เทศมองไทย : ระเบิดหมื่นล้าน ใครทำ?

ระเบิดต่อเนื่องเป็นชุดกว่า 10 ลูก ในหลายจังหวัดที่เป็น “หัวใจ” ของแหล่งท่องเที่ยว ทั้ง หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, ภูเก็ต, พังงา และสุราษฎร์ธานี ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 4 ราย ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ส่งผลสะเทือนต่อการท่องเที่ยวอย่างหนัก ประเมินกันว่าเป็นหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรายใดเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ตาม

ในยามที่การท่องเที่ยวไทยไม่เพียงแค่บูมอย่างยิ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นหลักอีกด้วย สำหรับทางการไทย ระเบิดหนนี้จึงเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ไม่ดีเอามากๆ

เมื่อมีนัยสำคัญถึงเพียงนั้น คำตอบของคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาหลังเสียงระเบิดว่า “ใครทำ?” จึงมีความหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เพราะหากรู้ตัว “กลุ่ม” หรือ “ฝ่าย” ที่ลงมือหรืออยู่เบื้องหลังได้ อาจบอกกับเราได้เป็นเลาๆ ว่า เหตุการณ์นี้เป็น “หนังสั้นตอนเดียว” หรือ “ซีรี่ส์ร้อยตอน” กันแน่

 

บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศหลากหลาย พูดคลับคล้ายกันว่า ถึงเวลานี้ กับหลักฐานเท่าที่มีอยู่ ยังยากที่จะสรุปได้ว่า เหตุระเบิดสะเทือนขวัญหนนี้เป็นฝีมือกลุ่มไหนกันแน่

“เจตนา” นั้นดูได้ไม่ยากจากทั้งจังหวะเวลาและสถานที่ ซึ่งเลือก “วันหยุดยาว” และ “แหล่งท่องเที่ยว” เป็นสำคัญ ปัญหาอยู่ที่ “มูลเหตุจูงใจ” ต่างหากว่าทำไมจึงเจาะจงทำลายอุตสาหกรรมที่กำลังขึ้นหน้าขึ้นตาของประเทศเช่นนี้

เป็นการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของผู้ก่อความไม่สงบจากชายแดนใต้? ก็เป็นไปได้ เป็นการท้าทายอำนาจการปกครองที่อยู่ในมือทหาร? ก็เป็นไปได้อีกเช่นเดียวกันเมื่อคำนึงถึงว่า เหตุเกิดหลังผ่านวันทำประชามติมาหมาดๆ ซีเอ็นเอ็น, บีบีซี, เอพี หรือแม้กระทั่งรอยเตอร์ ก็เสนอทัศนะเอาไว้เป็นแนวทางคร่าวๆ ในทำนองนี้

ที่แตกต่างออกไปชัดเจน เพราะฟันธงประเด็นนี้ไว้อย่างหนักแน่น ก็คือ แอนเดอร์ส เองวาลล์ นักวิจัยประจำสำนักเศรษฐศาสตร์แห่งสตอกโฮล์ม สวีเดน ที่ศึกษาวิจัยปัญหาสามจังหวัดภาคใต้มานานกว่าทศวรรษ

เองวาลล์ให้สัมภาษณ์ อดัม แรมซีย์ แห่งอัลจาซีราไว้เมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า หลักฐานชนิดของระเบิดที่ได้ รวมไปถึงรูปแบบปฏิบัติการ ล้วนเชื่อมโยงอย่างชัดเจนไปยังกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย ที่ทั้งวางระเบิด ซุ่มยิง และวางเพลิง อยู่เป็นกิจวัตร

รูปแบบอย่างหนึ่งที่ไม่เพียงแต่เองวาลล์เท่านั้นแต่ยังมีผู้ที่เกาะติดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หลายคนชี้ว่า “ถอดแบบ” กันออกมาจากวิธีการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัด ก็คือกลยุทธวางระเบิดที่เรียกกันว่า “ดับเบิล แทป”

จุดระเบิดลูกแรกขึ้นก่อน เรียกความสนใจและการกลุ้มรุมกันเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อที่อยู่ในเหตุการณ์ ก่อนที่จะจุดระเบิดลูกที่สองตามมา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นความตายให้มากที่สุด

แต่ทางการไทยกลับยืนกรานว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเองวาลล์เห็นว่า เป็นการพูดไป “คนละทาง” กับหลักฐาน

เขาถึงกับประชดประชันเอาไว้ว่า ต่อให้ศาลตัดสินออกมาว่าอย่างนั้น รัฐบาลก็จะยังคงบอกว่าไม่เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้อยู่ดี


ทําไมต้องทำอย่างนั้น เองวาลล์ให้เหตุผลเอาไว้ว่า

ประการแรกเพราะต้องการปกป้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ถึงตอนนี้มีมูลค่าสูงกว่า 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไปแล้ว

ประการถัดมา เองวาลล์เชื่อว่า เป็นเพราะรัฐบาลไทยยังต้องการจำกัดปัญหาที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทยให้ยังคงเป็นเพียงเรื่อง “ภายใน” ท้องถิ่นของไทยเท่านั้น

“ทางการไทยพยายามอย่างมากเท่าที่ผ่านมาในอันที่จะเลี่ยงการเข้ามาเกี่ยวข้องของนานาชาติในความขัดแย้งนี้ไม่ว่าจะเป็นในชนิดหรือรูปแบบไหนก็ตาม ดังนั้น จึงทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้ยูเอ็น (สหประชาชาติ) หรือชาติตะวันตกเข้าไปเกี่ยวข้อง”

 

มูลเหตุจูงใจ?

เองวาลล์เชื่อว่า ผลประชามติที่ผ่านมาอาจเป็นตัว “เร่ง” ให้เกิดปฏิกิริยาครั้งนี้ขึ้น เพราะเชื่อว่าการที่ทหารยังคงอำนาจอยู่ต่อไปกระทบต่อโอกาสที่การเจรจาสันติภาพที่เริ่มกันไปครึ่งๆ กลางๆ ให้ยืดยาวและลดทอนความสำเร็จลงทุกที เขาบอกว่ากลุ่มก่อความไม่สงบปฏิบัติการมาต่อเนื่องนานถึง 12 ปีแล้ว มีผลสำเร็จเพียงน้อยนิด

“10 วันแรกของเดือนสิงหา พวกนี้ก่อเหตุวางระเบิดแบบเดียวกันนี่แหละถึง 50 ครั้งในพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่มีใครสนใจ” นั่นคือแรงจูงใจที่ทำให้ต้อง “ออกมาข้างนอก” และ “มุ่งหน้าขึ้นเหนือ” มา เพื่อให้ “บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางการเมือง” ของตน

นั่นหมายความว่า ถ้าสิ่งที่ แอนเดอร์ส เองวาลล์ วิเคราะห์เอาไว้เป็นจริง ระเบิดหมื่นล้านหนนี้ก็เป็นเพียงแค่ “หนังตัวอย่าง” เท่านั้นเอง