ธงทอง จันทรางศุ | ภาษีเปลี่ยนพฤติกรรม

ธงทอง จันทรางศุ

ที่ดินแปลงติดกันกับบ้านของผมทางด้านหลัง มีเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา

สูสีใกล้เคียงกันกับบ้านของผมเป็นอย่างยิ่ง

ที่ดินแปลงที่ว่าเป็นที่ดินว่างเปล่ายังไม่มีใครมาปลูกสร้างบ้านเรือนหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นใด เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเต็มพื้นที่ ที่เป็นต้นใหญ่จริงๆ ก็เป็นต้นมะขามขนาดยักษ์ อยู่ตรงตำแหน่งแทบจะกลางที่ดินเลยทีเดียว

แถมด้วยต้นมะม่วงขนาดเขื่องอีกสองสามต้น

เพียงแค่นี้ก็ทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวร่มครึ้มและดูสบายตามากเพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวของต้นไม้ใบไม้

ความร่มเย็นนี้ยังเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาจนถึงบ้านของผมซึ่งอยู่ติดกันด้วย

อยู่มาวันหนึ่งเมื่อประมาณสองสามเดือนก่อน ผมตื่นนอนมาตอนเช้าก็ได้ยินเสียงอื้ออึงขึ้นในบริเวณที่ดินแปลงนั้น มองชะโงกข้ามกำแพงไปมองเห็นผู้คนกำลังใช้เครื่องมือรื้อถอนต้นไม้ที่มีอยู่ทั้งต้นใหญ่ต้นน้อยออกไปจนราบเรียบภายในเวลาเพียงแค่สามวัน คราวนี้เหลือแต่ที่ดินเปล่าเลยครับ

ด้วยความสอดรู้สอดเห็นในฐานะเพื่อนบ้านที่ดี ผมได้ทำทีเลียบเคียงเดินผ่านไปด้านหน้าที่ดินแปลงนั้นเสียหน่อยหนึ่ง เพื่อสืบความว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังบ้านของผม จะปลูกบ้านปลูกคอนโดฯ หรือจะปลูกอะไรก็ให้บอกมา

คำตอบที่ได้รับชวนหงายหลังเป็นอันมาก เพราะคนงานบอกว่าท่านผู้เป็นเจ้าของคิดจะปลูกผักครับ

จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ ต้องตามดูกันต่อไป

แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นความจริง เรื่องแบบนี้ก็พอเข้าใจได้ เพราะผมได้เห็นที่ดินแปลงหนึ่งริมถนนรัชดาภิเษก ใกล้กันกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ราคาที่ดินถ้าซื้อขายกันเห็นจะตารางวาละหลายแสนบาท ท่านผู้เป็นเจ้าของได้ปลูกมะนาวจนเต็มที่ดินไปหมด เห็นแล้วเปรี้ยวเข็ดฟันเป็นอันมาก

แน่นอนว่า ถ้าคิดผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การนำที่ดินใจกลางเมืองที่มีมูลค่าสูงขนาดนั้นมาปลูกมะนาว ไม่ว่าจะกินเองหรือจะขายใครก็ตามดูจะไม่คุ้มกับการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง

แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าสาเหตุที่มีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเพราะมีการออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าในอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ที่ดินได้รับการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า มีการกระจายการถือครอง และขณะเดียวกันรัฐก็ได้ประโยชน์ในเรื่องของการเก็บภาษีเข้ามาใช้สอยด้วย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีที่ดินแล้วทิ้งว่างเปล่าไว้เฉยๆ จึงตกเป็นเป้าหมายสำคัญของกฎหมายภาษีฉบับที่ว่า

ถ้าจะวางแผนภาษีเพื่อผันผ่อนให้ตัวเองไม่ต้องจ่ายเงินค่าภาษีมาก ก็ต้องนำที่ดินนั้นไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ปล่อยให้วัชพืชขึ้นรกเรื้อ การใช้ประโยชน์นี้รูปแบบที่ง่ายที่สุดคือการนำไปใช้เพื่อการเกษตร จะปลูกกล้วยปลูกอ้อยปลูกมะนาวหรืออะไรก็ได้

แต่ต้องมีจำนวนมากเพียงพอที่จะเข้ากฎเกณฑ์กติกาของทางราชการนะครับ

ไม่ใช่ว่ามีที่ดิน 200 ตารางวาปลูกมะนาวสองต้น แล้วจะรอดเงื้อมมือคนเก็บภาษีไปได้

การใช้มาตรการทางภาษีให้เหมาะสม นอกจากจะได้ภาษีมาเป็นรายได้ของแผ่นดินแล้ว ยังเกิดผลพลอยได้ขึ้นอีกหลายอย่าง มีทั้งแบบที่คาดถึงและคาดไม่ถึงครับ

เวลาผมสอนหนังสือวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผมพูดทีเล่นทีจริงอยู่บ่อยครั้งว่า การที่ผลไม้เมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ลิ้นจี่ ทุเรียน หรืออะไรก็แล้วแต่ ความรสอร่อยล้ำเลิศยิ่งกว่าเมืองอื่น นอกจากจะเป็นผลงานของชาวสวนในการคัดเลือกพันธุ์ได้ดีแล้ว ยังเป็นผลงานของนักกฎหมายด้วย

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่านักกฎหมายไปช่วยเขาทำสวนนะครับ

หากแต่เป็นเพราะว่านโยบายภาษีของเราในสมัยก่อนนั้น การเก็บภาษีของทางราชการใช้วิธีการที่สะดวกแก่การตรวจสอบ จะไปมัวนั่งนับว่าผลไม้มีกี่ลูก หนักกี่กิโลกรัม ขายได้กี่บาทกี่สลึงเฟื้อง ปวดหัวตายเลยครับ

เจ้าพนักงานภาษีจึงใช้วิธีนับต้นไม้ ว่าสวนขนาดนี้ปลูกผลไม้อะไรได้กี่ต้น นับตามจำนวนต้นแล้วก็คิดภาษีไปตามนั้น

สำนวนโบราณเรียกว่า “เดินสวน” หมายความตรงไปตรงมาว่ามีเจ้าหน้าที่ไปเดินนับต้นไม้ตามสวนว่ามีอยู่กี่ต้นแล้วคิดอัตราภาษีคูณเข้าไป ได้ผลลัพธ์เป็นตัวเงินที่เจ้าของสวนต้องจ่ายเงินให้กับทางราชการ โดยมิพักต้องคำนึงว่า ต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้จะออกลูกดกหรือไม่อย่างไร อร่อยหรือไม่ ขายได้ราคาแพงไหม

เมื่อทางราชการมาไม้นี้ หัวอกเจ้าของสวนก็ต้องคิดหาทางสู้ โดยต้องคัดเลือกพันธุ์ที่จะปลูกผลไม้ในสวนของตัวเองให้เป็นพันธุ์ดีวิเศษ ทั้งดกทั้งอร่อยทั้งขายได้ราคา ต้นไหนไม่ผ่านคุณสมบัติดังที่ว่าก็แพ้คัดออก

นานปีเข้าสวนผลไม้บ้านเราก็เหลือแต่ต้นไม้ที่ให้ผลอร่อยหอมหวานถูกปากคนกิน ต้นไหนไม่อร่อยก็ไม่เก็บเอาไว้ทำพันธุ์

นักกฎหมายรุ่นโบราณจึงมีคุณูปการต่อผลไม้เมืองไทยด้วยประการฉะนี้

นี่คือตัวอย่างของการใช้มาตรการภาษีที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม

อีกเรื่องหนึ่งที่เราเคยได้ยินกันมาตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กคือสิ่งที่เรียกว่าการส่งเสริมการลงทุน เรื่องนี้เป็นราชการแผ่นดินสำคัญจนต้องตั้งกรมขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่โดยเฉพาะ การส่งเสริมการลงทุนนั้นใช้วิธีการหลายอย่างผสมรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการได้หยิบยืมใช้สอยในอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ การยกเว้นหรืออนุญาตให้มีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในกิจการที่เราส่งเสริมเพื่อถ่ายทอดความรู้จากต่างเมืองเข้ามาสู่ประเทศของเรา

และมาตรการอีกเรื่องหนึ่งที่จูงใจเป็นอย่างยิ่งคือเรื่องของภาษี

เป็นต้นว่า ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมชนิดนั้น การลดหย่อนภาษีเงินได้ในช่วงแรกที่กิจการเพิ่งตั้งเนื้อตั้งตัว

เรื่องภาษีนี้ทำได้อีกหลายอย่างครับ

เราไม่อยากให้รถเก่าวิ่งวนเวียนอยู่บนท้องถนนเพราะเกิดมลพิษได้ง่ายเนื่องจากความชำรุดและชราของเครื่องยนต์ เราก็วางมาตรการให้เจ้าของรถยนต์ที่มีอายุมากแล้วต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ยิ่งอายุรถยนต์มากขึ้นก็ต้องเสียภาษีมากขึ้น

แบบนี้ก็ได้ผลทางอ้อมที่ทำให้รถยนต์เก่าหายไปจากท้องถนนเพราะถูกกำจัดโดยผู้เป็นเจ้าของเองที่ไม่อยากแบกรับภาษีหนักเกินสมควร

เราไม่อยากให้คนสูบบุหรี่มาก นอกจากหารูปน่ากลัวสยดสยองพองขนมาติดไว้ข้างซองบุหรี่แล้ว หมัดน็อกเรื่องหนึ่งก็คือการเก็บภาษีบุหรี่ให้แพงสุดใจขาดดิ้น ใครจะมีปัญญาสูบบุหรี่ก็ต้องมีปัญญาเสียภาษี

ภาษีที่เก็บได้ก็นำไปใช้หมุนเวียนกลับมาให้เป็นประโยชน์สำหรับการรักษามะเร็งปอดของคนสูบบุหรี่ ให้ได้สัดส่วนสมน้ำสมเนื้อกัน

ส่วนเหลือจากนั้นจะเอาไปใช้อะไรก็ตามใจ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในชีวิตของเรา คือนโยบายของรัฐที่ท่านต้องการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักอดออมและลงทุนเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมของเรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น นึกออกใช่ไหมครับว่า ในแต่ละปีถ้าเรามีรายได้มากพอที่จะมีรายเหลือ การนำเงินทุนเหล่านั้นไปลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดว่าจะได้ผลประโยชน์ลดหย่อนทางภาษีก็เป็นเรื่องจูงใจที่ทำให้คนทั้งหลายสนใจทำตามที่รัฐบาลท่านขุดบ่อล่อเราเอาไว้

เรื่องนี้ทุกคนก็เห็นด้วยและเข้าใจอยู่ ปัญหามันติดอยู่นิดเดียว

ตรงที่รายเหลือไม่มีนี่แหละครับ เลยไม่รู้จะเอาที่ไหนไปเก็บไปออม

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้มีรายได้มากพอจะต้องคิดวางแผนภาษีให้ดีคือเรื่องของเงินบริจาคซึ่งสามารถนำมาหักลดหย่อนได้เมื่อถึงเวลาต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปี บริจาค 1,000 บาทแล้วหักลดหย่อนได้ 1,000 บาทนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

แต่ถ้าบริจาค 1,000 บาทแล้วสามารถนำไปหักลดหย่อนได้สองเท่า เสมือนกับว่าบริจาค 2,000 บาท

อ๊ะ! อันนี้ก็น่าสนใจนะครับ

รายการบริจาคประเภทนี้ได้แก่รายการบริจาคให้แก่โรงพยาบาลและสถานศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องกุศลสาธารณะ แต่คนไทยทั่วไปไม่ค่อยคุ้นเคยเหมือนกันกับการบริจาคให้วัดวาอารามต่างๆ ซึ่งคุ้นเคยอยู่ในดีเอ็นเอมาแต่ไหนแต่ไร

เพื่อที่จะผันเงินบริจาคมาสู่โรงพยาบาลและโรงเรียนทั้งหลาย การหักภาษีได้สองเท่าแบบนี้ได้ผลไม่เลวเลยทีเดียวครับ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาทำให้สถานพยาบาลและสถานศึกษาทั้งหลายได้รับเงินบริจาคเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างมีนัยยะสำคัญ

เมื่อสองวันที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้พบกับท่านผู้ใหญ่ของกระทรวงวัฒนธรรมพูดกันถึงเรื่องทำนองนี้ ท่านถามผมว่า ไม่รู้หรอกหรือว่าบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ก็ได้ลดหย่อนสองเท่าเหมือนกัน

แหม! ผมไปอยู่ไกลปืนเที่ยงที่ไหนมาหนอจึงไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย

รู้อย่างนี้แล้วต้องยอมอดมื้อกินมื้อ พอให้เหลือเงินบำนาญไปบริจาคให้พิพิธภัณฑ์บ้างเห็นดี

ตั้งแต่อายุ 60 ปี ดูฟรีเขามาหลายรอบแล้วนี่นา

นี่จะเริ่มอดมื้อดึกตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปแล้วละนะ จะบอกให้