สมชัย ศรีสุทธิยากร | รัฐธรรมนูญยากปะผุ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

กระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกระหึ่มไปทั่วทุกเวทีที่มีการชุมนุมทางการเมือง

แต่ไม่มีการลงในรายละเอียดมากนักว่าต้องการแก้ในเรื่องอะไร เพียงแต่รับรู้กันทั่วไปในทำนองว่าแก้ให้เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น แก้ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อให้คนบางคนได้เปรียบและสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้

บทความที่จะเขียนต่อไปนี้จึงเป็นการรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเรียบเรียงจากการอภิปรายในการประชุมของกรรมาธิการวิสามัญแก้รัฐธรรมนูญฯ ที่ประชุมถกกันในรายละเอียดเรียงหมวดเรียงมาตรา

โดยจัดแยกเป็น 3 กลุ่มเรื่อง คือ

1)แก้ในส่วนที่นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในสังคมและไม่เป็นประชาธิปไตย

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้นถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่คนกลุ่มหนึ่งให้สามารถมีแต้มต่อในทางการเมืองที่เหนือกว่า โดยให้มีบทเฉพาะกาลที่กำหนดจำนวน ที่มา และบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภาที่ล้ำเส้นการทำหน้าที่ทางการเมือง

เช่น ไปทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีในขณะที่ตนเองก็มาจากการคัดเลือกจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และยังให้สมาชิกวุฒิสภาชุดดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกด้วย ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นของความขัดแย้งในสังคมและไม่เป็นประชาธิปไตย โดยจำเป็นต้องมีการแก้ไขในรายมาตราดังนี้

มาตรา 256 แก้ในส่วน (3) และ (6) ที่การลงมติเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงข้างมากจากรัฐสภา โดยในจำนวนดังกล่าวต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยอย่างน้อยหนึ่งในสาม หรือประมาณ 84 คนขึ้นไป ให้ตัดในส่วนที่ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยหนึ่งในสามออกไปโดยให้คงไว้เฉพาะได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา และแก้ไข (8) ในส่วนของการที่ต้องทำประชามติซึ่งไม่จำเป็นออกไป อันเป็นหลักการเดิมที่เคยระบุในรัฐธรรมนูญทั้งของปี พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 และเพิ่มเติมให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ

มาตรา 269 เป็นเรื่องที่มาของ ส.ว. 250 คนในบทเฉพาะกาลว่ามาจากการคัดเลือกของ คสช.โดยตรง 194 คน มาโดยตำแหน่งจากข้าราชการประจำที่มีตำแหน่งสูงสุดด้านความมั่นคง 6 คน และจากการเลือกด้วยวิธีการรับสมัครตามสายอาชีพ ให้มีการคัดเลือกกันเองตามขั้นตอนและจบที่ให้ คสช.เป็นผู้เลือกในขั้นสุดท้าย 50 คน

การออกแบบในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการให้เห็นถึงการครอบงำสภาสูงโดย คสช.อย่างชัดเจน ซึ่งผลของการดำเนินการนั้นได้สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นเครือข่ายของ คสช.ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการรัฐประหาร อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปฯ อดีตรัฐมนตรี และญาติพี่น้องของผู้มีอำนาจมากกว่าจะได้บุคลากรที่เหมาะสมมาทำหน้าที่วุฒิสภา

ข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ จึงเป็นข้อเสนอที่มุ่งขุดรากถอนโคนเครือข่ายของ คสช.และให้วุฒิสภามีที่มาจากความหลากหลายอาชีพเพื่อทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

แม้ฝ่ายที่เห็นต่างจะบอกว่า ภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องชั่วคราวเพียง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างเหมาะสม

แต่ผลงาน 1 ปีที่ผ่านมาของวุฒิสภา ไม่ได้แสดงให้เห็นคุณค่าหรือคุณประโยชน์เท่าที่ควร เสียงเรียกร้องจึงไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องยกเลิก ส.ว.จาก คสช. 250 คน

มาตรา 272 เป็นเรื่องบทบาทของวุฒิสภาในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตรัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีกระทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

แต่มาตรานี้มาจากผลของการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ที่มีคำถามพ่วงระบุว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

แม้ผลของการลงประชามติในคำถามพ่วงดังกล่าว มีประชาชนเห็นชอบ 15,132,050 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 58.07 แต่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2562 แบบตอบแทนบุญคุณผู้คัดเลือกด้วยคะแนน 249 เสียง งดออกเสียง 1 เสียงคือประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา และการทำหน้าที่ในการกำกับให้เกิดความต่อเนื่องของการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาตินั้นล้มเหลวแบบสุดๆ คือ ไม่สามารถกำกับแม้กระทั่งให้รัฐบาลส่งรายงานการปฏิรูปทุกสามเดือนตามที่ระบุไว้ในมาตรา 270 ได้

อย่างนี้ยังจะให้วุฒิสภาทำหน้าที่ดังกล่าวอีกหรือ

มาตรา 279 เป็นการรับรองความถูกต้องความชอบธรรมของการกระทำใดๆ ของ คสช.ก่อนหน้า ปัจจุบันและอนาคตว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปีกที่เอาจริงเอาจังกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่ามาตราดังกล่าวเป็นการรับรองความชอบธรรมของการกระทำรัฐประหาร หากยังคงอยู่จะเป็นแบบอย่างให้มีการกระทำรัฐประหารอีกไม่รู้จบ ทำให้การรัฐประหารเป็นเรื่องที่ได้รับความชอบธรรม

อย่างไรก็ตาม การร่างกฎหมายในลักษณะนิรโทษกรรมดังกล่าวนี้ ปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ร่างขึ้นมาหลังการกระทำรัฐประหาร นับแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เป็นต้นมา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการบังคับใช้กฎหมาย จึงอาจเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไขหรือไม่ โดยฝ่ายที่ต้องการไปให้สุด จึงบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยบางกลุ่มจัดให้มาตรา 279 นี้เป็นลำดับความสำคัญแรกด้วยซ้ำ

ยกร่าง หมวด 11 และ หมวด 12 ใหม่ ตั้งแต่มาตรา 200 ถึง มาตรา 246 โดยเป็นเรื่องคุณสมบัติ กระบวนการได้มา บทบาทหน้าที่ และกระบวนการตรวจสอบการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากการกำหนดคุณสมบัติที่มีในรัฐธรรมนูญนำไปสู่การผูกขาดการดำรงตำแหน่งที่สงวนไว้ให้แก่ข้าราชการระดับสูงมาปฏิบัติหน้าที่ต่อในองค์กรอิสระ และยังสร้างกลไกที่ขาดการกำกับตรวจสอบการทำงาน ประชาชนไม่สามารถเข้าชื่อกันถอดถอน วุฒิสภามีอำนาจในการลงมติเลือกแต่ไม่มีอำนาจในการลงมติถอดถอน

และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่ประชาชนว่าทำงานด้วยความอิสระเป็นกลางหรือมุ่งรับใช้ผู้ที่สรรหาคัดเลือกเข้ามาในยุค คสช.

2)แก้ในส่วนที่นำไปสู่การเมืองไร้เสถียรภาพ

การออกแบบกลไกการเลือกตั้ง โดยให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวและให้คำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีจากคะแนนรวมของพรรคการเมืองทั้งประเทศก่อนที่จะนำกลับไปคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับที่เรียกกันแบบงงๆ ว่า ระบบการจัดสรรปันส่วนผสม การออกแบบดังกล่าวมีผลทำให้ต้องมีการกำหนดวิธีการคำนวณที่พิสดาร มีการปัดเศษทศนิยมให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็ก จนทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้คะแนนทั้งประเทศไม่ถึงเกณฑ์เฉลี่ยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไป 1 คน ถึง 11 พรรคการเมือง เป็นผลให้รัฐสภาในปัจจุบันประกอบด้วยพรรคการเมืองถึง 26 พรรค รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากพรรคการเมืองถึง 20 พรรค เป็นพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค

มาตรา 90 ถึงมาตรา 94 จึงเป็นประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข โดยมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต และบัตรเลือกพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในรูปแบบที่ประชาชนคุ้นเคยจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550

แนวคิดในการแก้ไขดังกล่าวได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือแม้กระทั่งประธานวุฒิสภาก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่สมควรแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่า การยอมแก้ไขของฝ่ายรัฐบาล สืบเนื่องจากเกรงว่าในการเลือกตั้งในอนาคต หากยังใช้กติกาบัตรใบเดียว ฝ่ายตนเองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ดังนั้น จุดยืนในการแก้ไขจึงเป็นจุดยืนเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนเองมิใช่จากหลักการที่ควรจะเป็น

3)แก้ในส่วนที่นำไปสู่ข้อขัดข้องและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ยังมีอีกหลายประเด็นของรัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ ในมาตรา 65

การกำหนดรายละเอียดของการปฏิรูปประเทศ ในหมวด 16 ตั้งแต่มาตรา 257-261 การกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุกสามเดือน ตามมาตรา 270 ซึ่งทั้งฝ่ายรัฐบาล หน่วยงานราชการ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรยอมรับตรงกันว่าเป็นการกำหนดที่ไม่สามารถดำเนินการอย่างมีคุณภาพได้ และเป็นภาระในการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าจะเป็นประโยชน์

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งหากจะลงในรายละเอียดยังมีอีกมาก จึงจบลงด้วยข้อสรุปว่า คงปะผุต่อไปไม่ไหว ร่างกันใหม่เถอะครับ