ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต/ปิดอาณาจักร ‘เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น’ ยกระดับต่อ ‘รถโค้ชหรู-บัสไฟฟ้า’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

เปิดอาณาจักร ‘เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น’

ยกระดับต่อ ‘รถโค้ชหรู-บัสไฟฟ้า’

 

ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจต่อรถทัวร์ และเดินรถในภาคอีสานมายาวนานหลายสิบปี

แต่มาวันนี้เครือ “เชิดชัย” ก้าวไปอีกขั้นกับการต่อรถรูปแบบต่างๆ ครบวงจรในชื่อ “บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด”

พร้อมผ่องถ่ายการดูแลและรับผิดชอบการเติบโตของอาณาจักรเชิดชัยสู่มือเจเนอเรชั่นใหม่ “สุรวุฒิ เชิดชัย” หรือวุฒิ ลูกชายของ “เจ๊เกียว” สุจินดา เชิดชัย

“สุรวุฒิ” นั่งเก้าอี้ใหญ่ในฐานะ “กรรมการผู้จัดการ” วางแผนธุรกิจและกำหนดนโยบายต่างๆ ตั้งแต่เปิดบริษัทเมื่อปี 2558 มุ่งเน้นที่การประกอบรถโดยสารขนาดใหญ่

ผ่านมา 5 ปี ธุรกิจประกอบรถถือว่าไปได้สวย มีรถประเภทต่างๆ ทั้งรถทัวร์โดยสาร รถหรูอย่างลักชัวรี่ โค้ช ออกจากโรงงานผลิตจำนวนมาก กระจายสู่สนามบินทั้งในบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ละปีมีอัตราการขยายตัวไม่น้อยกว่า 10%

แม้ช่วงต้นปีจะเจอมหาภัย “โควิด-19” แต่เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ยอดส่งมอบรถปีนี้ไม่น้อยกว่า 200 คัน

ส่วนปีหน้ามีลูกค้าในกลุ่มลักชัวรี่ โค้ช แสดงความต้องการเข้ามาแล้วกว่า 100 คัน ตั้งเป้ายอดประกอบรถโดยสารในปีหน้า 250-300 คัน

จึงเป็นโอกาสอันดีเมื่อเปิดโรงงานผลิตให้ “เครือมติชน” เข้าเยี่ยมชม

พร้อมกันนี้ “สุรวุฒิ” บอกเล่าความเป็นไปของแต่ละส่วนงาน รวมถึงทิศทางธุรกิจในอนาคตอันใกล้

 

บนพื้นที่กว่า 24 ไร่ของโรงงาน แบ่งออกเป็นหลายส่วน ตั้งแต่สำนักงานที่ตกแต่งสไตล์ลอฟต์ บ่งบอกถึงความเป็นออฟฟิศคนรุ่นใหม่

ให้บริการได้แบบครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ นำแบบไปขึ้นรูปสามมิติ นำไปทำแม่พิมพ์ จนประกอบออกมาเป็นคันตามแบบ

งานดีไซน์ ทางบริษัทจะร่วมทำงานกับลูกค้า ถามความต้องการและออกแบบให้เหมาะสม สามารถใช้พื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงการรองรับอนาคตที่ออกแบบที่นั่งรถโดยสารวีไอพี แบบนิวนอร์มอล

จำนวนที่นั่งเท่าเดิมแต่ได้ระยะห่างมากขึ้น

งานการตรวจสอบสามารถทำได้เองในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นระบบเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบเบรก ฯลฯ

ขณะที่งานโครงสร้างตัวถัง สามารถผลิตได้เองทุกชิ้น ตั้งแต่หน้า-หลัง ซ้าย-ขวา หลังคา และพื้น มีเครื่องมือพับเหล็กยาวถึง 11 เมตร คาดว่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย ทำให้ได้ชิ้นงานที่ไร้รอยต่อ สวยงาม และแข็งแรงขึ้น

 

งานประกอบรถบัสมี 3 ไลน์ประกอบ ตั้งแต่เริ่มให้คำปรึกษากับลูกค้า ออกแบบ จนแล้วเสร็จทั้งคัน ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วพอสมควร

พร้อมกันนี้ยังพัฒนาวัตถุดิบให้ทันสมัย อาทิ ตัวถัง เบาะนั่ง และอื่นๆ ให้มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงความแข็งแกร่งเช่นเดิม

ส่งผลให้ตัวรถเบาขึ้น ประหยัดน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการด้านการขนส่งให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

งานออกแบบสายไฟภายในรถถือว่าเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญอย่างมาก ทำให้ตั้งทีมงานขึ้นเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ นอกจากจะได้สเป๊กตามแบบที่ต้องการ ทดสอบค่าต่างๆ ได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังประหยัดเวลาค่าใช้จ่ายลงไปได้อย่างมาก

สุดท้ายคือ “ฟรีเทรดโซน” พื้นที่ประกอบรถโดยสารเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ สะดวกเพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกันและยังปลอดภาษีอีกด้วย

เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ

 

นอกจากรถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์แล้ว ผู้บริหารหนุ่มยังมองไปถึงอนาคตเกี่ยวกับรถโดยสารไฟฟ้าด้วย ซึ่งถือเป็นอนาคตที่ต้องมาแน่นอน เพราะไม่เพียงเป็นเทรนด์ทั่วโลกเท่านั้น หากแต่รัฐบาลไทยยังสนับสนุน

เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น ตั้งทีมงานสำหรับวิจัยพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำงานร่วมกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสุรนารี ที่มีทั้งงานวิจัยและเครื่องมือต่างๆ ช่วยให้พัฒนาได้รวดเร็วขึ้น

ชิ้นส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ จะนำเข้าบางส่วนที่ไม่สามารถทำเองได้ อาทิ แบตเตอรี่ ซึ่งกำลังเดินทางมาจากประเทศจีน เป็นแบตเตอรี่แบบใหม่แยกโมดูล ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ทำให้สามารถซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเอง

ล่าสุดออกแบบคอนโทรล หรือกล่องควบคุมสั่งการทุกอย่างในรถได้แล้ว ขณะที่มอเตอร์เป็นแบรนด์ของเยอรมนี มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่ให้กำลังไฟสูง

ขณะที่ตัวรถนำรถโดยสารเก่าถอดเครื่องยนต์ออก แล้วนำมอเตอร์ไฟฟ้าใส่เข้าไปแทน

ผู้บริหารหนุ่มคาดว่ารถโดยสารไฟฟ้าประกอบเสร็จ พร้อมทดลองวิ่งภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ตั้งเป้าให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า 100% สามารถวิ่งได้ระยะทาง 200-300 กิโลเมตร

ใช้เวลาในการทดสอบประมาณ 1 ปี เพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์ที่สุด

คาดว่าภายในต้นปี 2565 จะเริ่มประกอบเพื่อจำหน่าย ตั้งใจไว้ว่าจะให้มีราคาอยู่ที่คันละประมาณ 5-6 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายยอดขายเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ต้องเข้าใจข้อจำกัด และต้นทุนที่แตกต่าง

ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ต้องมีความเข้าใจตลาด สถาบันการศึกษาที่ต้องพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมใหม่นี้

“สุรวุฒิ” มองว่า การเข้าสู่รถโดยสารไฟฟ้านั้นทำให้ประเทศไทยไม่ได้เสียเปรียบต่างชาติมากนัก เพราะถือว่าเริ่มในเวลาห่างกันไม่มาก ต่างจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่ไทยมาช้าเกินไป ทำได้เพียงรับจ้างผลิตเท่านั้น

คาดหวังว่าใน 3 ปี 5 ปี ข้างหน้า รถโดยสารไฟฟ้า 100% จะนำไปใช้งานในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะ “ซิตี้บัส” ที่มีเส้นทางวิ่งแน่นอน เพื่อกำหนดพื้นที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม และจูงใจให้มีผู้เข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น

ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง

แต่แน่นอนว่ากว่าจะถึงวันนั้น ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการต้องช่วยกันสนับสนุน