บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / ‘ตาสว่าง’ ข้างเดียวหรือเปล่า?

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

 

‘ตาสว่าง’ ข้างเดียวหรือเปล่า?

 

การก่อตัวของม็อบ “เยาวชนปลดแอก” ถูกมองว่าเป็นปรากฏการณ์ปะทะกันระหว่างคนต่างรุ่น คนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า คนหัวก้าวหน้ากับ (ที่ถูกหาว่า) อนุรักษนิยม ระหว่างผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์กับผู้ที่ยังนิยมสถาบันกษัตริย์

พร้อมกันนั้นก็เกิดภาวะบ้านแตกอีกรอบ อันเนื่องมาจากแนวคิดทางการเมืองและทัศนคติต่อสถาบันกษัตริย์ต่างกัน เกิดความตึงเครียดในครอบครัวระหว่างคนรุ่นลูกหลาน กับรุ่นพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย

เยาวชนมองว่าคนรุ่นพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ที่ยังนิยมสถาบันกษัตริย์ เป็นพวกล้าสมัย พวกเขาคิดว่าคนรุ่นพ่อ-แม่ “ไม่ตาสว่าง” เหมือนพวกเขาที่ได้รับข้อมูลจากโซเชียลมีเดียหรือสื่อนิวมีเดียทั้งหลาย

เห็นได้ชัดว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งประสบความสำเร็จสูงมากในการแทรกซึมความคิดของเยาวชนผ่านโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งไปถึงจุดพีกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม บนเวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ

แกนนำการชุมนุม ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงธรรมศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งชอบใส่เสื้อแดงเกือบทุกครั้งเมื่อขึ้นเวที บอกว่าพวกตน “ถีบเพดาน” ทะลุไปแล้ว ดังนั้น หวังว่าคนอื่นจะช่วยกันไปให้ทะลุเพดานต่อไป

อย่างไรก็ตาม “เพดาน” ของน้องคนนั้น ถูกสังคม “ถีบ” กลับมา เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่เอาด้วย เนื่องจากเห็นว่าเกินขอบเขต

 

เข้าใจว่าน้องๆ เกิดความฮึกเหิม เพราะหลงเชื่อว่าพรรคการเมืองที่หนุนหลังอยู่มาให้ความหวังสวยหรูว่า พรรคการเมืองของพวกเขาจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ และจะทำให้ฝัน 10 ข้อของน้องๆ (ที่พรรคการเมืองเขียนสคริปต์ให้) เป็นจริงขึ้นมาได้

แต่ในโลกความเป็นจริงของการเมือง ไม่มีอะไรง่ายดาย ยกเว้นแต่ว่าพรรคการเมืองที่น้องๆ ชื่นชมจะชนะเลือกตั้งถล่มทลาย จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ดูแล้วคงยาก และหากดูอายุของกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว กลุ่มอายุ 18-25 ปีที่เป็นฐานเสียงของพรรคนี้ ไม่น่าจะถึง 10 ล้านเสียง ยังต้องไปสู้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีก 40 กว่าล้านคน

แต่ถึงแม้จะชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ก็ใช่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ หรือทำอะไรก็ตามตามข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ จะกระทำได้โดยไม่ถูกแรงต่อต้านรุนแรงจากประชาชนอีกฝั่ง

 

เด็กวัยมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับยุคของโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู เสพข้อมูลทางสมาร์ตโฟนเป็นหลัก ดังนั้น เป็นการง่ายที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีเป้าหมายเป็นพิเศษจะป้อนข้อมูลด้านเดียวให้กับผู้เสพที่เป็นเยาวชนเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมาด้วยวิธีแยบยล

ข้อมูลที่ถูกป้อนให้กับเยาวชนเสพ มักจะมีเนื้อหามุ่งเชิดชูคุณูปการ คุณงามความดีของคณะราษฎรอย่างเลิศเลอ ขณะเดียวกันก็จะโจมตีสถาบันอื่นให้มีภาพติดลบแบบสุดกู่

แบบเดียวกับตอนที่คณะราษฎรยึดอำนาจ เมื่อ พ.ศ.2475 ที่มีการใช้สื่อโจมตีรัชกาลที่ 7 และราชวงศ์จักรีอย่างรุนแรง เสมือนว่าไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรเลย

แต่ในที่สุดคณะราษฎร ก็ต้องยอมขอขมารัชกาลที่ 7 ฐานให้ร้ายใส่ความเท็จ

วิธีการของคณะราษฎรในการยึดอำนาจก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสูตรสำเร็จของการรัฐประหารในครั้งต่อๆ มา นั่นก็คือสร้างให้อีกฝ่ายเป็นปีศาจ เพื่อให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา จะได้มาสนับสนุนฝ่ายที่จะยึดอำนาจ ดังประโยคที่ว่า “การปฏิวัติจะสำเร็จลงได้ด้วยดีนั้น จะต้องใช้วิธีประณามของเก่าให้เห็นว่าชั่วร้ายเลวทราม แล้วก็เอาของใหม่ที่ได้ปรุงแต่งอย่างสวยสดงดงามเข้ามาแทนที่”

แต่การแก่งแย่งอำนาจกันภายในคณะราษฎร และไม่ได้มีความจริงใจที่จะมอบประชาธิปไตยแท้จริงให้กับประชาชน สุดท้ายรัฐบาลของคณะราษฎรก็ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2490 ปิดฉากการครองอำนาจมา 25 ปี แม้คณะราษฎรจะพยายามยึดอำนาจคืนด้วยการก่อ “กบฏวังหลวง” แต่ก็ไม่สำเร็จ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของคณะราษฎรถูกยึดอำนาจสำเร็จก็คือการไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้กับราษฎร อีกทั้งเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างแพร่หลาย อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรเคยใช้กล่าวอ้างในการยึดอำนาจ

 

ในยุคปัจจุบัน พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ปลุกโหมกระแส “สานต่อภารกิจคณะราษฎร 2475” ให้สำเร็จ ดังนั้น การป้อนข้อมูลเชิดชูคณะราษฎรให้โดดเด่นได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับการพยายามด้อยคุณค่าสถาบันกษัตริย์ ผ่านอาวุธแบบใหม่คือโซเชียลมีเดีย ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและล็อกกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำกว่า ในขณะที่สื่อของคณะราษฎรส่วนใหญ่ผ่านวิทยุและใบปลิว

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายนิยมเชิดชูคณะราษฎร กับฝ่ายที่ยังเห็นคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ มีมาโดยตลอด

หากอยู่ฝ่ายเชิดชูคณะราษฎร การเขียนประวัติศาสตร์ ก็หลีกไม่พ้นที่จะเทน้ำหนักสร้างความชอบธรรมให้กับคณะราษฎร ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นการพยายามรัฐประหารครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ฝ่ายเชิดชูคณะราษฎรจะเขียนประวัติศาสตร์ในทำนองว่า รัชกาลที่ 7 ทรงอยู่เบื้องหลัง ให้เงินทุนสนับสนุนผู้ก่อกบฏ และเหตุที่ทรงสละราชสมบัติก็เป็นเพราะทรงพ่ายแพ้ ไม่สามารถยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎรได้

แต่ประวัติศาสตร์ของอีกฝ่ายบันทึกว่า เหตุที่ทรงสละราชสมบัติก็เพราะพระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำการบริหารบ้านเมืองบางประการแก่คณะราษฎรเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ แต่เมื่อคณะราษฎรไม่ฟังและหวังใช้พระองค์เป็นหุ่นเชิด เพราะเวลานั้นแม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่ประชาชนยังจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ พระองค์จึงสละราชสมบัติเพราะไม่อยากเป็นหุ่นเชิด

สำหรับฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์นั้น หากไปส่องดูตามอินเตอร์เน็ตจะพบว่า มักมีแนวคิดเดียวกันกับคณะราษฎร คือประชาชนเป็นผู้ช่วยกันสร้างและกอบกู้ประเทศ ไม่ใช่กษัตริย์

แต่ในความเป็นจริงไม่ว่ายุคหลายร้อยปีที่แล้ว หรือปัจจุบัน แต่ละสังคม แต่ละองค์กร การจะทำอะไรสำเร็จได้ต้องมี “ผู้นำ” คนที่จะเป็นผู้นำได้ ต้องฉลาด มีสติปัญญาเฉียบแหลมกว่าคนทั่วไป ส่วนพนักงานทั่วไปก็เป็นเพียงผู้ทำตามแผนของผู้นำ

เปรียบเหมือนบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ก็ต้องมีประธานบริหารหรือซีอีโอ เป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร คนจะเป็นซีอีโอได้ก็ต้องมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าคนทั่วไป ฉันใดก็ฉันนั้น การกู้ชาติ นำชาติให้พ้นภัย ในสมัยก่อนก็ต้องมีผู้นำ (กษัตริย์) ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมกว่าชาวบ้านทั่วไปเป็นผู้วางแผน

ด้วยเหตุนั้นการจะบอกว่ากษัตริย์ไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อประเทศ จึงเป็นการพูดเท็จและใส่ร้ายกันเกินไป ดังที่รัชกาลที่ 7 เคยตรัสว่า ข้อกล่าวหาของคณะราษฎรที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาสและหลอกลวงนั้นไม่จริง ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นทรงยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง

“…แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นำ และผู้นำนั้นสำคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสียไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้น เสียใจมาก” นี่คือส่วนหนึ่งที่รัชกาลที่ 7 เคยตรัสไว้ ตอนที่ถูกคณะราษฎรกล่าวหา

เป็นบทตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทรงเสียพระทัยที่สุดก็คือการที่คณะราษฎรกล่าวหาพระองค์และราชวงศ์จักรีอย่างไม่เป็นธรรม

 

ในปัจจุบันการที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เสพข้อมูลทางโซเชียลมีเดียและเข้าไปเป็นสมาชิกเฉพาะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบนโซเชียลมีเดีย และดูเหมือนว่ารับเอาข้อมูลด้านเดียวที่ถูกป้อนเข้าไป แล้วหลงเชื่ออย่างเต็มกำลังว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ 100% จะทำให้ขาดความสมดุลทางข้อมูล นำไปสู่ความคิดสุดโต่ง

เยาวชนคิดว่าข้อมูลที่พวกเขาเสพผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ “ตาสว่าง” แต่สิ่งที่ต้องหยุดคิดก็คือ บางครั้งข้อมูลที่ว่านั้นอัดแน่นไปด้วยอคติเกลียดชังเพียงอย่างเดียว แถมปลอมข้อมูลเอาดื้อๆ

ที่คิดว่าทำให้ “ตาสว่าง” นั้น เอาเข้าจริงอาจ “สว่างข้างเดียว” อีกข้างยังมืดบอดอยู่ เพราะเลือกที่จะเสพเฉพาะสิ่งที่ตนเชื่อ