เทศมองไทย : ปรากฏการณ์ “ไซเบอร์ดีไวด์” จากหัวเว่ยถึงติ๊กต็อก

โจนาธาน ดี. พอลแลค นักวิชาการประจำศูนย์ จอห์น แอล. ธอร์นตัน และศูนย์เพื่อนโยบายเอเชียตะวันออก ของสถาบันบรูกกิงส์ สหรัฐอเมริกา เขียนเรื่อง “การแตกแยกทางเทคโนโลยี” เอาไว้เมื่อ 13 กันยายนที่ผ่านมา สะกิดใจให้คิดไปได้หลายอย่าง

แน่นอน พอลแลคเริ่มต้นด้วยเรื่องติ๊กต็อก กับวีแชต 2 แอพพลิเคชั่นสัญชาติจีนที่กำลัง “ร้อนฉ่า” หลังถูก “บังคับขาย” กิจการในสหรัฐอเมริกาให้บริษัทอเมริกันภายใน 90 วัน

ซึ่งพอลแลคเชื่อว่า รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไปในการเล่นงานทั้งสอง แม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของ “การใช้งานอย่างมุ่งร้าย” เหมือนๆ กันก็ตามที

ข้อสังเกตสำคัญของพอลแลคก็คือ ข้อกล่าวหาต่อทั้งติ๊กต็อกและวีแชต ถูกบริษัททั้งสองปฏิเสธแข็งขันมาตลอด

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐเองก็เปิดเผยข้อมูลน้อยมากจนไม่อาจสร้างน้ำหนักให้กับข้อกล่าวหาได้

แต่ในเวลาเดียวกัน บรรดาองค์กรเอกชนทั้งหลายก็ไม่สามารถประเมินข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่าจริงเท็จอย่างไรหรือไม่เช่นเดียวกัน

นั่นจึงเป็นที่มาในมุมมองของทางการจีนที่เชื่อว่า มาตรการหนนี้ก็เป็นเหมือนกับอีกหลายกรณีที่ผ่านมา อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกีดกันไม่ให้บริษัทจีนเข้าถึงตลาดสหรัฐ เพื่อจำกัดความก้าวหน้าและขีดวงล้อมกรอบกิจการของจีนไม่ให้เติบโตต่อไป

 

จีนตอบโต้ด้วยการออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมซึ่งสามารถใช้เพื่อ “ยับยั้ง” การขายกิจการของติ๊กต็อกได้ โดยขยายขอบเขตอำนาจรัฐเพื่อการนี้ออกไปให้ครอบคลุมการขายเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์ให้กับบริษัทอเมริกันด้วย เพราะถือว่า “เป็นธรรม” และไม่ได้เป็นการเอาเปรียบกันแต่อย่างใด

พอลแลคชี้ให้เห็นผลลัพธ์ของการดำเนินการและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเอาไว้อย่างนี้ครับ

“ความเคลื่อนไหวทั้งหลายเหล่านี้ ยิ่งทำให้ความแตกแยกทางด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างชิงกันนำเสนอโมเดลสำหรับโลกดิจิตอลที่แตกต่างกันออกมาโดยสิ้นเชิง

“ฝ่ายบริหารของทรัมป์พูดชัดเจนถึงแผนการที่จะนำไปสู่ “เน็ตเวิร์กสะอาด” ภายใต้มาตรการดำเนินการทุกอย่างที่พุ่งเป้าเข้าหาจีนโดยเฉพาะ เพื่อตอบโต้ จีนได้นำเสนอแนวทางของตนเองต่อมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่จีนเรียกว่า “อธิปไตยทางไซเบอร์” ที่จะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดกฎข้อบังคับและควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตของตัวเองได้”

การดำเนินการเรื่องนี้ของทรัมป์เกินเลยไปกว่าข้ออ้างเรื่อง “การค้าไม่สมดุล” ที่เคยใช้กล่าวหาจีนเมื่อครั้งเริ่มเปิดฉากสงครามการค้าไปมาก แต่กลับเป็นการกระทำแบบเดียวกัน นั่นคือ ละเลยไม่ยอมรับความเป็นจริงสำคัญ 2 อย่าง หนึ่งคือ ความจริงที่ว่า จีนสามารถตอบโต้มาตรการทุกอย่างของสหรัฐอเมริกาได้ และอีกหนึ่งก็คือ พิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ลงเอยอยู่ที่ผู้บริโภคอเมริกันนั่นเอง

ถึงที่สุดแล้ว พอลแลคย้ำชัดเจนว่า ไม่มีใครได้ชัยชนะ ทั้งในสงครามการค้าและดิจิตอลดีไวด์

 

พอลแลคชี้ว่า กรณีหัวเว่ย สะท้อนถึงเป้าหมายในระยะยาวของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการแยกตัวออกจากจีน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น “ไฮ-เทคโนโลยี”

แต่ไม่ได้คำนึงเลยว่า สิ่งนี้จะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นมหาศาลให้จีนทุ่มเททรัพยากรทั้งปวงเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ “ระบบปฏิบัติการ” และ “ชิพประมวลผล” ของหัวเว่ย

การเล่นงานติ๊กต็อกและวีแชต ด้วยการสร้างภาพให้จีนเป็น “อันตราย” ต่อสหรัฐอเมริกา อาจยังประโยชน์ให้กับทรัมป์ได้ในแง่ของการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลและประธานาธิบดีอเมริกาไม่ได้ใคร่ครวญเลยว่าผลผูกพันที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวเป็นอย่างไร หรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ยิ่งนับวันจีนยิ่งมีส่วนสำคัญ “ด้วยแบบฉบับของจีนเอง” มากยิ่งขึ้นทุกที

พอลแลคเชื่อว่า ไม่ว่าผลเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนนี้จะปรากฏเป็นอย่างไร จีนจะยังคงดำเนินความพยายามในทุกทางเพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกา และเร่งระดับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของตนเองให้เร็วขึ้นและกว้างขวางขึ้น

เพื่อปกป้องประเทศตนจากความเป็นปฏิปักษ์และความไม่แน่นอนคาดเดาไม่ได้ของสหรัฐอเมริกา

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น

หากแต่ยังส่งผลสะเทือนเป็นวงกว้างในระยะยาวถึงไทยและทุกๆ ประเทศในโลกอีกด้วย