คุยกับ “มิน” เยาวชนวัย 17 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นักเรียนเลว” กิจกรรมมาจากเงิน “ค่าขนม”

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต-นักศึกษาหลายสถาบันที่รวมตัวกันจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยในขณะนี้กำลังลุกลามไปทั่วประเทศ

ปรากฏการณ์น่าสนใจที่เกิดขึ้นควบคู่กันคือมีนักเรียนมัธยมจำนวนมาก ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวพร้อมกับพี่ๆ มหาวิทยาลัย

หนึ่งในกลุ่มนักเรียนมัธยมที่ออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพของเยาวชนโดยต่อเนื่อง ได้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเรียกขานตนเองว่า “นักเรียนเลว”

“The Politics” เพจเฟซบุ๊กข่าวการเมืองในเครือมติชนได้พูดคุยกับ “ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ” หรือ “มิน” หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นักเรียนเลว” ถึงความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่ม และมุมมองส่วนตัวว่าด้วยความแตกต่างระหว่าง “ผู้ใหญ่” กับ “เด็ก” ในยุคปัจจุบัน

ปีนี้ “มิน” มีอายุ 17 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 ในระบบการศึกษาแบบ “โฮมสกูล”

เขาเล่าว่า ตนเองเป็นเด็กนักเรียนที่ขี้เกียจคนหนึ่ง แต่มีความชอบเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของนักเรียน-ครูและสิทธิในโรงเรียนมากเป็นพิเศษ จึงได้พยายามศึกษาค้นคว้าและเรียกร้องสิทธิเรื่องนักเรียนมาโดยตลอด

“ผมมีประสบการณ์เรื่องทรงผมนักเรียนเหมือนกันตอนที่เรียนอยู่ ม.4 ก็พยายามที่จะเรียกร้องสิทธิทางเส้นผมให้กับนักเรียนในโรงเรียน แต่พอเรียกร้องไปกลับถูกคุณครูเรียกไปพบ แล้วเขาก็มาขู่ว่าถ้ายังไม่หยุด วันพรุ่งนี้ก็มาลาออกไปได้เลย เราก็เลยลาออกเลย แล้วมาเรียนในระบบโฮมสกูลแทน”

การพบเห็นพฤติกรรมข่มขู่คุกคามในโรงเรียนคือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่ม “นักเรียนเลว”

“มิน” เล่าว่า เมื่อได้พบเห็นเพื่อนนักเรียนมัธยมหลายคนถูกกระทำ-ถูกคุกคามในเรื่องต่างๆ จึงคิดจัดตั้งกลุ่ม “นักเรียนเลว” ขึ้นมา เพื่อเป็นกระบอกเสียงไม่ให้พวกเขาต้องถูกกระทำตามลำพัง

โดย “มิน” ได้ติดต่อสื่อสารกับบรรดาเพื่อนๆ ผ่านช่องทางทวิตเตอร์เป็นหลัก

“มินเห็นนักเรียนหลายๆ คนเขาถูกกระทำ ถูกคุกคามในโรงเรียนเพียงลำพัง มันไม่มีใครไปช่วยเขา เราเลยคิดว่า ถ้าเกิดเราสร้างแพลตฟอร์มอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมาที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้เขาได้ หรือสามารถฉายสปอตไลต์ไปที่เขาได้ มันก็น่าจะช่วยเขาได้ในระดับหนึ่ง”

ส่วนที่มาของชื่อ “นักเรียนเลว” นั้นเกิดจากคำกล่าวของผู้ใหญ่ที่ได้ยินตั้งแต่เล็กจนโตว่า “เป็นเด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “มิน” และเพื่อนๆ ไม่ได้เชื่อฟังคำสอนกฎเกณฑ์ของบรรดาผู้ใหญ่ไปเสียทั้งหมด พวกเขาจึงตั้งชื่อกลุ่มเคลื่อนไหวของตนว่า “นักเรียนเลว”

“ชื่อกลุ่มมันก็มาจากประโยคที่ผู้ใหญ่ชอบพูดนั่นแหละว่าเป็นเด็กดีต้องเชื่อฟัง เป็นเด็กดีต้องไม่ทำอะไรนอกกรอบ เป็นเด็กดีต้องอยู่ในกรอบ เดินตามไปอย่างเดียว และถ้าเราเริ่มที่จะตั้งคำถามเมื่อไหร่ เราก็จะกลายเป็นเด็กไม่ดีทันทีเลย เราก็เลยตั้งชื่อกลุ่มเราว่าเป็นนักเรียนเลว”

หลังกลุ่ม “นักเรียนเลว” ได้ก่อตั้งขึ้นก็มีการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญ #เลิกบังคับหรือจับตัด เพื่อประท้วงกฎเกณฑ์เรื่องทรงผมในโรงเรียน, การจัดขบวนเดินเท้าเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ, การร่วมกิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่

ตลอดจนการจัดกิจกรรม #เลิกเรียนไปกระทรวง เพื่อเป่านกหวีดขับไล่ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผูกโบ-ริบบิ้นขาวที่รั้วกระทรวง พร้อมกู่ร้องเพลง “ลามะลิลา” อันมีเนื้อหาสุดแสบ

“การทำกิจกรรม ถามว่ากลัวไหม? มันก็กลัวนะ แต่ว่าเราไม่คิดว่าเขาจะกล้าทำกับนักเรียนที่มาเรียกร้องคุณภาพการศึกษาที่ดี คือมันไม่ใช่ประเด็นการเมืองจ๋าขนาดนั้น นี่มันเป็นประเด็นเล็กๆ แค่คุณภาพการศึกษาที่ดี

“ถ้าเกิดคุณขัดขวางหรือคุณมาจับนักเรียนที่เรียกร้องคุณภาพการศึกษาที่ดี มันก็แสดงให้เห็นว่าคุณไม่ต้องการให้ประเทศนี้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีหรือเปล่า?”

ส่วนที่ผู้ใหญ่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าการออกมาเรียกร้องของกลุ่ม “นักเรียนเลว” อาจจะมีผู้สนับสนุนหรือคอยบงการอยู่เบื้องหลัง

“มิน” ยืนยันว่าในการจัดกิจกรรมต่างๆ เหล่านักเรียนได้รวบรวมเงินกันเอง ซึ่งเป็นเงินค่าขนมรายวันที่ได้รับจากผู้ปกครอง

“จริงๆ อยากให้เขาพูดออกมาเลยว่าใครครอบงำเรา เพราะว่าเราก็ทำกันเอง เงินในการเดินทาง ค่ารถไปทำกิจกรรม ค่าอุปกรณ์ พวกเราก็ออกกันเองหมด มันก็เงินจากนักเรียนที่ได้มาจากพ่อ-แม่เป็นค่าขนม

“เราทำกันเองหมด เราก็อยากจะมีเบื้องหลังเหมือนกัน เห็นพูดกันจังเลยว่าเรามีเบื้องหลัง เรามีนายทุน มีนู่นนี่นั่น อยากมีมากเลย ไม่อยากออกตังค์ตัวเองแล้ว”

“มิน” ยังเล่าว่า ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา นักเรียนอย่างพวกเขาคาดหวังให้เสียงของตนดังพอที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่าเพราะเหตุใดการเรียกร้องสิทธิต่างๆ จึงต้องใช้ผู้คนร่วมเคลื่อนไหวจำนวนมาก ถึงจะมีผู้รับฟังความคิดเห็น

ทั้งที่ในความเป็นจริง หากมีคนเพียงคนเดียวไปร้องเรียนเพื่อทวงถามหาสิ่งที่ถูกต้อง เสียงของเขาก็ควรถูกรับฟังใช่หรือไม่

“ผมว่าทุกวันนี้สังคมเดินมาถึงจุดที่มันค่อนข้างที่จะมีตรรกะที่ผิดเพี้ยนแล้วนิดหนึ่ง ว่าทำไมเราถึงต้องใช้คนจำนวนมากในการต้องการสร้างสิ่งที่ถูกต้อง

“การคุกคามนักเรียนมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเอานักเรียนจำนวนมหาศาลเป็นหมื่นเป็นแสนคนมาเพื่อกดดันให้คุณครูทำสิ่งที่ถูกต้อง กดดันให้กระทรวงออกมาปกป้องนักเรียน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว จริงๆ ต่อให้มีคนแค่คนเดียวออกมาพูด ก็ควรรับฟังไหม?”

ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนแสดงความคิดเห็นว่า “นักเรียนเลว” ยังเด็กเกินไป และอาจจะมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่คลาดเคลื่อน

“มิน” กลับเห็นว่าเด็กไทยในสมัยนี้ใช้ชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทันสมัย พวกเขาสามารถค้นคว้าทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการเรียนรู้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสภาวะที่แตกต่างจากอดีต

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้แตกต่างจากผู้ใหญ่ในปัจจุบันมากที่สุด นั่นคือ “การไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง” ของฝ่ายหลัง

“ถ้าพูดกันตามตรง สิ่งที่เรากับเขา-ผู้ใหญ่- ต่างกันมันอาจจะไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่สิ่งที่มันทำให้เราต่างกันคือการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า

“ผู้ใหญ่หลายคนมักจะติดกับภาพจำเดิมๆ ติดกับสิ่งที่เขาเติบโตขึ้นมา ติดกับสภาพแวดล้อมเดิมๆ พอเขาเห็นอะไรมันเปลี่ยนไป เขาก็มักที่จะรู้สึกว่ามันประหลาด แล้วเขาก็จะต่อต้าน”

นอกจากนี้ “มิน” ในนามตัวแทนกลุ่ม “นักเรียนเลว” ยังฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง คุณครู และผู้มีอำนาจในด้านต่างๆ ว่า ขอให้พวกเขายอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเตรียมเปิดใจให้กว้างพอที่จะรับฟังความคิดเห็นจากหลากหลายฝ่าย

“ผมอยากให้เราเปิดใจให้กว้างแล้วก็พยายามเข้าใจว่า จริงๆ โลกเรามันต้องไม่หยุดอยู่กับที่ มันต้องหมุนแล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเพื่อให้สอดรับกับโลกอนาคต

“เพราะฉะนั้น เขาต้องเข้าใจว่าเขาต้องหมุนตัวเองไปตามโลกให้ทัน อะไรมันเปลี่ยนแปลงไปมันคือการวิวัฒนาการ บางทีสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาตลอดคุณอาจจะรู้สึกว่าดี แต่ว่าจริงๆ แล้วพอโลกมันหมุนไป มันอาจจะมีสิ่งที่ดีกว่านั้นเสมอก็ได้ ถ้าเราเตรียมใจไว้แล้วอย่างนี้ มันจะไม่รู้สึกขัดหูขัดตามากขนาดนั้น”

นี่คือหนึ่งเสียงของพลเมืองวัย 17 ปี ผู้เป็นตัวแทนจากกลุ่ม “นักเรียนเลว” ซึ่งต้องการส่งเสียง “เล็กๆ” นี้ให้ดังไกลไปถึงผู้ใหญ่ในประเทศ

โดยหวังว่าผู้มีอำนาจเหล่านั้นจะได้ยินและเปิดใจรับฟัง