วงค์ ตาวัน | กลับสู่ยุคนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

วงค์ ตาวัน

ประเด็นที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่ง ว่าการเมืองไทยในแต่ละช่วงมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นยุคที่อยู่ภายใต้เงามืดของอำนาจนอกระบบขนาดไหน

วันนี้สังคมไทยเกิดกระแสร้อนแรง โดยการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของนายกฯ

“ต้องตัดอำนาจ ส.ว.ออกไป ไม่ให้มีส่วนร่วมกำหนดตัวผู้จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้ง”

จากเดิมทีในอดีตที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญเปิดกว้างโล่งโจ้งมาตลอด ไม่ได้กำหนดที่มาของนายกฯ ให้ชัดเจน จนกระทั่งเกิดการประท้วงของประชาชนเมื่อปี 2535 ต่อต้านรัฐบาลที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ

เนื่องจากเป็นผู้นำการรัฐประหารเมื่อปี 2534 และยังเป็นการตระบัดสัตย์ กลับคำพูดที่ยืนยันเอาไว้หลังการยึดอำนาจว่า จะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง

“จึงเกิดการประท้วงขับไล่นายกฯ แล้วพัฒนาไปสู่ข้อเรียกร้องเพื่อปิดช่องการแทรกแซงการเมืองจากกองทัพ โดยให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น!”

การชุมนุมต่อต้านผู้นำรัฐประหาร รสช. นำมาสู่การปราบปรามนองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 เรียกกันว่าพฤษภาทมิฬ

มีผู้เสียชีวิตจากการถูกปราบด้วยกระสุนจริงราวครึ่งร้อยคน แต่ก็มีสูญหายไปอีกจำนวนไม่น้อย เป็นที่น่าสงสัยเรื่องศพหาย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

รัฐบาลที่มีฐานกองทัพแน่นหนาก็ต้องพ่ายแพ้พลังประชาชน โดย พล.อ.สุจินดายอมลาออกจากนายกฯ ปิดฉากอำนาจยุครุ่งเรืองของแกนนำ จปร.5

จากนั้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ในทันที กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งเป็นผู้ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น

“ถือเป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เพราะทำให้มีรัฐธรรมนูญที่สร้างบรรทัดฐานความเป็นประชาธิปไตยชัดเจน”

เริ่มจากแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ 2534 จากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาก็กำหนดคุณสมบัตินายกฯ ที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย

ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนตามนี้

แล้วกลับมาถอยหลังย้อนยุค และกำหนดรายละเอียดหนักข้อกว่ายุคเก่าอีก ในรัฐธรรมนูญ 2560

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ขับไล่นายกฯ ในปี 2535 นั้น อันที่จริงนักประชาธิปไตยก็กล่าวกันอย่างอื้ออึงถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมกำหนดคุณสมบัติของนายกฯ ให้ชัดเจน เปิดกว้างเพื่อเป็นช่องทางให้ผู้นำทหารเข้ามายึดกุมเก้าอี้นี้

จนกระทั่งมาเกิดรัฐประหาร 2534 โดยคณะ รสช. แล้วต่อมาเมื่อเปิดให้เลือกตั้งก็เกิดเหตุการณ์พิสดาร จนหัวหน้าพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้

เปิดช่องให้ผู้นำรัฐประหารได้เข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทน นั่นเพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องเอาไว้

ดังนั้น การประท้วงขับไล่นายกฯ ตระบัดสัตย์ จึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องที่ยกระดับประชาธิปไตย ให้เขียนในรัฐธรรมนูญเลยว่า นายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนฯ ซึ่งเลือกตั้งโดยประชาชน

“หลังรัฐบาลสุจินดาม้วนเสื่อลาออกไป มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ทันที เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์วีรชนที่ยอมสละชีวิตเลือดเนื้อ”

โดยไม่เพียงกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ยังมีการแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นสภาที่มาจากประชาชน เป็นประธานรัฐสภา ส่วนประธานวุฒิสภา ต้องเป็นรองประธานรัฐสภา

“ยกฐานะอำนาจการเมืองในมือประชาชนอย่างยิ่งใหญ่!”

จากนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เขียนชัดเช่นนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเขียนหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ไม่กล้าปฏิเสธประเด็นนี้ ยังกำหนดเอาไว้ต่อไป

เป็นที่รู้กันดีว่าการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้นคือภาคต่อเนื่องจาก 19 กันยายน 2549 โดยภาค 2 มาพร้อมประเด็นต้องไม่ให้เสียของแบบหนปี 2549

“คราวนี้เลยเขียนรัฐธรรมนูญถอยไปไกลสุดกู่ ไม่เกรงใจวีรชน 2535 ที่ยอมตายยอมเสียเลือดเนื้อ เพื่อให้ได้นายกฯ จากการเลือกตั้ง”

โดยเหตุผลของผู้คนในปี 2535 กล่าวไว้ชัดว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเปิดช่องว่านายกฯ มาจากไหนก็ได้ นั่นก็คือเปิดทางให้อำนาจนอกระบบสามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยได้ทุกเมื่อ

ต้องปิดช่องโหว่นี้ และต้องยืนยันว่า การเลือกตั้งโดยประชาชน คือการได้เสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่ที่แน่นอนมั่นคงที่สุด

“การเมืองต้องไม่กำหนดจากคนเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องกำหนดโดยคนส่วนใหญ่ ที่มีผลชี้วัดชัดเจนจากการเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง”

แต่ข้ออ้างในการสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ทำนองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเมื่อปี 2535 มากแล้ว

ถึงแม้ว่าจะพยายามเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ดูซับซ้อน เช่น นายกฯ ไม่ใช่คนนอก โดยต้องอยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอก่อนวันเลือกตั้ง คล้ายจะพยายามอ้างว่า ก็ยังเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะอยู่ในชื่อของพรรคการเมือง

แต่พอมีประเด็น 250 ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ เช่นนี้แล้ว ก็คือกลไกเอารัดเอาเปรียบ และเพื่อการผูกขาดอำนาจยาวนานนั่นเอง

จึงกลายเป็นหนึ่งในชนวนประท้วงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในขณะนี้!!

กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระหึ่มไปทั่วขณะนี้ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง ส.ว.บางส่วนก็ต้องยอมถอย ยอมอ่อนโอนไปกับคลื่นพลังคนรุ่นใหม่ ที่ยืนยันให้ตัดอำนาจ ส.ว.ต้องไม่มีส่วนร่วมโหวตนายกฯ

เพราะคลื่นคนรุ่นใหม่มาแรงอย่างน่าเกรงขาม จนมีเสียงเตือนในหมู่ ส.ว.กันเองว่า ถ้ายังหวงอำนาจนั้นอยู่ ระวังนรกจะมาเยือน

ถ้าหากการแก้รัฐธรรมนูญทำได้จริง ไม่ใช่แค่การออกมาแสดงท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ของฝ่าย ส.ว. เพียงเพื่อลดกระแสเท่านั้น

ถ้ามีการแก้ไขจริง นอกจากต้องตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ออกไป

“ที่จะต้องเพิ่มให้เป็นประชาธิปไตยให้ชัดๆ ก็คือ ต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่า นายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนฯ ผู้ผ่านการลงสมัครเลือกตั้งแล้วเท่านั้นอีกด้วย”

การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 มีผลให้บ้านเมืองเราพ้นจากยุคอำนาจรัฐบาลทหาร เบิกม่านประชาธิปไตยครั้งสำคัญ

การต่อสู้ของประชาชน เมื่อพฤษภาคม 2535 ขับไล่รัฐบาลที่เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐประหาร จนได้ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ ต้องมาจากผู้ผ่านการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วยเสียงจากมือประชาชน ไม่ใช่มาจากเสียงอื่น

แต่ด้วยเหตุการณ์ในปี 2557 มีการก่อม็อบเพื่อล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน แม้รัฐบาลนั้นยอมยุบสภา หาทางออกตามวิถีประชาธิปไตย แต่ม็อบกลับปฏิเสธแนวทางที่ยังรักษาอำนาจของประชาชนเอาไว้

“สร้างวาทกรรมปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้เกิดเงื่อนไขเพื่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และนำมาสู่รัฐธรรมนูญที่ถอยหลังในประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี”

จนกระทั่งพลังนักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ก่อตัวขึ้น เป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงที่สุดในยุคสมัยนี้

เป็นการต่อสู้เพื่อนำบ้านเมืองให้หลุดพ้นจากการโดนฉุดถอยหลังย้อนยุคไปไกลโข

ที่มาของนายกฯ จึงต้องทบทวนกันอีกครั้ง ต้องเชื่อมโยงกับเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งเป็นสำคัญ!