มนัส สัตยารักษ์ | แค่ปฏิรูปคงไม่พอ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีรองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส กระทิงแดง” ทุกข้อหา และ ปรท. ผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งอัยการ ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอื้ออึงในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย

แต่ประชาชนทั่วไปต่างเห็นตรงกันว่า คำสั่งไม่ฟ้องขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบหลังเกิดเหตุเมื่อ 8 ปีก่อน

ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แถลงข่าว หรือตอบคำถามสื่อมวลชนแบ่งออกเป็น 2 ฟากโดยธรรมชาติ คือฟากที่เป็นห่วงกระบวนการยุติธรรมกับฟากของผู้ต้องหา

แน่นอนว่าตำรวจและอัยการอยู่ในกลุ่มหลัง การพูดเพื่อปกป้ององค์กรของตัวเองจึงเท่ากับปกป้องผู้ต้องหาโดยปริยาย บ้างก็ตะกุกตะกัก แถไปแถมาจนสีข้างถลอกปอกเปิก บ้างก็แสดงความมั่นใจแถไปทื่อๆ แต่ไม่น่าเชื่อถือ

ตัวอย่างเช่น นายตำรวจชั้นนายพลชี้แจงว่า “ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ข้อหาขับรถแล้วเสพโคเคนไม่มี จึงไม่ได้ตั้งข้อหานี้”

เมื่อข้อความนี้ปรากฏในข่าวและถูกนำมาประจานในเฟซบุ๊ก มีนายตำรวจรุ่นน้อง “ทัก” ว่า “ท่านพูดถูก ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ข้อหาขับรถแล้วเสพโคเคนไม่มี แต่ข้อหาเสพโคเคน ตามกฎหมายยาเสพติด-มี”

เมื่อแพทย์ตรวจพบว่ามีสารโคเคนในร่างกายของบอส ที่ถูกที่ควรตำรวจต้องแจ้งข้อหาตามกฎหมายยาเสพติด แต่ไม่แจ้ง นายตำรวจรุ่นน้องจึงคอมเมนต์ในน้ำเสียงโอดครวญว่า “สงสารรุ่นน้องตำรวจบ้าง”

อย่าว่าแต่ตำรวจรุ่นน้องเลยครับ ตำรวจรุ่นลุงอย่างผมก็โอดครวญด้วยความเจ็บปวดเช่นกัน

หลังเกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนกันทุกราย มีบุคคลบาดเจ็บ ล้มตาย หรือทรัพย์สินเสียหาย มีระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือกฎหมาย ให้ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนส่งคนขับรถทั้ง 2 ฝ่ายให้แพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันมิให้ตำรวจใช้ดุลพินิจไปตามลำพัง

ในการตรวจโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ของแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ อาจจะพบสารแปลกปลอม รวมทั้งสารเสพติดในร่างกายหรือในเลือดด้วย สารแปลกปลอมและสารเสพติดส่วนใหญ่จะทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะผิดไปจากปกติ

จะอย่างไรก็ตาม การพบสารเสพติดทำให้ตำรวจต้องตั้งข้อหาตามกฎหมายยาเสพติด

ฟังที่คณะทำงานของอัยการออกมาแถลงการณ์และตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แล้วเคลิ้มๆ จะหลงประเด็นไปตามๆ กัน ราวกับว่าใครจะถูกหรือผิดอยู่ที่ความเร็วของเฟอร์รารี่แล่นด้วยความเร็วไม่ถึง 80 ก.ม./ช.ม. หรือมากกว่า 80 ก.ม./ช.ม.

อดคิดด้วยความเศร้าใจไม่ได้ว่า ถ้าความเร็วของรถยนต์ 79.99 ก.ม./ช.ม. นายบอสมีความชอบธรรมที่จะไม่ถูกฟ้อง แต่ถ้าความเร็ว 80.01 ก.ม./ช.ม. อัยการจะมีสิทธิ์ฟ้องนายบอส

แต่ความจริงการสั่งไม่ฟ้องอยู่ตรงที่อัยการเลือกที่จะเชื่อพยานที่มาให้การในปี 2560 และไม่เชื่อพยานในวันเกิดเหตุเมื่อปี 2555 ความผิดตกอยู่กับผู้ตาย (ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาที่ 2)

เหตุที่อัยการให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานในปี 2560 อ้างว่าได้รับคำร้องขอความเป็นธรรมจากนายบอส ถ้าผมเป็นพนักงานสอบสวนผมคงจะถามว่า ทำไมท่านนายพล (ทหารอากาศ) ไม่แสดงตัวและขอให้การเป็นพยานหลังเกิดเหตุปี 2555 เมื่อพบว่าตำรวจทองหล่อไม่ให้ความเป็นธรรมต่อนายบอส?

และถ้าอัยการเชื่อถ้อยคำของพยาน 2 ปากที่ให้สอบสวนเพิ่มเติม ทำไมอัยการจึงไม่แนะนำตำรวจให้ตั้งข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล” ด้วย จากหลักฐานในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด หลักฐานการตรวจพบสารโคเคนในร่างกาย ตลอดจนรอยครูดจากการที่รถยนต์ลากรถ จยย.ไปตามพื้นถนนเป็นระยะทางยาว

หรือว่า 3 หลักฐานข้างต้นนี้ไม่มีในสำนวนการสอบสวน!

แม้พิรุธของ 2 พยานที่อัยการให้ตำรวจสอบเพิ่มเติมจะมีมากมายประการใดก็คงจะไม่มีประโยชน์ เพราะคณะทำงานของอัยการล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญทางกฎหมายสามารถหักล้างได้หมดทุกกรณี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้อดมองในแง่ร้ายไม่ได้ว่า พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ทั้งการตรวจที่เกิดเหตุ รอยเบรก รอยครูดบนถนน สภาพรถที่ชนและถูกชน หรือการตรวจในวันรุ่งขึ้นจากที่เกิดเหตุ เช่น ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด หรือสารแปลกปลอมหรือยาเสพติดในร่างกาย เหล่านี้จะถูกตีความว่าเป็น “ของเก่า” ปี 2555 มันจะเป็น “พยานหลักฐานใหม่” ในปี 2563 ได้อย่างไร?

ถ้าเราเคร่งครัดกับนิยามคำว่า “หลักฐานใหม่” ที่ว่า “หมายถึงหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาก่อน” ก็เห็นจะต้องรอการสอบสวนของคณะกรรมการชุดที่อาจารย์วิชา มหาคุณ เป็นประธานกระมัง

กําลังจะยุติความคิดอันสับสนเรื่อง “สั่งไม่ฟ้องบอส กระทิงแดง” อยู่แล้ว เพื่อรอผลการสอบสวนของอาจารย์วิชา มหาคุณ

แต่แล้ววันรุ่งขึ้น (ที่ 5 สิงหาคม) ได้อ่านบันทึกข้อความของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เรื่อง “การแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา” มีข้อความปรากฏรายละเอียดค่อนข้างยาว พูดถึงทุกแง่มุมที่สังคมกำลังถกเถียงกัน

ที่ตรงกับความสนใจของประชาชนที่กำลังสับสนก็คือ ท่านฟันธงว่า “คำสั่งไม่ฟ้องบอส กระทิงแดง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม”

มีรายละเอียดว่า นายวรยุทธร้องกรรมาธิการ สนช. และตามข่าวมีการกล่าวอ้างว่า คณะกรรมาธิการมีการสอบพยานบุคคล 2 ราย และมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเรื่องความเร็วรถ หลังจากนั้นได้ส่งรายงานและหนังสือไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องเด็ดขาดไปแล้ว

การร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธนี้ หลังจากที่อัยการสูงสุดท่านเดิม (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมแล้ว

อ่านบันทึกของประธาน ก.อ. ที่มีถึงอัยการสูงสุดฉบับนี้แล้วรู้สึกหายห่วงองค์กรตำรวจไปได้หน่อยหนึ่ง แต่กลับเป็นห่วงองค์กรอัยการมากกว่า นายตำรวจที่เป็นตัวละครในเรื่องนี้อยู่ในเกณฑ์ที่พอจะแก้ตัวได้ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” (ฮา)

การสั่งไม่ฟ้องครั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความถึงความยุติธรรมในประเทศไทยว่า “รู้สึกอนาถใจ…แค่ปฏิรูปคงไม่พอ”

นายพีระพันธุ์ อดีตเป็นผู้พิพากษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื้อความที่โพสต์ทำให้เข้าใจสภาพของความยุติธรรมในประเทศไทย ผู้ที่สนใจในปัญหาของกระบวนการยุติธรรมหรือสนใจในความไม่ชอบมาพากลของคดีนายวรายุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจถึงแก่ความตาย อาจจะหาอ่านได้ในสื่อต่างๆ เพราะเขียนอย่างผู้ที่รู้จริงและตรงไปตรงมา

และในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีนายพีระพันธุ์เป็นที่ปรึกษา ขอแนะนำให้อ่านโพสต์นี้และขอคำปรึกษาจากนายพีระพันธุ์ด้วย เพื่อว่าท่านจะได้เข้าใจคำว่า “ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย” และคำว่า “วัฒนธรรมลอยนวล” ที่สื่อญี่ปุ่นให้ฉายาท่านด้วย

ความบิดเบี้ยวของการสอบสวนและสั่งคดีเรื่องนี้ ทุกคนรู้ดีว่าเริ่มต้นมาจากคนใน “คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ” ของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (ซึ่งท่านใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้งเข้ามา) เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น

ถ้าผลสุดท้ายยังมีปรากฏการณ์ “ลอยนวล” เอาผิดใครไม่ได้อีก คราวนี้ท่านต้องรับผิดชอบ