E-DUANG : 19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร สะท้อน อารมณ์ ในทาง”สังคม”

ไม่ว่าจะยอมรับ ไม่ว่าจะไม่ยอมรับ อารมณ์ของสังคมในขณะนี้ที่เด่น ชัดมีอยู่เพียง 2 เรื่องเท่านั้น

1 คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน นักศึกษา

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งเหมือนกับจะกลายเป็นเป้าหมายไปแล้วคือชะตากรรมและอนาคตในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอ ชา ว่าจะเป็นอย่างไร

อย่าได้แปลกใจหากสังคมแทบไม่ได้ให้ความสนใจว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน นายปรีดี ดาวฉาย ซึ่งลาออกไป

เพราะไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็แทบไม่มีความหมายหากว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจยังเป็นชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถามว่าแล้วการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถามว่าแล้วเส้นทางของ 250 ส.ว.จะเป็นเช่นใดสังคมสนใจหรือไม่

ความรู้สึกของสังคมอยู่ที่ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”

 

ที่ความรู้สึก”ร่วม”ของสังคมวางน้ำหนักอยู่ที่”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” มิใช่เพราะว่านี่คือพลังใหม่ที่จะเข้าไปตรวจสอบและถ่วง ดุลแห่งอำนาจในทางการเมือง

การเมืองที่สะสมปัญหาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การเมืองที่กลายเป็น”ทศวรรษแห่งความสูญหาย”

สถานการณ์”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”ได้นำไปสู่การทบทวนครั้งใหญ่ว่าเหตุใดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 จึงได้กลายเป็นปัญหา

ยิ่งกว่านั้น เหตุใดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นการทำซ้ำโดยหวังจะแก้ไขสิ่งที่เรียกว่า”เสียของ”มิให้เสียของอีกต่อไปกลับกลายเป็นพอกพูนปัญหา

ทำให้สังคมประเทศไทยตกอยู่ในภาวะอับจน หมดหนทางไป

หากว่ามีผู้เข้าร่วม”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”จำนวนมหาศาล นั่นคือจุดเริ่มต้นใหม่ทางการเมืองใหม่

 

อย่าได้แปลกใจหากจะมีการเคลื่อนไหวทางทหารอย่างคึกคัก อย่าได้แปลกใจหากจะมีการปล่อยข่าวลือในเรื่องรัฐประหาร

ทั้งๆที่มองเห็นความล้มเหลวมาแล้วจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 จากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คำตอบจึงอยู่ที่”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”