ใส่บ่าแบกหาม / พรพิมล ลิ่มเจริญ / The High Note

ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ

The High Note

 

เธอจ๊ะ

The High Note สนุกดีนะ ผู้กำกับฯ Nisha Ganatra เขาทำหนังสนุกดี ปีที่แล้วก็มีหนัง Late Night ที่ Emma Thompson กับ Mindy Kaling ที่เอ็มม่าแสดงเป็นพิธีกรทอล์กโชว์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้า แล้วมินดี้แสดงเป็นคนเขียนบทหน้าใหม่ที่เพิ่งรับเข้ามาร่วมทีมเขียนบท

เรื่อง The High Note นี้ คล้ายกันก็ตรงเป็นเรื่องของคนในวงการ มี Dakota Johnson แสดงเป็น personal assistant หรือผู้ช่วยส่วนตัวของ Grace Davies นักร้องชื่อดัง แสดงโดย Tracee Ellis Ross

เรื่องนี้เทรซี่ร้องเพลงเองด้วย เสียงดีแบบนักร้องอาชีพเลย ไม่เคยรู้ว่ามีความสามารถทางนี้ รู้แต่ว่าแกเป็นลูกสาวของ Diana Ross เดาว่าแกคงเกร็งน่าดูในการร้องเพลง ต้องแอบนึกในใจว่าคนต้องเอาไปเปรียบเทียบกับแม่แก

โชคดีไป ตกลงเก่งทั้งแม่และลูก ไม่เครียดมากแล้ว

 

เรื่องก็เริ่มที่นักร้องชื่อดังประสบความสำเร็จ Grace Davies แกดังมานานแล้วไง อันมีนัยยะว่าอายุมากแล้ว จะทำอะไรต่อไปกับอาชีพนักร้องได้กี่มากน้อย

ผู้จัดการก็เลยวางแผนการชีวิตให้คุณเกรซได้ไปแสดงที่ลาสเวกัส เซ็นสัญญากันสิบปี แต่มันดีไหม?

ก็นักร้องใหญ่ๆ โด่งดัง พอชีวิตการร้องเพลงเดินมาช่วงท้ายๆ ปลายชีวิตการทำงาน ก็มักไปเปิดโชว์ที่เวกัส ร้องเพลงฮิตต่างๆ ของตัวเองไป สร้างรายได้และได้พบแฟนเพลงที่ชอบเพลงฮิตๆ ของเรา

แต่ตัวคุณเกรซเองนั้นอยากไปไหม? คิดว่าถึง “เวลานั้น” แล้วหรือยัง?

I love touring.

I like groupies, too.

ฉันชอบออกไปทัวร์

ฉันชอบแฟนเพลง

แม็กกี้เป็นผู้ช่วยส่วนตัว ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้คุณเกรซไปเวกัส เห็นด้วยที่สุดว่ามันยังไม่ถึงเวลา

groupies หมายถึง กลุ่มคนที่หลงใหลได้ปลื้มศิลปิน บางทีก็เรียก fans แต่ของไทยเรียกแฟนคลับ เอาคำว่าคลับ มาใช้แทนจำนวนคน

จริงๆ แล้วศิลปินหนึ่งคนก็ควรจะมีแฟนคลับแฟนคลับเดียว และมีสมาชิกกี่คนก็ว่าไป

 

แม็กกี้เป็นแฟนเพลงเหนียวแน่นของคุณเกรซมาแต่เด็กๆ โตมาได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ได้ใกล้ชิดสนิทสนม ก็ปลื้มใจ แต่กับผู้จัดการสิ แม็กกี้ไม่เห็นด้วยออกนอกหน้า โดนผู้จัดการเอ็ดเสียงเข้ม

Let me do my job,

and you do yours, which is :

get her coffee, Kleenex, Kotex

and whatever else the hell

we been paying you to do…

งานของผม ผมทำ คุณก็ทำงานของคุณไป

ซื้อกาแฟ ทิชชู่ ผ้าอนามัย

จ้างมาทำอะไรก็ทำไป

ฝรั่งฝั่งอเมริกาเรียกทิชชู่ที่ใช้ซับหน้าว่าคลีเน็กซ์ เรียกผ้าอนามัยว่าโกเต๊ก ตามชื่อยี่ห้อ เป็นคำติดปาก เหมือนเราเรียกน้ำอัดลมสีดำว่าโค้ก เรียกผงซักฟอกว่าแฟ้บ แต่เรียกทิชชู่ว่าทิชชู่ คนก็เข้าใจได้

แม็กกี้อยากเป็นโปรดิวเซอร์เพลง แต่ก็ไม่มีโอกาส ได้มาเป็นผู้ช่วยส่วนตัวแค่นี้ แต่ก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการมาสเต็ปหนึ่ง แม็กกี้คิดว่าแม็กกี้เห็นศักยภาพที่อัดแน่นในตัวคุณเกรซ อยากโปรดิวซ์เพลงให้มากๆ

ตอนเด็กๆ ได้ดูคุณเกรซไปออกรายการทอล์กโชว์ของโอปราห์ คุณเกรซพูดไว้ว่า

You said, “When there are

no more surprises,

then who am I doing it for?”

ถ้าไม่มีเรื่องให้ประหลาดใจ

แล้วจะทำไปเพื่อใคร?

แม็กกี้พูดให้คุณเกรซคิดย้อนถึงจุดยืน จริงๆ แล้วคุณเกรซแกก็ไม่ได้อยากไปเวกัส แต่ผู้จัดการที่จัดการชีวิตให้กันมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการคะคั้นคะยอโน้มน้าวใจสุดฤทธิ์ คงเพราะผู้จัดการก็อายุมากแล้วไง

ถ้าศิลปินไปทำงานที่เวกัสเป็นหลักแหล่ง ผู้จัดการก็รับเงินและสบายตัว ไม่ต้องออกตะลอนๆ ไปกับรถบัส

 

เรื่องในหนังจะติดตามความพยายามในการจะเป็นโปรดิวเซอร์เพลงของแม็กกี้ คนเราอยากเป็นโปรดิวเซอร์ แต่ไหงมาเดินตามนักร้องต๊อกๆ แบบนี้ เดี๋ยวๆ วิ่งไปซื้อน้ำ ไปรับชุดที่ส่งซัก มีแต่งานจิปาถะเต็มไปหมด

She’s an icon.

It’s the dream job.

เขาดังสุดๆ

นี่มันงานในฝัน

icon ในที่นี้แปลว่า เป็นคนดังจนเป็นสัญลักษณ์ของนักร้องที่ประสบความสำเร็จ

Or at least it’s, like, the gateway

to my actual dream job

อย่างน้อยก็เป็นประตู

สู่งานในฝันจริงๆ

ตกลงแม็กกี้มีสองความฝัน

It’s the gateway to, like,

Stockholm Syndrome.

ประตูสู่สตอกโฮล์มซินโดรมน่ะสิไม่ว่า

สตอกโฮล์มซินโดรม คืออาการทางจิต ที่เหยื่อที่โดนจับไปเรียกค่าไถ่ รู้สึกผูกพันกับคนที่จับตัวไป กลายเป็นไปเห็นอกเห็นใจเขาซะงั้น อาการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่เหตุการณ์จับตัวประกันที่เมืองสตอกโฮล์มประเทศสวีเดน เมื่อปี 1973 ตัวประกันโดนจับไปกักขังหนึ่งสัปดาห์ พอได้รับการช่วยเหลือออกมาก็ปกป้องผู้ร้ายสุดกำลัง

เพื่อนรักของแม็กกี้ที่เป็นรูมเมตด้วย ก็พากเพียรให้กำลังใจ พร้อมผลักดันให้ออกไปทำงานโปรดิวเซอร์ได้แล้ว อยากเป็นก็ต้องพยายามเป็นให้ได้

Do not sell yourself short.

อย่าทำตัวเองต่ำต้อยสิ

Do not sell (yourself) short. เป็นสำนวน หมายถึง อย่าลดทอนคุณค่าในตัวเอง อย่าดูถูกสติปัญญา ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์อันมีค่าของตนเอง

 

แล้วแม็กกี้ก็บังเอิญได้พบกับเดวิด สองคนคุยเรื่องดนตรีกันถูกคอมากๆ ก็เลยตกลงกันว่าจะทำผลงานเพลงร่วมกัน

Do you need me? No.

But you should want me

because I think I can help

bring out an entirely

different sound in you.

คุณต้องมีฉันไหม? ไม่ต้อง

แต่คุณควรต้องการฉัน

เพราะฉันช่วยพาสรรพเสียง

ในตัวคุณออกมา

แม็กกี้เข้าใจหน้าที่โปรดิวเซอร์ได้ดี แต่สถานการณ์สิไม่ดีขึ้น ผู้จัดการของคุณเกรซก็พยายามหางานให้คุณเกรซ อยากให้เอาเพลงไปลงในแอพพ์ Spotify วันๆ คุณเกรซได้แต่ปลง ปลงแล้วปลงอีก

I’m a sellout. I get it.

ฉันก็แค่คนทำงานไปส่งๆ

เข้าใจแล้ว

a sellout ถ้าใช้กับเหตุการณ์ แบบ The concert was a sellout. ความหมายจะดี เพราะหมายถึงคอนเสิร์ตนี้ขายตั๋วหมดเกลี้ยง แต่พอมาใช้กับคน ความหมายไม่ดี หมายถึง คนที่ทำไปแบบไม่คำนึงถึงหลักการ ง่ายๆ เลยคือทำเพื่อเงินสถานเดียว

แล้วเกิดเหตุรุนแรงให้แม็กกี้กับคุณเกรซ และเดวิดนักร้องคนแรกในชีวิตที่จะได้ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ต้องแตกหักกันในเวลาเดียวกันเลย สามคนเลยต้องหาทางซ่อมแซมความสัมพันธ์กันต่อไป

หนังสนุก เพลงเพราะ หลากหลาย ฟังดีมากๆ หวนคิดถึงสมัยฟังเพลงฝรั่งใหม่ๆ ตอนยังสาวๆ เลย

ฉันเอง