มนัส สัตยารักษ์ | คุกคามตำรวจ

นักร้อง “แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์” สาดสีใส่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เมื่อ 28 สิงหาคม 2563 สาเหตุมาจากตำรวจเอาแผงเหล็กมากั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านเข้าไปชั้นในของโรงพัก เกิดการยื้อยุดและผลักไสกันชุลมุน แอมมี่ยกถังสีพลาสติกสาดเข้าใส่ตำรวจ ทำให้เครื่องแบบของตำรวจ 14 นายได้รับความเสียหาย

กลุ่มผู้ชุมนุมนี้เป็นกลุ่มที่มาเชียร์ให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” (นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักต่อต้านเผด็จการ) กับพวก “เยาวชนปลดแอก” 15 คนที่มาแสดงตัวตามหมายเรียกของ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อรับทราบข้อหาตามความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาด และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค

ตามข่าวหนังสือพิมพ์และภาพข่าวที่เห็นจากโทรทัศน์ ผู้ชุมนุมที่มาให้กำลังใจครั้งนี้มีจำนวนราวร้อยคน มีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสหประชาชาติ ส.ส.พรรคก้าวไกล นักวิชาการ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

แอมมี่มีชื่อจริงว่า ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ เป็นนักร้องนำวง “เดอะบอททอมบลูส์” (The Bottom Blues) สื่อโซเชียลหลายสำนักประณามพฤติกรรมสาดสีใส่ตำรวจ และขุดคุ้ยประวัติด้านลบของแอมมี่มาเผยแพร่ แล้วสรุปว่าเป็นนักร้องที่กำลังดับแสง หวังเกาะกระแสม็อบจึงสร้างพฤติกรรมรุนแรงหวังจะเรียกความดังกลับมา

สื่อโซเชียลในโลกออนไลน์เป็นสื่อที่เชื่อยาก และโดยส่วนตัวผมไม่รู้จักหรือคุ้นชื่อนักร้องคนนี้มาก่อน ข่าวและความคิดเห็นจะจริงหรือเท็จไม่สามารถยืนยันได้

ถ้าพิจารณาจากข้อกล่าวหาของตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ที่ใช้เรียกตัวแกนนำ “ม็อบเยาวชนปลดแอก” และ “ไผ่ ดาวดิน” แล้ว ค่อนข้างเห็นใจผู้ที่ถูกหมายเรียกตัว เพราะใครก็พิจารณาได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องอาญา และมากกว่าจะอ้างถึงความมั่นคงและปลอดภัยของบ้านเมือง รวมทั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาด และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค แม้จะเป็นความผิดทางอาญา แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจได้รับการร้องเรียนกล่าวโทษ ตำรวจก็ต้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ มิฉะนั้น ตำรวจอาจจะมีความผิดฐาน “ละเว้น” ตาม ม.157

ส่วนใครจะผิดหรือไม่ผิด ผิดแค่ไหน มีโทษประการใด อยู่ที่ศาลสถิตยุติธรรมจะวินิจฉัยและพิพากษาตัดสิน

ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการประท้วงภายในกรอบและขอบเขตของกฎหมายย่อมได้รับความเห็นใจและเห็นด้วยจากสังคม แต่แอมมี่กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม

แอมมี่ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ความหมายสำหรับการสาดสีคือการตอบโต้การ “ป้ายสี” ของฝ่ายเจ้าหน้าที่

“กฎมันใช้ไม่ได้แล้ว เราเล่นตามกฎไม่ได้แล้ว เราจะไม่มีการมาส่งเพื่อนเราที่ สน.แล้ว แล้วตะโกนเชียร์ เฮ เฮ เฮ แล้วต้องมานั่งรอว่าเมื่อไหร่ศาลจะปล่อยตัว จากนี้เราจะทำการกดดันทุกอย่าง”

ผมไม่แน่ใจว่าแอมมี่เป็นสมาชิกของกลุ่มไหน มีภาพและข้อความหลายคนชื่นชมการกระทำของเขา ขณะเดียวกันก็คงมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแอมมี่

แม้แต่ “ไผ่ ดาวดิน” ก็ยังติงทำนองว่า “ตำรวจชั้นผู้น้อยอยู่ในฐานะเดียวกับเรา”

มีประชาชนที่เข้าใจความอัดอั้นของฝ่ายนักศึกษาที่ถูกคุกคาม แต่ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ต้องเสียเงินตัดเครื่องแบบชุดใหม่เช่นกัน ได้แสดงความประสงค์จะบริจาคช่วยเหลือค่าตัดเครื่องแบบตำรวจ 26,000 บาท

แต่ชาวเน็ตที่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกของแอมมี่โพสต์ข้อความคัดค้าน อ้างศักดิ์ศรีตำรวจ และแจ้งว่าผู้บังคับบัญชาของตำรวจชั้นผู้น้อยทั้ง 14 นายได้ช่วยเหลือแล้ว

อีกด้านหนึ่งตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีแอมมี่ โดยในชั้นต้นพบว่าอย่างน้อยก็เข้าข่ายผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ดูจากคลิปวิดีโอที่แอมมี่แสดงอาการ “สนุกจังเลย” เชื่อว่าน่าจะมีข้อหา “เหยียบย่ำกฎหมาย” ด้วย

หลังจากเหตุการณ์สาดสีใส่ตำรวจ สื่อหลายสำนักมีข่าวและข่าวภาพจากสื่อต่างประเทศที่ตำรวจทำร้ายผู้ประท้วงหรือผู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่อย่างรุนแรง ขณะเดียวกันก็มีบทความของนักวิชาการกล่าวถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเข้าใจผิดโดยการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตโดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ไม่แคร์กฎหมายและไม่สนใจคำสั่งเจ้าพนักงาน

เชื่อว่าข่าวสารเหล่านี้เป็นชนวนที่ทำให้เกิดแรงปะทะสูงขึ้นจากเจ้าหน้าที่ที่ถูกคุกคาม จนอาจจะเกิดภาวะวิกฤตขึ้นได้ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ประโยคหนึ่งของแอมมี่ที่เป็นการท้าทายกฎหมาย ราวกับว่าตำรวจเป็นฝ่ายผิดหรือแพ้สงคราม… “ถ้าคุณคุกคามประชาชน เราก็จะคุกคามคุณกลับด้วยศิลปะ คุณได้เจอผมแน่นอน!”

ทำให้ผมนึกถึงคืนหนึ่งหลังผ่านเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” มาพักใหญ่แล้ว แต่กรุงเทพฯ ยังอยู่ในบรรยากาศของประชาธิปไตย ผมกับเพื่อนนายตำรวจ ปรีชา ประเสริฐ (พล.ต.ต.) ไปกินข้าวต้มรอบดึกในซอยกิ่งเพชร ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

มีเสียงมาจากวัยรุ่น 4-5 คนค่อนข้างดังด้วยความคึกคะนอง “รู้น่าว่าเป็นตำรวจ”

พวกเขาคงเข้าใจว่าเราปิดบังความเป็นตำรวจ เพราะตำรวจผิดและพ่ายแพ้ใน “สงครามประชาธิปไตย” เราไม่โต้ตอบประการใด อิ่มข้าวต้มแล้วชวนกันออกจากร้าน แต่ปรีชา ประเสริฐ เดินไปที่โต๊ะวัยรุ่นกลุ่มนั้น “เราเป็นตำรวจ แล้วเป็นไง?”

เงียบ ไม่มีเสียงตอบจากวัยรุ่นแม้แต่คำเดียว

คืนนั้นผมกลับถึงที่พักก็ระบายอารมณ์ลงหน้ากระดาษทันที ก่อนหน้านี้ผมมีอารมณ์ค้างอยู่ก่อนแล้วจากข่าวตำรวจจราจรบนถนนถูกประชาชนบนรถเมล์ใช้ม้วนกระดาษหนังสือพิมพ์ตีศีรษะ และข่าวตำรวจในเครื่องแบบถูกวัยรุ่นตรวจค้นตัวเพื่อหยามว่าพวกเขามีสิทธิคุกคามตำรวจได้

ผมระบายอารมณ์ไปในทำนองว่า ถ้าเป็นผม-ผมจะไม่ยอมให้พวกเขาตรวจค้นตัว ถ้าจะต่อสู้กันผมก็จะหนี ถ้าหนีไม่ทันก็จะสู้ ถ้าสู้ไม่ได้ผมจะต้องใช้ “เครื่องผ่อนแรง”

ผมส่งข้อเขียนไปที่ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของคอลัมน์ดังใน น.ส.พ.ไทยรัฐ

ขรรค์ชัยเอาลงพิมพ์ไปทั้งดุ้น หลายวันจากนั้นขรรค์ชัยเล่าให้ฟังว่า “มีคนเขียนจดหมายด่าจมเลย นึกไม่ถึงว่ามนัส สัตยารักษ์ จะใจร้าย”

ผมอยากจะตอบชี้แจงเป็นรายตัว แต่ขรรค์ชัยไม่ให้สนใจ บอกว่าทิ้งไปหมดแล้ว

ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” บางส่วนบางมุมที่รุนแรงน่าจะสืบเนื่องมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหนึ่งยังไม่ลืมที่ถูกคุกคาม

การตั้งข้อหาของตำรวจในครั้งนี้ รวมถึงการออกหมายเรียก หมายจับ จับกุม สอบสวนดำเนินคดี เป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการบริหารของฝ่ายรัฐ หวังจะสร้างความกังวลและความหวาดกลัวแก่นักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

แต่ได้เห็นประจักษ์กันแล้วว่าผลเป็นตรงกันข้าม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคอลัมน์นี้ได้เสนอแนวความคิดของท่านอานันท์ ปันยารชุน (88) ที่ให้ “คนหนุ่ม-สาวแสดงความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นเด็กลง”

และข้อเสนอของพริษฐ์ วัชรสินธุ (27) “ให้เชิญทุกกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้ามาเสนอทุกข้อเรียกร้องต่างๆ” ซึ่งที่ประชุม กมธ.พัฒนาการเมืองฯ มีมติเห็นชอบ นัดประชุมในวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563

ถัดมา 2 วัน คือในวันที่ 28 สิงหาคม ก็มีเหตุการณ์สาดสีใส่ตำรวจ ข้อเรียกร้องให้ “หยุดคุกคามประชาชน” กลายเป็น “ประชาชนคุกคามตำรวจ” ไปเสียฉิบ

ผมไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย “6 ตุลาคม 2519” หรอก แต่อดหวั่นใจไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำร้อย “22 พฤษภาคม 2557” มากกว่า