คำ ผกา | หมุดและธง สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

คำ ผกา

ไม่รู้ว่าฉันคิดเข้าข้างตัวเองมากเกินไปหรือไม่ที่จะบอกว่า ขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนในปี 2563 เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างสุกงอม

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คือหมุดหมายที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นการปักหมุดแห่งการสร้างชาติใหม่ที่อำนาจเป็นของประชาชน

เปลี่ยนประเทศสยามในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การเป็นประเทศไทยที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ

เช่นเดียวกับประเทศ “เกิดใหม่” ทั้งหลาย ที่การสถาปนาอำนาจประชาชนไม่อาจสำเร็จภายในชั่วข้ามคืน หรือแม้แต่ภายในหนึ่งชั่วอายุคน เพราะกลุ่มอำนาจเก่าพยายามช่วงชิงอำนาจของตนกลับคืนมาอยู่เสมอ

ผลแห่งการต่อสู้ ช่วงชิงกันระหว่างอำนาจใหม่คืออำนาจของฝ่ายประชาธิปไตย กับกลุ่มอำนาจเก่าในประเทศไทยไปเจอกันครึ่งทางที่การสถาปนาระบอบการปกครองที่เรียกว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

นั่นคือการยอมรับว่าประเทศไทยไม่อาจกลับไปสู่รัฐในรูปแบบก่อน 2475 ได้

จำต้องเป็นรัฐชาติสมัยใหม่

จำต้องสวมเสื้อผ้าประชาธิปไตย

จำต้องยอมให้มีระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง

เรียกว่ายอมให้เปลี่ยนในส่วนที่เป็นเปลือกทั้งหมด

พ้นจากเปลือกลงไปแล้ว ปรากฏว่ากลุ่มอำนาจเก่าไม่ได้หายไปไหน ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองไทยในฐานะตัวเล่นหลักและเป็นผู้คุมเกมนั้นอีกด้วย

ฉันไม่รู้ว่าเจ้าของทฤษฎีรัฐพันลึกเขาอธิบายรัฐพันลึกอย่างไร แต่สำหรับฉันนี่แหละคือ deep state หรือถ้ามันจะไม่ใช่ deep state มันคือสิ่งที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

ในขณะที่เรามีการต่อสู้ทางการเมือง มีการทำรัฐประหาร มีการฉีกรัฐธรรมนูญ มีการต่อต้านรัฐประหาร มีการเลือกตั้ง แล้วก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นก็มีการรัฐประหาร แล้วก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญ วนไปวนมาอยู่อย่างนี้เป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุด อันคนรุ่นใหม่เรียกว่า “การมูฟอย่างเป็นวงกลม” ทางฝ่าย “อำนาจเก่า” เขาไม่ได้มูฟเป็นวงกลมอย่างเรา เพราะเขาแฝงฝังตัวเองเป็นอำนาจที่ลบออกไม่ได้ ขณะเดียวกันเขาก็ใช้อำนาจนั้นสร้าง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ประทับไว้ในสังคมไทยจนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย

กลายเป็นดีเอ็นเอแห่งความเป็นไทยที่ฉันคิดว่าเราสามารถเอาไปเสนอให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันจับต้องมิได้ เป็น intangible herritage ที่แท้ทรูของไทย

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

– essence แห่งการดำรงอยู่สำหรับความเป็นคนไทยและความเป็นไทยที่สำคัญที่สุดสำคัญกว่าชีวิต จิตวิญญาณ สำคัญเสียยิ่งกว่าการนับถือศาสนาใดๆ คือ การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์

– ความเป็นไทย เท่ากับศาสนาพุทธ ดังที่เราจะเห็นคนพูดกันอย่างเป็นสามัญว่า “เมืองไทยเมืองพุทธ” หรือ “ในฐานะชาวพุทธ เราจะบลา บลา บลา” ในสมัยประยุทธ์ ก็จะเห็นว่า ประยุทธ์ชอบการันตีคุณภาพการเป็นนายกฯ ของตัวเองด้วยการบอกว่า “ผมเป็นชาวพุทธ” (แทนการยืนยัน หรือชี้แจงว่าทำงานอะไรสำเร็จ)

– คนไทยที่รักชาติต้องมีความสามัคคี ไม่ทะเลาะ ไม่สร้างความแตกแยก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

– 2475 คือการชิงสุกก่อนห่าม เกิดขึ้นในขณะที่คนไทยยังไม่พร้อม

– คำว่าประชาธิปไตยก็สำคัญ แต่คำว่า “คนดี” สำคัญกว่า ดังคำพระว่า “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” เลือกตั้งมาแล้วได้คนไม่ดีมาปกครอง แปลว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่ดีพอ แต่ถ้าไม่เลือกตั้ง ทำรัฐประหาร แต่คนดีมาปกครอง อันนี้เรียกว่าดี เพราะเป็นการช่วยประเทศฝ่าวิกฤต ปิดโอกาสให้คนเลวมาแสวงหาผลประโยชน์

– ประเทศไทยดีทุกอย่าง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ไม่ดีอย่างเดียวคือ มักมีคนไทยที่บอกว่า ประเทศไทยไม่ดี สู้ประเทศอื่นไม่ได้

– ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์มาก มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักคุ้มครอง ที่ยังมีคนจนมาก เพราะคนขี้เกียจ หวังแต่จะพึ่งรัฐบาล อยากสบายโดยไม่ต้องทำงาน

– ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีทุกอย่าง ยกเว้นมีนักการเมืองเลว ประเทศที่ดีทุกอย่างอย่างประเทศไทยเลยไม่พัฒนา

– เราไม่ต้องการนักการเมืองเก่ง แต่เราต้องการนักการเมืองคนดี

– คุณสมบัติของคนดี คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

– นักการเมืองที่ดีต้องไม่ร่ำรวยมาก ถึงร่ำรวยก็ต้องไม่อวดรวย ต้องสมถะ ติดดิน ต้องเสียสละ ต้องซื่อสัตย์ ขาวสะอาด ต้องโชว์อุดมการณ์เยอะๆ ต้องแสดงจุดยืนล้มล้างระบบอุปถัมภ์

– อุปสรรคของประชาธิปไตยคือ นักการเมือง พรรคการเมืองของนายทุนซื้อเสียง ใช้เงินทำการเมือง

– ประเทศไทยเป็นประเทศที่คนทั้งโลกอิจฉา เพราะเรามีอะไรดีๆ ที่ประเทศอื่นในโลกไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างชาติที่อิจฉาเราก็ชอบมา “เสี้ยม” ให้คนไทยแตกแยก ทะเลาะกัน ต่างชาติเลยชอบมาแทรกแซงการเมืองไทยด้วยการเอาเงินมาให้พวก “ขายชาติ” ทำลายชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเรา (ที่มาของคำว่า ชังชาติ)

– คนไทยชนบทนั้นน่าสงสาร เพราะถูกนายทุนหลอกให้ใช้ชีวิตอย่างไม่พอเพียง อยากได้ อยากมีเหมือนคนรวย เลยละทิ้งไร่นาที่แสนอุดมสมบูรณ์ ไปทำงาน ซื้อรถ ซื้อโทรศัพท์ เลี้ยงลูกแบบผิดๆ สุดท้ายเป็นหนี้ แล้วมาโทษความเหลื่อมล้ำ โทษความไม่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายตกเป็นเครื่องมือของพวกขายชาติ ถูกหลอกให้มาเคลื่อนไหว ทำลายชาติ และสถาบัน

– คนเราจะมีความสุขเมื่อพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น ถ้าเกิดเป็นคนจน ก็ควรหาวิธีเป็นคนจนที่มีความสุข ส่วนคนที่เกิดมารวย ก็ต้องรู้จักทำบุญ และทำทานให้คนจนบ่อยๆ ชาติหน้าจะได้เกิดมารวยอีก ส่วนคนจนที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนรวย ต้องหัดสำนึกให้บุญคุณของท่าน

ถ้ารักษาระเบียบสังคมแบบนี้เอาไว้ได้ บ้านเมืองจะสงบสุข

ทั้งหมดนี้คือแก่นสารของความเป็นไทย ใช้อธิบายการมีอยู่ของประเทศไทย

สังคมไทย คือดีเอ็นเอของความเป็นไทยที่ถูกสลักจารึกลงไปลึกมาก จนกลายเป็น “รัฐธรรมนูญ” ตัวจริงเสียงจริงของประเทศไทย และไม่เคยถูกฉีกทิ้ง ไม่ว่าจะมีการรัฐประหารกี่ครั้ง หรือมีการเลือกตั้งกี่ครั้ง

ต่อให้มีประชาธิปไตยเต็มใบผลิบานอยู่ในสังคมไทย เจ้าตัวรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้ไม่เคยสูญหาย

แถมกลุ่มคนไทยจำนวนมากที่ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร ไม่มากก็น้อย ก็ยังสมาทานรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้อยู่อย่างน้อยสามข้อ ห้าข้อ

ล่าสุด มีคนพูดถึงม็อบวันที่ 19 กันยายน ว่า เป็นม็อบที่ educate สะอาด คนในม็อบก็หน้าใสๆ อีกทางหนึ่ง ก็มีคนที่สนับสนุนม็อบนี่แหละ ออกมาติติงว่า มีป้าเสื้อแดงมาเต้นมาร้องเพลงที่ดูภูธรมาก ทำให้ม็อบของนักเรียน-นักศึกษาเสื่อมเสีย

บ้างก็ออกมาบอกว่า ดีจัง มีเสื้อแดงมาร่วมม็อบนักศึกษาแล้ว พวกเขาเป็นไทจาก นปช.แล้ว (แปลว่า ไม่ถูกจูงจมูกแล้ว เอ๊ะ หะ รึว่าก่อนหน้านี้เราเป็นควาย?)

ความเห็นเหล่านี้สะท้อนความแข็งแกร่งของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก ขุดออกยาก ขนาดไม่สมาทานเผด็จการแต่ยังติดว่า ม็อบที่ดีคือม็อบของคนมีการศึกษา ม็อบนักศึกษาแปลว่าดี ม็อบชาวบ้านแปลว่าโดนหลอกมา

หรือถ้าคนในม็อบหน้าใสๆ ดูเป็นลูกคุณหนูแปลว่า เชื่อถือได้ มีเครดิต

แต่ถ้าม็อบภูธร บ้านๆ เต้นๆ แปลว่าเป็นม็อบแห่ขันหมาก ไม่รู้เรื่องการเมืองจริง มาเอามันส์ เผลอๆ ชอบมาทำหยาบคาย พลอยทำให้น้องๆ เสื่อมเสีย

หรือถ้าเป็นเสื้อแดงที่มี นปช. แปลว่าไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ เป็นชาวบ้านที่น่าสงสาร ถูกแกนนำหลอกอยู่ร่ำไป

ท่ามกลางมวลชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของเฉดสีและอุดมการณ์ แต่มีจุดร่วมกันหนึ่งประการคือ เห็นตรงกันว่า ประยุทธ์ไปต่อไม่ได้ (แต่หลังจากนั้นจะสร้างประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ค่อยว่ากันอีกที)

การนำของแกนนำมวลชน โดยเยาวชนสองคนคือ รุ้งและเพนกวิน ได้กระทำการสองอย่างที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาของ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” อย่างที่ไม่เคยปรากฏในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดมาก่อน นั่นคือ

หนึ่ง พวกเขากำหนดตำแหน่งแห่งหนของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในความทรงจำของสังคมไทยใหม่ทั้งหมด

พวกเขาทำลายมายาคติว่าด้วย “การชิงสุกก่อนห่าม” และแทนที่มันด้วยวาทกรรมใหม่ นั่นคือ 2475 เท่ากับการประกาศอิสรภาพของคนไทย

คือการ “ปักหมุด” อำนาจอธิปไตยโดยราษฎร เพื่อราษฎร ขึ้นมาครั้งแรก

ดังนั้น การเมืองเรื่อง “หมุด” จึงสำคัญอย่างยิ่ง ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

เมื่อการปักหมุด 2475 ถูกทำลายในเชิง “ความทรงจำ” และ “เรื่องเล่า” พวกเขายืนยันอิสรภาพของประชาชนไทยอีกครั้งด้วยการปัก “หมุด” ชิ้นใหม่ และสิ่งที่เป็นการเสียดเย้ยเชิงพิธีกรรมที่แหลมคมมากคือการทำ “หมุด” นั้นให้สำคัญแต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเลียนแบบพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงคำสาปแช่งที่บ้าๆ บอๆ เกินกว่าจะศักดิ์สิทธิ์

ไม่นับการฝังหมุดลงไปแบบทีเล่นทีจริง แล้วปล่อยให้หมุดถูก “เล่น” ผ่านสื่อ ผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านความคิดเห็นของคน ผ่านการถูกถ่ายรูป ฯลฯ

การปักหมุด “เล่นๆ” นี้ยั่วให้ฝ่ายราชการมาขุดหมุดทิ้งอย่างที่สุด แล้วราชการก็ลงมาขุดมันออกไปจริง การที่หน่วยงานราชการลงมาขุดหมุดนี้ออกไปนั่นแหละเป็นการทำให้พิธีปักหมุดประชาธิปไตยครั้งนี้จบลงอย่างสวยงาม สมบูรณ์แบบที่สุด

เพราะมันเป็นการบังคับให้ฝ่ายราชการไทยออกมาสารภาพกับโลกทั้งใบว่า พวกเขาคือแขน-ขาแห่งกระบวนการ “ถอดถอนประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชนออกไปจากแผ่นดิน”

พลันที่คำสารภาพนี้บังเกิด ภาพหมุดก็ผุดไปอยู่ในทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันอยู่ในเวอร์ชั่น AR ที่เราสามารถโยกย้ายหมุดนี้ไปไว้ที่ไหนก็ได้ แม้แต่บนหน้าผากของนายกฯ

เป็นการยืนยันว่า ประชาธิปไตยนั้น เมื่อมันเกิดแล้ว มันเกิดในจิตสำนึก อันอำนาจใดก็มาโยกย้ายไถ่ถอนออกไปไม่ได้

ผิดกับประชาธิปไตยจอมปลอมอันมีแต่เปลือกที่กลุ่มอำนาจเก่าใช้พรางตนอยู่เสมอมาและเรียกมันว่าประชาธิปไตยแบบไทย

สอง นอกจากปักหมุด 2475 ใหม่ในความทรงจำของสังคมไทยแล้ว พวกเขายังได้ปักธงแดง อันเป็นธงแห่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดง อันเกิดขึ้นหลักจากการรัฐประหารปี 2549 เพราะะชะตากรรมของคนเสื้อแดงไม่ต่างจากชะตากรรมของ 2475 ที่ไม่มีพื้นที่ “ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการยอมรับ” การต่อสู้ของคนเสื้อแดง ไม่ถูกนำไปไว้เคียงข้าง 14 ตุลาคม หรือพฤษภาคม 2535

แต่ถูกนำมาอธิบายเรื่องความแตกแยกสองขั้วสองข้างทางการเมืองไทย มากกว่าจะถูกวางไว้ในฐานะขบวนการประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ radical ที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

วันนี้ที่การต่อสู้ทางการเมืองถูกยกระดับไปสู่จุดที่ radical ที่สุดอีกครั้ง เหล่าแกนนำนักศึกษาจึงปักธงแดงนั้นไว้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายแห่งความทรงจำเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือนและถูกเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของมันอย่างอุกฉกรรจ์อีก

คืนตำแหน่งแห่งที่ทางความทรงจำให้ 2475 และขบวนการเสื้อแดงได้หมดจดดังนี้ ฉันจึงมั่นใจว่าไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยครั้งไหนในสังคมไทยที่จะสุกงอมและมีวุฒิภาวะเท่านี้มาก่อน

นี่คือสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เราปฏิเสธการเดินทางมาของมันไม่ได้เลย