ทำไมจึง “จิตว่าง” พุทธทาสภิกขุ วิสัชชนา จิตว่างอันธพาล

ทำไมจึง “จิตว่าง” พุทธทาสภิกขุ วิสัชชนา จิตว่าง อันธพาล

เริ่มจากคำถาม เขาหาว่า ท่านอาจารย์กล่าวว่า คำสูงสุดของพระพุทธเจ้าคือคำว่า “จิตว่าง” นี้จะว่าอย่างไรครับ

ท่านพุทธทาสภิกขุตอบว่า

คำว่า “จิตว่าง” นี้เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ให้พวกเราเรียนง่าย จำง่าย พูดกันง่าย คำว่า “จิตว่าง” นั้นน่ะไม่มีตัวหนังสือโดยตรง แต่มีความหมายที่อาจสรุปความหมายได้อย่างนั้น

ข้อนี้จงช่วยกันฟังให้ดีว่าเรื่องคำว่า “ว่างๆๆ” นี้คือคำสูงสุดในพระพุทธศาสนา

คือ ว่างจากตัวตน ไม่ใช่ว่างอันธพาล หรือว่างไม่มีอะไร ว่างไม่คิดนึกอะไร นั้นไม่ใช่ “จิตว่าง” ในที่นี้

จิตว่างในที่นี้ คือ “จิตว่างจากความยึดมั่นว่า ตัวกูว่าของกู”

จิตจะคิดอะไรก็ได้ นึกอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ขอแต่มันว่างจากความมั่นหมายเป็นตัวกู-ของกู ก็เรียกว่า “จิตว่าง”

มูลเหตุดั้งเดิมของมันมีอยู่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “จงเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง” หรือสุญโญนั้นคือว่าง

ว่างจากอะไร

ท่านได้ตรัสว่า “อัตเตนะ วา อัตตะนีเยนะ วา สุญโญ โลโก-โลกว่างจากตัวตน ว่างจากของตน”

ท่านย้ำ ท่านสอน ท่านขอร้องหรือปลอบโยนอะไรก็ตามเถอะว่า เธอจงมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง มันว่างจากความหมายแห่งตัวตน ว่างจากความหมายแห่งของตน

พอจิตมันเห็นว่างจากตัวตน ว่างจากของตนในสิ่งทั้งปวง อย่างนี้แล้ว จิตมันก็ไม่รู้จะไปหยิบไปฉวยอะไรเอามายึดถือเป็นตัวตนของตน

จิตที่ไม่ได้ฉวยเอาอะไรมาเป็นตัวตนนี้เราเรียกว่าจิตมันว่าง

ถ้าจิตมันไปกำ ไปกุม ไปจับเอาอะไรมาเป็นตัวตนของตนแล้ว จิตมันก็ไม่ว่าง เพราะว่าจิตมันติดอยู่กับสิ่งที่มันจับฉวยยึดถือ

ฉะนั้น คำว่าจิตว่างนี้เป็นคำที่ถอดรูปมาจากพระพุทธวจนะหลายๆ ข้อ

เช่นว่า “เธอจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง โลกว่างจากตัวตน ว่างจากของตน”

เมื่อจิตมันเห็นโลกว่างจากตัวตน ว่างจากของตนแล้ว มันก็ไม่อาจจะจับฉวย ยึดถืออะไรโดยอัตโนมัติขึ้นมาเอง

อย่างนี้แหละอาตมาเรียกว่า “จิตว่าง”

คิดนึกอะไรก็คิดได้ แต่ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ในใจไม่มีความยึดถือโดยความหมายแห่งตัวตน แต่เมื่อต้องติดต่อทางสังคม ปากมันก็ต้องพูดตามภาษาชาวบ้าน บางทีก็พูดว่าบ้านของฉัน เงินของฉัน หรือว่าการรักษาประโยชน์ของตน จะเป็นถ้อยเป็นความกันที่โรงที่ศาล อ้างสิทธิของตน

อย่างนี้ก็ยังทำได้ตามแบบของชาวบ้าน แบบของชาวโลก แต่ในใจของบุคคลนั้นอย่าได้ยึดถือโดยแท้จริงว่า มันเป็นทรัพย์สินเงินทองของตน มันจะกัดเอาเจ็บปวดในใจ

ปากนี้อาจจะพูดว่าลูกของกู แต่ในใจที่มันรู้ธรรมะแล้วมันเห็นว่าไม่มี ไม่มีของกู ไม่มีความหมายแห่งของกู มันเป็นของอิทัปปัจจยตาเท่านั้นแหละ

บุตรหลานที่ออกมาเป็นแถวนี้มันเป็นของอิทัปปัจจยตาเท่านั้น

ถ้าเห็นความจริงข้อนี้อยู่ แม้ว่าปากมันจะพูดว่าลูกของกู เรียกว่าลูกของกู อ้างสิทธิว่าลูกของกู ในเมื่อจะอ้างตามกฎหมาย เป็นต้น มันก็ต้องอ้าง แต่ในใจมันไม่มีความหมายมั่นเป็นตัวกู เป็นของกู

ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของก็เหมือนกันแหละ เมื่อยึดว่าเป็นตัวกู ของกูมันก็เป็นทุกข์

แม้เอาเงินไปฝากธนาคารแล้วยังยึดว่าเป็นของกูอีก มันก็นอนไม่หลับ มันก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่เท่าไรมันก็เป็นโรคประสาท

นี่เรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู มันมีอยู่อย่างนี้

ถ้ามันมีเต็มอยู่ในใจ จิตมันก็ไม่ว่าง ถ้ามันไม่มีในใจเลย จิตมันก็ว่าง พอจิตว่างเราก็สบาย เย็นเราก็นอนหลับ แล้วก็เป็นสุข

ไม่มีทุกข์

นี่คือว่าจิตว่างเป็นคำพูดที่อาตมาถือว่าเป็นคำที่เหมาะสมที่สุด รัดกุมที่สุด ง่ายที่สุดสำหรับการศึกษา แต่ขอยกเว้นจิตว่างอันธพาล

จิตว่างอันธพาลนั้นเป็นทางออกของอันธพาล อันธพาลเขาใช้เป็นทางออกเพื่อจะแก้ตัว จึงเรียกว่าจิตว่างอันธพาล ใช้แก้ตัวว่าจะได้ทำอะไรตามชอบใจ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่บาป ไม่อะไร อย่างนี้เป็นจิตว่างอันธพาล

มันว่างแต่ปาก ปากมันว่าแต่ในใจยึดถือเต็มที่ นั้นมันจิตว่างอันธพาล

ถ้าจิตว่างโดยแท้จริง ไม่ต้องพูดออกมาเลยก็ได้ ปากหุบเงียบ ไม่ต้องพูดดอกว่าจิตว่าง อะไรว่าง จิตนี้ไม่ยึดถืออะไรเป็นของตนก็พอ

เพราะคำว่า “จิตว่าง” เป็นคำที่ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้เสนอ โดยถอดมาจาก “สุญญตา” หรือ “ศุนยตา” คำนี้จึงกลายเป็นประเด็น

เป็นประเด็นให้เกิดการถกเถียง เป็นประเด็นให้เกิดการตอบโต้ยืดยาว

จำเป็นต้องตอบและอรรถาธิบายอย่างยาว