จรัญ มะลูลีม : ศาสนาในตะวันออกกลาง (เอเชียตะวันตก) ตอนจบ

จรัญ มะลูลีม

คาบสมุทรอาระเบียเปรียนเสมือนลิ่มที่ตอกอยู่ตรงกลางระหว่างอู่อารยธรรมโบราณสองแห่งคืออียิปต์และบาลิโลเนีย (Phillip K. Hitti, History of the Arabs, 1970 p.31-32) ตลอดเวลา พวกเขาจึงเป็นคนขยันขันแข็งและอดทนบากบั่น

นอกจากนั้น ชีวิตอันเวิ้งว้างอยู่กลางทะเลทรายก็ยังทำให้พวกเขาเป็นคนรักอิสรภาพและมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบให้ใครบังคับ มีความเป็นอยู่เรียบง่าย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีอัธยาศัยไมตรีและรักบทกวี

แต่ก็น่าเสียดายที่คุณสมบัติดีๆ เหล่านี้ต้องจมลงไปในสภาพสังคมอันเลวร้ายเสีย

ก่อนสมัยที่ศาสนาอิสลามจะมาถึงในดินแดนแถบนั้นเป็นสมัยที่ชาวอาหรับเรียกว่ายุคญาฮิลียะฮ์ (Yahiliyah) หรือ “ยุคสมัยแห่งความโง่เขลา” เพราะเป็นยุคที่สภาพทางสังคม-การเมืองและศาสนาอยู่ในสภาพเลวร้าย เป็นยุคที่ไม่มีศาสนาที่ชัดเจน ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีระบบการปกครองหรือความคิดทางด้านศีลธรรมอยู่เลย

ชีวิตด้านศาสนาและการเมืองยังอยู่ในระดับที่ต่ำต้อยมาก

 

ชาวอาหรับดั่งเดิมเป็นผู้บูชารูปเจว็ด นอกจากนั้นก็บูชาธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว แม้กระทั่งก้อนหิน ต้นไม้และเนินทราย เชื่อถือไสยศาสตร์อย่างรุนแรง ทุกเมืองจะมีเทพเจ้าและเจ้าประจำเมือง

เทพเจ้าชื่ออัล-อุซซา (Al-Uzza) อัล-ลาด (Al-Lat) มานะฮ์ (Manah) หรือมานัต (Manat) และฮุบัล (Hubal) เป็นที่นับถืออย่างสูงของชาวอาหรับ

ในอาระเบียมีวิหารสำหรับเทพเจ้าและเจ้าแม่อยู่มากมาย วิหารกะอ์บะฮ์ถูกถือว่าเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ในกะอ์บะฮ์มีรูปเคารพอยู่ถึง 360 ชิ้น ทุกๆ ปีมีผู้คนจากส่วนต่างๆ ของอาระเบียเดินทางมาสักการะเทพเจ้าของพวกเขา ณ สถานที่นี้ ในระหว่างนั้นก็จะมีงานเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่เรียกว่างาน “อุกาซ”

สังคมของอาระเบียในสมัยนั้นเลวร้าย เต็มไปด้วยการเชื่อถือไสยศาสตร์และความโหดร้ายป่าเถื่อนมีการฆ่ามนุษย์บูชายัญถวายเทพเจ้า สังคมมีแต่ความไม่เสมอภาค การประหัตประหารกัน การดื่มเหล้าเมายา เล่นการพนัน ปล้นสะดมและความชั่วร้ายอื่นๆ อีกมากมาย

สภาพการณ์ทางด้านศีลธรรมและวัตถุธรรมของโลกทั่วๆ ไป โดยเฉพาะแถบอาระเบียนั้นร้ายกาจจนไม่มีใครจะแก้ไขได้นอกจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะเหตุนี้เองท่านศาสดามุฮัมมัดจึงได้เกิดขึ้น ณ แผ่นดินนี้

ในระหว่างยุคสมัยแห่งความโง่เขลานี้ อาระเบียเป็นประเทศเอกราช มีบางส่วนทางภาคเหนือเท่านั้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรเปอร์เซียและโรมัน ชาวอาหรับแบ่งแยกออกเป็นหลายเผ่า แต่ละเผ่าต่างก็มีหัวหน้าเผ่าปกครองเรียกว่าชัยค์ (Sheikh)

ผู้อยู่ในเผ่านั้นๆ จะมีความจงรักภักดีต่อหัวหน้าเผ่าของเขาอย่างแน่นแฟ้น

ที่อยู่ในเผ่าเดียวกันจะเป็นมิตรกันอย่างดียิ่ง

แต่คนต่างเผ่ากันจะตั้งหน้าเป็นศัตรูกับอย่างไม่ลดละ

 

กำเนิดของอิสลาม
และการขยายดินแดนของผู้ศรัทธา

ศาสดามุฮัมมัด ศาสนทูตของพระเจ้าถือกำเนิดในเผ่ากุรอยช์ ในนครมักกะฮ์ (สมัยเก่าเรียกว่าเมืองบักกะฮ์) เมื่อปี 570 ท่านรับโองการของพระเจ้าซึ่งแต่งตั้งให้ท่านเป็นศาสดา เมื่อท่านอายุประมาณ 40 ปี (ปี 610) หลังจากนั้นท่านก็ได้เริ่มงานสั่งสอนในหมู่ญาติสนิทก่อน ต่อเมื่อได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าให้ทำการเผยแผ่อย่างเปิดเผยได้ท่านก็ทำเช่นนั้น

ในระหว่างนั้นท่านได้รับความยากลำบากและทุกข์ยากเป็นอย่างยิ่งจากคนเผ่าเดียวกับท่านและศัตรูอื่นๆ ความสำเร็จของท่านเกิดขึ้นระหว่างปี 610 หรือ 612 กับปีที่ท่านสิ้นชีวิต (ปี 632)

คาบสมุทรอาระเบียในสมัยนั้นแตกแยกออกเป็นเผ่าและกลุ่มต่างๆ ที่แก่งแย่งชิงดีกันและเปิดตัวให้แก่อำนาจของต่างชาติและความพยายามล่าเมืองขึ้นของอาณาจักรเปอร์เซียรวมทั้งเอธิโอเปีย (ซึ่งเป็นคริสเตียน) ซีเรีย ไบแซนไตน์และอียิปต์

หากไม่มีศาสดามุฮัมมัด ชาวอาหรับก็คงจะไม่มีกำลังพอ ที่จะไปพิชิตดินแดนอื่นๆ ได้เป็นแน่

 

กําลังชาวมุสลิมของท่านศาสดามุฮัมมัดแผ่เขตแดนของผู้ศรัทธาออกไปอย่างกว้างขวาง

การพิชิตสำคัญๆ ของอิสลาม รวมทั้งในสมัยท่านศาสดาและสมัยเคาะลีฟะฮ์ (กาหลิป) ทั้งสี่ (คือ อะบูบักร์ อุมัร อุษมานและอะลี) มิได้รวมแต่เพียงชัยชนะเหนือซีเรีย อียิปต์ เปอร์เซีย แอฟริกาเหนือและสเปนในทวีปยุโรปเท่านั้น

แต่ยังรวมเอาดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมดด้วย รวมทั้งเกาะครีท ตูนิเซีย ซิซิลี คอร์ชิกา ซาร์ดิเนีย ปากน้ำไทเบอร์ รวมทั้งหมู่เกาะบาเลียร์ (Baliaric Islands) อันเป็นเมืองท่า

ในสมัยของเคาะลีฟะฮ์อุมัร (ปี 634-44) โลกมุสลิมในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางได้ขยายจากทริโปลี (ลิเบีย) ไปจนถึงบัลค์ (อัฟกานิสถาน) และจากอาร์เมเนียไปจนถึงสินธุ (ปากีสถาน) และกุจาราต (อินเดีย) และประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างกลาง เช่น ซีเรีย อิรัก อิหร่าน ฯลฯ

ภายใต้เคาะลีฟะฮ์ใหม่คืออุษมาน (ปี 644-56) ดินแดนของโลกอิสลามก็ขยายไปถึงนูเบีย และขยายเข้าไปในส่วนหนึ่งของอันดาลูเซีย (สเปน) ในแถบตะวันออกของแม่น้ำโอสุร (ซัยฮัน) และยึดดินแดนบางส่วนจากจีน หมู่เกาะไซปรัส โรเดสและครีทก็ได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของมุสลิม

แม้แต่กรุงคอนสแตนดิโนเปิลก็ถูกชาวอาหรับโจมตีเป็นครั้งแรก หลังจากท่านศาสดาสิ้นชีวิตไปยังไม่ถึงห้าสิบปี อาณาจักรอิสลามทางภาคตะวันออกและตะวันตกก็ได้ขยายตัวจากแถบแอตแลนติกไปจนถึงฝั่งทะเลแปซิฟิก

จนอาณาจักรอิสลามกว้างใหญ่เท่ากับทวีปยุโรป (Mohamed Hamidullah, Introduction to Islam, p.203)

 

คงจะไม่ถูกต้องถ้าจะกล่าวว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใดเพียงสาเหตุเดียวนั่นคือ ความอ่อนแอของอาณาจักรเปอร์เซียและไบแซนไตน์ บางคนสันนิษฐานว่า การที่ชาวอาหรับพิชิตเปอร์เซียและโรมันได้อย่างรวดเร็วนั้นเป็นเพราะ

(1) ฝ่ายอิสลามเข้าโจมตีอย่างกะทันหันโดยไม่มีใครคาดคิด

(2) เป็นการรุกอย่างรวดเร็วและรุนแรงซึ่งทำให้เมืองต่างๆ ต้องแยกกัน จึงต้องพ่ายแพ้ไปทีละเมือง

(3) เป็นผลของความเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าในเอเชียตะวันตกซึ่งเป็นกระบวนการที่ทุกวันนี้เรียกว่าการปลดปล่อยอาณานิคม (decolonization)

ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นจริงแต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับอธิบายประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดังนั้น อาจจะเป็นเพราะความใกล้ชิดทางศาสนาและศีลธรรม อันเก่าแก่และลึกซึ้งที่มีอยู่ระหว่างผู้พิชิตกับผู้ถูกพิชิต อันเป็นผลของการอยู่ร่วมกันมานานก็ได้ (Fernand Braudel, A History of Civilization, p.45)

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือว่าไม่มีที่ใดเลยที่ผู้ถูกพิชิตจะไม่พอใจมุสลิม

เราจะเห็นได้ว่าในระยะต้น สงครามเหล่านี้เป็นเรื่องของการเมืองมากกว่า ไม่มีความปรารถนาในส่วนของมุสลิมที่จะบังคับให้ผู้ถูกพิชิตถือศาสนาโดยใช้พละกำลังเลย เพราะศาสนาอิสลามห้ามทำเช่นนั้น

ความเรียบง่ายและความมีเหตุผลในด้านศาสนาของพวกเขาพร้อมด้วยตัวอย่างภาคปฏิบัติในการใช้ชีวิตของชาวมุสลิมเหล่านั้นกลายเป็นที่ดึงดูดใจของคนอื่นๆ

 

จดหมายของท่านบิชอปแห่งนิกายเนสตอเรียที่เขียนถึงเพื่อนของท่านและถูกเก็บรักษาไว้ มีข้อความว่า

“พวกตายิตีส (ชาวอาหรับ) ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทำให้ได้มาครอบครองประเทศของเรานั้นได้กลายเป็นพวกของเราด้วย แต่กระนั้นพวกเขาก็มิได้เหยียบย่ำศาสนาคริสต์ ตรงกันข้ามพวกเขายังได้ปกป้องศรัทธาของพวกเราให้ความนับถือพระและนักบุญของเราและทำบุญกุศลด้วย”

อีกประการหนึ่งการพิชิตของมุสลิมทำให้ประชาชนผู้ถูกพิชิตได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เอกสารการบริหารในสมัยนั้นที่เขียนไว้ในกระดาษปาปิรุส ซึ่งค้นพบในอียิปต์ก็เป็นพยานยืนยันได้ว่าชาวอาหรับได้ทำให้ภาระในการเสียภาษีในอียิปต์เบาบางลง การปฏิรูปเช่นเดียวกันนี้ได้ถูกนำไปใช้ทุกหนทุกแห่งในประเทศที่อิสลามขยายมาถึง

(Mohamed Hamidullah, Introduction to Islam, p.203)