บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /เจตนา ‘ยั่วยุ’ ให้จับ สร้างเงื่อนไข ‘นองเลือด’??

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เจตนา ‘ยั่วยุ’ ให้จับ

สร้างเงื่อนไข ‘นองเลือด’??

 

ดูเหมือนสถานการณ์การเมืองเริ่ม “เปราะบาง” มากขึ้น หลังจากม็อบทางการเมืองยกระดับการชุมนุมขึ้นมาในลักษณะคล้าย “ยั่วยุ” ให้ฝ่ายตรงข้ามโกรธ ด้วยการโจมตีสถาบันกษัตริย์โจ่งแจ้งขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีเพียงการปล่อยให้มีการชูป้าย เหน็บแนม ส่อเสียดสถาบันกษัตริย์เข้าไปแซมระหว่างการชุมนุม ก็เพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วยการปราศรัยอย่างเปิดเผย เช่น กรณีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่นายอานนท์ นำภา ปราศรัยประเด็นสถาบันกษัตริย์

นายอานนท์ นำภา ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นทนายเสื้อแดง ดังนั้น ไม่ต้องบรรยายมากก็ต้องรู้จุดยืนของนายคนนี้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

นายอานนท์เข้าร่วมเวทีเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ในครั้งนั้น มีผู้ชุมนุมบางคนถือป้ายข้อความไม่เหมาะสมที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ถูกสังคมติติง

แต่นายอานนท์และแกนนำเยาวชนกลุ่มนั้นอ้างว่า เจตนาการชุมนุมมีเพียง 3 ข้อ คือ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยุบสภาและหยุดคุกคามประชาชน ไม่มีเจตนาจะแตะต้องสถาบันกษัตริย์ พร้อมกันนั้นก็อ้างว่าพวกตัวเองถูกใส่ร้ายเพราะฝ่ายตรงข้ามต้องการดิสเครดิตพลังเยาวชน (ที่อ้างว่าบริสุทธิ์)

ส่วนนายอานนท์อ้างว่า คนที่ถือป้ายดังกล่าวเข้าไปในที่ชุมนุมเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับแกนนำจัดม็อบ ซึ่งไม่สมเหตุผล เพราะถ้าแกนนำที่จัดม็อบต้องการป้องกันปัญหานี้อย่างจริงใจ ก็ต้องมีการจัดคนสอดส่องดูแลหรือประกาศเตือนกัน แต่การไม่ทำอะไรเลยก็เท่ากับหลิ่วตา สมรู้ร่วมคิดไปโดยปริยาย

ตั้งแต่นั้นมา เวทีชุมนุมของเยาวชน นักศึกษาเหล่านี้ ก็มีการชูป้ายจาบจ้วงมาโดยตลอด โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของฝ่ายที่รักสถาบันกษัตริย์ เจตนาคล้ายจะท้าทาย ยั่วให้โกรธ เจ็บใจมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่ทำให้สถานการณ์การเมืองเข้าสู่ภาวะ “เปราะบาง” มากที่สุด ก็คือการปราศรัยของนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนเวทีม็อบย่อยที่ใช้ชื่อว่า มอกะเสดและกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย ที่ดูจะถูกอกถูกใจฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์

อันที่จริงเวทีนี้ก็เป็นเครือข่ายเดียวกับเยาวชนปลดแอกนั่นเอง แต่ที่น่าสังเกตคือมีข้อเรียกร้องที่เน้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์เป็นการเฉพาะ และนายอานนท์ใช้เวทีนี้กล่าวโจมตีสถาบันกษัตริย์อย่างที่เรียกว่า “เต็มที่” คาดว่าการใช้เวทีนี้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็เพื่อต้องการจะถนอมรักษาภาพพจน์ของม็อบเยาวชนปลดแอกว่าไม่ได้แตะต้องสถาบันกษัตริย์ เพื่อจะรักษาแรงสนับสนุนจากมวลชนนั่นเอง

แต่อันที่จริงเป็นการแยกหน้ากันเล่น เพราะแม้จะมีหลายชื่อ หลายกลุ่ม แต่มีเป้าหมายเดียวกัน เพราะบัดนี้กลุ่มม็อบทั้งหมดใน 6 ชื่อ 6 กลุ่ม หลอมรวมกันเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ซึ่งช่างบังเอิญคล้ายกับชื่อของ “คณะก้าวหน้า” อันน่าจะต้องการเชื่อมโยงให้คนคิดถึง “คณะราษฎร์” นั่นเอง

แม้นายอานนท์จะปราศรัยโดยอ้างว่าพูดด้วยความจงรักภักดีเพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์ แต่แท้จริงแล้วหลายอย่างที่กล่าวออกมาปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเจตนาทำให้คนเสื่อมศรัทธา และหลายประเด็นมีลักษณะ “กล่าวหา” อย่างเลื่อนลอย

การปราศรัยโจมตีสถาบันอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะของนายอานนท์ คาดว่าต้องการ “เปิดหัว” เพื่อกระตุ้นให้เวทีม็อบเยาวชนทั้งหมด “กล้า” จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ เพราะจะเห็นว่าหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมบนสกายวอล์กแถวสยามสแควร์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ก็มีผู้ปราศรัยเชิญชวนให้นักศึกษา “เลิกรับปริญญา”

 

จากนั้นต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ยกระดับไปสู่ขั้น “เหิมเกริม” มีทั้งการปราศรัย การฉายภาพเชิดชูบุคคลที่โจมตีสถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่องซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

น่าสังเกตว่า การที่นายอานนท์ “กล้า” โจมตีสถาบันกษัตริย์ แบบไม่กลัวอะไรเลยครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาพูดว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระเมตตา ไม่โปรดให้ใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งการออกมาพูดเรื่องดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นหลังจากมีกลุ่มคนทั้งในและต่างประเทศยังคงเคลื่อนไหวใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์

แต่ พล.อ.ประยุทธ์คงจะประเมินผิดพลาด เพราะแทนที่จะได้ผลลัพธ์ในทางที่ดี คือลดการจาบจ้วง แต่กลับเป็นว่าเปิดช่องให้คนกลุ่มนี้ย่ามใจมากขึ้น เพราะรู้ว่าถึงแม้จะจาบจ้วง กล่าวหารุนแรงอย่างไร รัฐบาลก็คงไม่กล้าใช้มาตรา 112 เล่นงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อฝ่ายรัฐบาลไม่กล้าดำเนินการอะไร ก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่ยังรักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์ จนคนเหล่านี้ต้องออกมาแสดงตัวปกป้อง พร้อมกันนั้นก็โกรธเคืองรัฐบาลที่ไม่จัดการอะไร

เมื่อรัฐบาลไม่กล้าทำอะไร ประชาชนอีกกลุ่มก็ต้องออกมาบนท้องถนน อย่างที่เห็นกันแล้ว ที่เริ่มมีม็อบสองฝ่ายออกมาเผชิญหน้ากัน เหมือนได้ดูหนังเรื่องเดิมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่นำมาฉายใหม่

 

การใช้เยาวชนและนักศึกษาออกนอกหน้าในการบ่อนเซาะสถาบันกษัตริย์ ทำให้รัฐบาลรับมือและจัดการได้ยากกว่าคราวเสื้อแดง เพราะมีความอ่อนไหวสูง หากทำอะไรไปก็จะถูกนานาชาติตำหนิได้ว่าปิดกั้นเสรีภาพของพลังเยาวชนที่บริสุทธิ์ (จะบริสุทธิ์จริงหรือไม่ ไม่มีใครกล้ารับประกัน)

กลุ่มม็อบหรือผู้ยุยงม็อบรู้เป็นอย่างดีว่ามีจุดแข็งตรงที่มีเกราะของความเป็นนักศึกษาและเยาวชนปกป้อง ดังนั้น พวกเขาจะกล้าทำอะไรโดยไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย จะยกระดับยั่วยุไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทนไม่ไหวและเข้าจับกุม

เมื่อเข้าจับกุมก็ “เข้าทาง” พวกเขาพอดี ที่จะเรียกร้องเสียงสนับสนุนจากต่างชาติ แบบเดียวกับที่เยาวชนฮ่องกงเคยทำมาแล้ว

เด็กวัยมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัย อยู่ในวัยห้าว คึกคะนอง ชอบเข้ากลุ่ม ทำตามกลุ่ม มีความมั่นใจตัวเองสูงอย่างผิดๆ เพราะคิดว่าตัวเองรอบรู้หมดทุกอย่างแล้ว

การคิดเช่นนั้นเพราะโลกยังแคบ เนื่องจากยังผ่านประสบการณ์ชีวิตมาไม่มาก แม้พวกเขาจะคิดว่าตัวเองรู้มากเพราะดูสื่อโซเชียลเยอะ แต่ประเด็นคือความสามารถในการเลือกเสพและคัดกรองข้อมูล การมองสิ่งต่างๆ ในหลากหลายมุมและหลายมิติ ยังเป็นจุดด้อยของคนวัยนี้

ฝ่ายถือหางม็อบเยาวชน-นักศึกษา ที่ตอนนี้ออกมาแสดงตัวกันครบแล้ว เรียกร้องไม่ให้มีการจับกุม และมักพูดว่าฝ่ายรัฐบาลอย่าจัดม็อบมาเผชิญหน้ากับนักศึกษา

แต่สังเกตไหมว่าพวกเขาไม่เคยเรียกร้องให้ม็อบลดการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่จุดแตกหักลงเลย กล่าวคือ จะให้ฝ่ายที่นิยมสถาบันกษัตริย์เป็นฝ่ายถอยหรือสงบปากสงบคำอย่างเดียว ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก

 

ดูจากสถานการณ์แล้วตัวเอ้ในม็อบบางคนน่าจะต้องการยั่วยุให้ฝ่ายรักสถาบันโกรธ ด้วยการโจมตีสถาบันกษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ไหวและเกิดการทำร้ายกันถึงขั้นนองเลือด เสร็จแล้วก็จะกล่าวหารัฐบาลว่ารู้เห็นเป็นใจให้มีการทำร้ายพวกตน

ตามธรรมชาติแล้ว ความศรัทธาในบางสิ่งที่แรงกล้า ทั้งเรื่องสถาบันกษัตริย์หรือศาสนา เป็นเรื่องอ่อนไหว ถ้าไปล่วงล้ำก็เสี่ยงจะเกิดอันตรายกับผู้ล่วงล้ำ เพราะศรัทธาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ต่อให้ไม่มีหน่วยงานรัฐรู้เห็นเป็นใจ การลงมือโดยปัจเจกบุคคลอย่างเป็นเอกเทศก็เกิดขึ้นได้

หากจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซ้ำรอยในครั้งนี้ จะมาอ้างว่านักศึกษา-เยาวชนถูกใส่ร้ายไม่ได้แล้ว เพราะครั้งนี้ชัดเจนมาก และฝ่ายผู้ชุมนุมต้องยอมรับว่าตัวเองคือฝ่ายยั่วยุ

ถ้าทุกฝ่ายมีเจตนาดี ไม่อยากให้เกิดการนองเลือดในแผ่นดินอย่างที่ปากพูด ก็ต้องช่วยกันถอนฟืนออกจากกองไฟ

แต่ดูแล้วฝ่ายหนุนหลังม็อบนักศึกษาน่าจะมีเป้าหมายให้เกิดการนองเลือด เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะโค่นล้มรัฐบาลได้