงหนึ่งๆ ที่หยั่งยึดลึกและกว้างจนกลายเป็น “สามัญสำนึก” แห่งยุคสมัย แต่เขาชี้ว่าอำนาจนำไม่มีวันจะครอบงำความคิดผู้คนในสังคมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

ถึงไงก็ยังมีพลวัตภายในจากประสบการณ์จริงทุกเมื่อเชื่อวันของผู้คนที่ขัดฝืนกับอำนาจนำหรือสามัญสำนึกนั้นเสมอ ซึ่งรอวันก่อรูปปรากฏตัวขึ้นมาเป็นรูปการใหม่ๆ ทางความคิด

โครงสร้างความรู้สึกจึงหมายถึงวิธีคิดแตกต่างนานาที่แข่งประชันกันผุดโผล่ปรากฏตัวขึ้นมา ณ กาละหนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์

โดยมันจะผุดโผล่ขึ้นมาในช่องว่างของรอยปริแยกแตกอ้าออกระหว่าง 3 ปัจจัย ได้แก่ :

1. วาทกรรมนโยบายทางการ (เช่น ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการของ คสช.)

2. ปฏิกิริยาตอบโต้ของมหาชนต่อวาทกรรมทางการนั้น (เช่น ข้อความวิพากษ์วิจารณ์แนวนโยบายต่างๆ ของ คสช.ในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ซึ่งผู้สื่อสารแสดงออกตอบโต้อย่างใหม่สดร้อนเฉียบพลันจากประสบการณ์ตรงทันที) และ

3. การผนวกรับปฏิกิริยาตอบโต้ของมหาชนเข้าไปในตัวบทของงานวรรณกรรมและวัฒนธรรมอื่นๆ (เช่น เพลงประเทศกูมี ของวง RAP AGAINST DICTATORSHIP, เพลงผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน ของกลุ่มนักเรียนเลว เป็นต้น)

วิลเลียมส์เลือกใช้คำว่า “ความรู้สึก” แทนคำว่า “ความคิด” เพื่อบ่งชี้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้นนี้อาจยังไม่ทันเปล่งประกาศปรากฏออกมาอย่างชัดเจนเป็นระบบครบถ้วนกระบวนความ แต่ต้องขยายความเอาด้วยตรรกะเหตุผลให้เป็นข้อสรุปทั่วไปจากการอ่านความนัยระหว่างบรรทัด

นัยอันกำกวมคลุมเครือของวลี “โครงสร้างความรู้สึก” นี้จึงมุ่งสะท้อนสิ่งที่เอาเข้าจริงอาจอยู่ในสภาพเป็นแค่แนวโน้มหรือวิถีโคจร มากกว่าสิ่งที่สรุปลงตัวเป็นสูตรสำเร็จรูปเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว

สรุปกว้างๆ ได้ว่า โครงสร้างความรู้สึกมุ่งบรรยายสำนึกจริงที่ประสบรู้สึกกันอยู่ในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ณ ช่วงจังหวะเฉพาะเจาะจงในประวัติศาสตร์ หรือในประสบการณ์ของคนรุ่นเฉพาะเจาะจงหนึ่ง

มันเป็นอาณาบริเวณที่ซึ่งจิตสำนึกทางการของยุคสมัยดังที่ประมวลไว้ในตัวบทกฎหมายและหลักลัทธิความเชื่อเข้าปฏิสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่ผู้คนดำเนินชีวิตอยู่จริงของยุคสมัยดังกล่าว แล้วไปนิยามชุดความรับรู้และค่านิยมที่คนรุ่นหนึ่งมีกันทั่วไปอีกทีหนึ่ง

โครงสร้างความรู้สึกแห่งยุคสมัยหนึ่งดำเนินการอยู่ในอาณาบริเวณที่ละเอียดประณีตและแฝงนัยแนบเนียนที่สุดของกิจกรรมมนุษย์ อีกทั้งหาได้เป็นแบบแผนหนึ่งเดียวกันทั่วทั้งสังคมไม่ แต่จะเห็นได้ประจักษ์ชัดที่สุดในกลุ่มสังคมหลัก

มันเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าความคิด และเสนอสนองค่านิยมที่สื่อสารถึงกันระหว่างปัจเจกบุคคลโดยมิได้ผ่านการอบรมบ่มสอนโดยตรงแต่อย่างใด

พื้นที่เหมาะแก่การสำรวจศึกษาโครงสร้างความรู้สึกนั้นเดิมทีได้แก่ตัวบทวรรณกรรมและบทละครประดามี ทว่าในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบัน มันย้ายไปอยู่ที่โซเชียลมีเดียทั้งหลายแหล่แทน ซึ่งสำแดงแบบแผน แรงกระตุ้นเร้าและน้ำเสียงร่วมกันออกมา โดยมิจำต้องเชื่อมโยงกันโดยตรงหรือรับส่งอิทธิพลซึ่งกันและกันแต่อย่างใด

พลังทางการเมืองวัฒนธรรมที่รัฐบาลประยุทธ์และกลุ่มชนชั้นนำพันลึกผู้อยู่เบื้องหลังกำลังเผชิญพูดให้ถึงที่สุดจึงไม่ใช่แฟลชม็อบของเด็กๆ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวและอาจารย์มหาวิทยาลัย “ชังชาติ” บางคน หรือกลุ่มเสื้อแดงแต่เดิม

หากคือโครงสร้างความรู้สึกใหม่แบบจิตใจเป็นเจ้าของชาติของคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน ที่รักชาติเพราะชาติเป็นของเรา รักชาติเพราะชาติเป็นประชาธิปไตยต่างหาก