นิธิ เอียวศรีวงศ์ | รักชาติ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

การเที่ยวประณามคนอื่นว่า “ชังชาติ” นั้น เกิดขึ้นเพราะผู้ประณามไม่รู้ว่า “ชาติ” คืออะไร นักการเมืองที่แพ้เลือกตั้ง จนถึง ผบ.ทบ. ต่างคาดหวังว่าคำประณามของตนจะปลุกเร้าให้ประชาชนส่วนใหญ่ลุกขึ้นมาต่อต้านคนที่ถูกประณาม อย่างที่ชนชั้นปกครองไทยเคยทำสำเร็จเมื่อ 50 ปีก่อน แต่กลับปรากฏว่าคำประณาม “ชังชาติ” กลายเป็นเรื่องตลกที่ผู้คนเอามาพูดเล่นเป็นเรื่องสนุก

ในบทความสั้นๆ นี้ ผมหวังว่าจะสามารถทำความเข้าใจสามประเด็นหลักคือ หนึ่ง ชาติคืออะไร สอง สำนึกความเป็นชาติของไทยถูกชนชั้นปกครองครอบงำมาแต่ต้น และพยายามสืบทอดความรู้ผิดๆ นั้นสืบมาอย่างไร และสาม ความเสื่อมสลายของการครอบงำ นำมาสู่ยุคสมัยที่คนเล็กๆ จำนวนมากกำลังเข้ามาสร้างสำนึกใหม่ของความเป็นชาติ

ก่อนที่จะพูดว่าชาติคืออะไร ผมอยากจะพูดว่าชาติไม่ใช่อะไรเป็นเบื้องต้น เพื่อแหวกอคติและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับความเป็นชาติซึ่งถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานในสังคมไทยออกไป

ชาติไม่ใช่สิ่งที่มีมาก่อนเอกภพหรือตั้งแต่เริ่มกำเนิดมนุษยชาติ (primordial) นี่เป็นอคติที่ฝังแน่นที่สุดในหมู่ชนชั้นปกครอง และถ่ายทอดมายังคนทั่วไป ชาวบ้านบางระจัน (ถ้าเป็นเรื่องจริง) ไม่ได้ต่อสู้กับพม่าด้วยความรักชาติ แต่เพราะต้องการปกป้องลูก-เมีย พ่อ-แม่ของตนให้รอดจากการตกเป็นเชลยของพม่าต่างหาก รวมทั้งรักษาข้าวที่ตนเพาะปลูกไว้ให้มีกินสืบไปด้วย

ไม่เฉพาะแต่วีรชนบางระจันเท่านั้น บรรพบุรุษที่ “เอาเลือดทาแผ่นดิน” มาในอดีต ล้วนทำด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับชาติ เพราะชาติไม่มีมาแต่บรมสมกัลป์ เพิ่งเกิดในสำนึกของไทยไม่เกินร้อยปีเศษมานี่เอง ท่านเหล่านั้นจึงไม่อาจเสียสละเพื่อชาติได้

ชาติไม่ใช่ “แผ่นดิน” อันเป็นสิ่งที่ยืดได้หดได้ตลอดมาก่อนจะเกิดรัฐสมัยใหม่ แม้แต่ในยุโรป แผ่นดินบางส่วนก็อาจเป็นสินสมรสที่กษัตริย์ยกให้แก่ลูกเขยจากอีกราชวงศ์หนึ่ง ในปัจจุบัน เมื่อชาวยูเครนต้องสูญเสียแคว้นไครเมียให้แก่รัสเซียไป ก็ไม่ทำให้นักชาตินิยมยูเครนหมดความรักชาติลง อย่างเดียวกับที่เราสูญเสียเขาพระวิหารไปตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่ได้ทำให้คนไทยหมดความรักชาติลง

ทั้งนี้ รวมทั้งชาติก็ไม่ใช่ “แผ่นดินเกิด” อีกด้วย ในโลกที่เต็มไปด้วยการอพยพเคลื่อนย้าย ทั้งสมัครใจและถูกบังคับ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “แผ่นดินเกิด” จะมีความหมายอะไร ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ ก็อยากเตือนไว้ด้วยว่า ถ้าเชื่อเรื่องบ้านบางระจันตามพระราชพงศาวดาร ชาวบ้านที่ต่อสู้พม่าอย่างทรหดส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่อพยพมาจากเดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี ไม่ใช่คนสิงห์บุรีอย่างที่เข้าใจกัน

ชาติไม่ใช่รัฐ ถ้ารัฐมีความหมายว่า ระบอบปกครองอันหนึ่งซึ่งสามารถสืบทอดโครงสร้างอำนาจให้ดำรงสืบมา ภายใต้ผู้ถืออำนาจซึ่งอาจเปลี่ยนหน้าไปได้เรื่อยๆ รัฐมีอำนาจเหนือประชากรจำนวนหนึ่ง เรียกรับประโยชน์จากประชากรได้ในรูปทรัพย์สินและแรงงาน จึงทำให้รัฐสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ ทั้งจากศัตรูภายในและภายนอก องค์กรที่มีระบอบปกครองคล้ายรัฐที่สุดคือองค์กรศาสนา ซึ่งในบางแห่งก็พัฒนาไปเป็นรัฐพร้อมกับเป็นองค์กรศาสนาด้วย แต่ส่วนใหญ่พัฒนาไปไม่ได้ไกลเช่นนั้น

แม้ฟังเผินๆ รัฐกับชาติดูจะคล้ายกันมาก แต่รัฐเป็นสมบัติของคนส่วนน้อย อาจเป็นคนในตระกูลเดียว, ชนชั้นเดียว, อาชีพเดียว ฯลฯ แต่ชาติเป็นสมบัติของประชากรทุกคน และอย่างเท่าเทียมกันด้วย (โดยหลักการเป็นอย่างน้อย) รัฐโบราณจึงไม่เคยเป็นชาติ และรัฐสมัยใหม่หลายแห่งก็ไม่สามารถพัฒนาความเป็นชาติขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ยังคงรักษาความเป็นสมบัติของคนส่วนน้อยอยู่นั่นเอง แม้ว่าคนส่วนน้อยนั้นอาจขยายไปรวมเอาเจ้าสัว, ผบ.เหล่าทัพ, ข้าราชการพลเรือนระดับสูง หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งกลุ่ม มากกว่า “ผู้ดี” ตระกูลเดียว

รัฐเช่นนั้นเป็นชาติได้เฉพาะในสนามฟุตบอล

เพราะรัฐไม่ใช่ชาติ ความมั่นคงแห่งรัฐกับความมั่นคงแห่งชาติจึงเป็นคนละเรื่องกัน รัฐจะดำรงความมั่นคงได้ ก็เพราะระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐสถาปนาไว้ นับตั้งแต่กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, กระบวนการเชิงอำนาจ ฯลฯ ยังได้รับความเคารพทั้งจากประชากรภายในและคนอื่นทั่วโลก ในรัฐสมัยใหม่ อธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนกลายเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้ทุกรัฐมักมีกองทหารประจำการเพื่อปกปักรักษาสองอย่างนี้ไว้ แต่การผดุงความมั่นคงส่วนอื่นไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ มีสถาบันและองค์กรอื่นรับผิดชอบ และรับผิดชอบได้ดีกว่ากองทัพด้วย

ความมั่นคงแห่งชาติ โดยเนื้อหาที่เป็นแกนกลางแล้ว คือการเป็นเจ้าของชาติร่วมกันของประชาชน เมื่อไรที่ประชาชนรู้สึกว่าชาติไม่ใช่ของตัว หรือชาติเป็นของตัวน้อยกว่าเป็นของคนอื่น เมื่อนั้นชาติก็ขาดความมั่นคง คำพูดเช่น “ใครไม่รักพ่อ ก็ออกไปจากบ้านของพ่อ” เป็นคำพูดที่บั่นรอนความมั่นคงของชาติเสียยิ่งกว่าการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นการปฏิเสธถึงระดับฐานรากของความเป็นชาติทีเดียว รัฐบาลที่ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เสมอภาคกัน ย่อมเป็นรัฐบาลที่บั่นทอนความเป็นชาติอย่างร้ายแรง โดยมากมักอ้างว่าทำไปเพื่อประโยชน์ (ทางเศรษฐกิจ, การเมือง หรือเกียรติยศ) ของรัฐ แต่รัฐไม่ใช่ชาติ รัฐอาจได้หรือเสียประโยชน์ แต่ชาติถูกสั่นคลอนไปถึงฐานรากดังที่กล่าวแล้ว

เปรียบรัฐเหมือนบริษัทนั้นได้ แต่เปรียบชาติเป็นบริษัทไม่ได้ เพราะเป้าหมายของชาติไม่ใช่การทำกำไร แต่เป็นการจัดสรรทรัพยากรให้แก่คนในชาติให้พอเลี้ยงชีพได้อย่างสุขสบายตามยุคสมัย รวมทั้งเป็นกำลังแก่การพัฒนาชีวิตของแต่ละคนให้เจริญก้าวหน้าด้วย

ประกาศตนเป็นซีอีโอของรัฐนั้นได้ แต่ประกาศตนเป็นซีอีโอของชาติเมื่อไร ทุกคนจะสูญเสียชาติให้แก่ซีอีโอไปจนหมด

ชาติไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่โดยตัวของมันเองมาแต่บรมสมกัลป์ แต่ชาติเป็นสำนึกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไม่นานมานี้เอง อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ท่านใช้คำว่าเป็นจินตกรรมใหม่ และท่านชี้ให้เห็นเงื่อนไขปัจจัยอันหลากหลายและซับซ้อนซึ่งเกิดขึ้นไม่เหมือนกันในแต่ละดินแดนว่า จินตกรรมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และด้วยเหตุดังนั้น สำนึกหรือจินตกรรมของความเป็นชาติในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันด้วย แม้ว่ามันมีพลังอย่างยิ่งยวดในการผลักดันประวัติศาสตร์ของดินแดนนั้นและของโลกเหมือนกันก็ตาม

ในประเทศไทย จินตกรรมชาติเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่มาแต่รัชกาลที่ 5 แต่ก่อนที่สำนึกหรือจินตกรรมใหม่นี้จะถูกทำให้กระชับแหลมคม ร.6 ก็ชิงนิยามสำนึกนี้ให้กลายเป็นความภักดีต่อชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ (ซึ่งตรงกับคำขวัญอังกฤษ God, King, and Country) เสียก่อน

แต่นิยามนี้มีปัญหา เพราะระหว่างสามสถาบันนี้ ใช่ว่าจะเอื้อประโยชน์กันและกันอย่างราบรื่นเสมอไป ในประวัติศาสตร์อังกฤษเอง God และ King ก็เคยขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนทำให้อังกฤษต้องหันไปนับถือ God คนละเฉดสีกับประเทศอื่นในยุโรป รวมทั้งต้องบั่นคอสังฆราชของศาสนาเดิมไปรูปหนึ่ง เช่นเดียวกับช่วง 2475 ในประเทศสยาม มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควรทีเดียวเห็นว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขัดผลประโยชน์ของชาติ ในประเทศอังกฤษ ความขัดแย้งนำมาซึ่งการทำราชาฆาต ในขณะที่ในประเทศไทย นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่กลายเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ของความขัดแย้งระหว่างสองสถาบันสืบมาอีกนาน

อังกฤษในปัจจุบันแก้ปัญหานี้โดยการทำให้ King และ God กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติ (คือเลิกเป็นสถาบันที่มีสถานะอิสระจากชาติ) สถาบันกษัตริย์อังกฤษในปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นอังกฤษ” และมีบทบาทอยู่ในกรอบแคบๆ นี้เท่านั้น… อย่างมั่นคงปลอดภัยและยืนนาน พอๆ กับดวงอาทิตย์ด้วย

ผมใช้คำว่า “อังกฤษ” แทนคำว่า “สหราชอาณาจักร” เพราะแม้แต่อาจารย์เบนเองก็เห็นว่า สหราชอาณาจักรพัฒนาความเป็นชาติไม่บริบูรณ์ ไอร์แลนด์แยกออกไปแล้ว เหลือแต่สกอตแลนด์และเวลส์ซึ่งไม่ได้มีสำนึกความเป็นชาติอย่างเดียวกับอังกฤษ

ลองเปรียบเทียบกับสหรัฐสิครับ คนผิวดำซึ่งถูกกดขี่สืบมาจนปัจจุบัน ไม่ย้ายออกจากประเทศไม่ใช่เพราะไม่มีที่จะไป แต่เพราะเขามีสำนึกหรือจินตกรรมว่าเขาคืออเมริกัน เหมือน “คนไม่รักพ่อ” ในเมืองไทย ซึ่งต่างมีจินตกรรม “ความเป็นไทย” ไม่ต่างจากคนอื่น

สํานึกหรือจินตกรรมความเป็นชาตินั้นไม่ได้เป็นจินตกรรมที่หยุดนิ่งกับที่ ตรงกันข้าม มันกลับเปลี่ยนแปลงตลอด และเปลี่ยนไปไม่เท่ากันด้วย เช่น ในโรงเรียนนายทหาร, ในสภาอุตสาหกรรม, ในสมาคมธนาคาร อะไรประเภทนั้นของทุกชาติ มักเปลี่ยนช้า แต่ในมหาวิทยาลัย, บริษัทไอที, วงการสร้างสรรค์ ฯลฯ มักเปลี่ยนเร็ว

ทั้งนี้ก็เพราะสำนึกหรือจินตกรรมความเป็นชาติเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น (หรือประกอบสร้างขึ้น) อย่างที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน กล่าวนั่นแหละครับ เงื่อนไขปัจจัยเปลี่ยน จินตกรรมก็เปลี่ยน ผมขอยกตัวอย่างความต่างระหว่างไทยและอินโดนีเซียให้ดูสักข้อหนึ่ง

ระบบราชการแบบใหม่ก็เป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสำนึกหรือจินตกรรมความเป็นชาติขึ้นด้วย เพราะระบบราชการแบบใหม่ดึงเอาคนต่างภาคต่างถิ่นเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกัน ถูกโยกย้ายไปทำหน้าที่ในภูมิภาคหรือถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีเหตุบางอย่างที่ทำให้ดัตช์สร้างระบบราชการแบบใหม่ในอินโดนีเซียขึ้นจากประชาชนหลากหลายถิ่นมาก ไม่จำกัดเฉพาะคนชวาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่มหึมาของอาณานิคมเท่านั้น ในขณะที่มีเหตุบางอย่างที่ทำให้ ร.5 ทรงสร้างระบบราชการแบบใหม่ขึ้นจากคน “ไทยภาคกลาง” เป็นสำคัญ และระบบราชการไทยจะค่อนข้างเอียงไปหนักที่คนไทยภาคกลางสืบมาอีกนาน แม้จนหลัง 2475

ด้วยเหตุดังนั้น จินตกรรมความเป็นชาติของนักชาตินิยมอินโดนีเซียจึงครอบคลุมไปทั่วหมู่เกาะ ดังเช่นมติของนักชาตินิยมเยาวชนอันแรกๆ ตั้งแต่ยังเป็นอาณานิคมอยู่ก็คือ ภาษาแห่งชาติของอินโดนีเซียในจินตกรรมร่วมของพวกเขา ไม่ใช่ภาษาชวาซึ่งเป็นภาษาของประชากรกลุ่มใหญ่สุด แต่เป็นภาษามลายูของประชากรกลุ่มเล็กนิดเดียว ตรงกันข้าม จินตกรรมความเป็นชาติของไทยมีเสียงดังออกมาเป็นภาษาไทยภาคกลาง (หรือภาษากรุงเทพฯ) โดยนักชาตินิยมไม่ต้องหยุดคิดเลยว่า ภาษาถิ่นอะไรของไทยที่เหมาะจะเป็นภาษาแห่งชาติมากที่สุด และเพราะอะไร

ภาษาแห่งชาติที่ถูกบังคับใช้ย่อมรอนความเป็นเจ้าของชาติของคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษานั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรวมไปถึงวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ซึ่งย่อมผูกพันอยู่กับภาษาเป็นธรรมดา

แต่สำนึกหรือจินตกรรมชาติของไทยก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่เพียงเพราะภาษาไทยกลางแพร่หลายผ่านการศึกษาและสื่อเท่านั้น แต่การยอมรับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติไทยก็กลายเป็นสิ่งปรกติทั่วไป เนื้อหาของ “ชาติไทย” ในจินตกรรมของคนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับของคนปัจจุบันจึงไม่เหมือนกันทีเดียวนัก

เงื่อนไขปัจจัยที่เปลี่ยนไปดังกล่าวนี้แหละครับ ที่อธิบายความแตกต่างของจินตกรรมความเป็นชาติระหว่าง ผบ.ทบ.และนักกิจกรรมทางการเมืองในตอนนี้ได้

คนรุ่นใหม่ (หรือพูดให้ตรงกว่านี้คือคนคิดใหม่) มีจินตกรรมความเป็นชาติที่แยกชาติออกจากรัฐอย่างชัดเจน สำนึกใหม่นี้ทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของชาติ โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น และด้วยเหตุดังนั้น ถ้า “ศาสนา, พระมหากษัตริย์” เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติ เขาก็ต้องเป็นเจ้าของสถาบันทั้งสองนี้ด้วย เป็นเจ้าของไม่ได้หมายถึงการให้ความภักดีเพียงอย่างเดียว เพราะมันแตกต่างจากความรู้สึกของหมาวัดที่มีต่อดอกฟ้า เป็นเจ้าของต้องหมายถึงการเข้าไปจัดการกับสิ่งที่เป็นสมบัติของตนได้ด้วย

การประท้วงและการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะผู้ประท้วงกำลังตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์” ซึ่งในการประท้วงที่ผ่านมาไม่สนใจจะตั้งคำถามนี้ เราจึงอาจมองความเคลื่อนไหวทั้งหมดในครั้งนี้ว่าเป็น “ชาตินิยม” ได้ เพียงแต่ไม่ใช่เพื่อกู้ชาติจากต่างชาติ หากเป็นการกู้ชาติกลับมาเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคน

แม้ว่าชาติไม่ใช่รัฐ แต่รัฐเป็นพาหะของจินตกรรมความเป็นชาติ คนคิดใหม่เห็นแล้วว่ารัฐไทยถูกทหารและชนชั้นสูงนำไปปู้ยี่ปู้ยำมานานเป็นทศวรรษ ลิดรอนความเป็นเจ้าของชาติร่วมกันของคนอื่นๆ ลงทั้งหมด และเพราะความรักชาติต่างหาก จึงทำให้ต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรักษาชาติให้คงอยู่กับคนไทยสืบไป

คนเหล่านั้นไม่ได้ “ชังชาติ” แต่พวกเขาชังรัฐที่ถูกทำให้เละเทะภายใต้อำนาจที่ไม่รับผิดชอบ การอ้างชาติเพื่อเอาเป็นเจ้าของคนเดียวหรือเฉพาะในกลุ่มของตนนั้น บัดนี้ฟังไม่ขึ้นเสียแล้ว ดังนั้น คำว่า “ชังชาติ” เพื่อประจบเอาใจ “อำนาจ” จึงฟังดูตลกสิ้นดี

ไม่ว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร จินตกรรมความเป็นชาติของไทยได้พัฒนาไปอย่างสำคัญอีกขั้นหนึ่ง ถึงเขาจะถูกปราบปรามลงอย่างนองเลือด จินตกรรมความเป็นชาติที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันจะยังคงอยู่ตลอดไป ปัญหาที่ ผบ.ทบ.ควรคิดก็คือ จะปราบปรามกดขี่ “ชาติ” ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดได้อย่างไร