ใส่บ่าแบกหาม /พรพิมล ลิ่มเจริญ /Greyhound

ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ

Greyhound

 

เธอจ๊ะ

เห็นคลิปหนึ่งในทีวีมีผู้ใหญ่คนหนึ่งถามเด็กนักเรียนคนหนึ่งว่า เคยไปประเทศไหนมาบ้าง?

เขาถามโดยมีวัตถุประสงค์จะเช็กความรู้นักเรียน ใจความสำคัญประมาณว่า ความรู้ที่นักเรียนมีนั้นจะได้มาจากไหนหรือ ถ้าไม่เคยไปประเทศอื่นเลย?

นักเรียนตอบว่า ไม่เห็นต้องไปประเทศไหนเลย อินเตอร์เน็ตก็มี

ผู้ใหญ่คนนั้นค้านและยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ได้สิ ต้องไปเห็นของจริงมาก่อน

คลิปนี้สะดุดใจฉัน เพราะฉันได้ดูหนัง Greyhound นี้อยู่พอดี

Greyhound เป็นหนังสงคราม สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ถ้าใช้ตรรกะของผู้ใหญ่คนนั้น นั่นคือต้องออกไปเห็นสงครามของจริง

เมื่อไม่เห็น เราก็ไม่น่าจะมีความรู้เรื่องสงครามใดๆ ได้ มันใช่ไหม?

ถ้าฉันเป็นเด็กคนนั้น ฉันก็คงอึ้งๆ ไปพักใหญ่ เราจะตอบคำถามเขาอย่างไรกันดี ถ้าคนคนหนึ่งเชื่อว่าความรู้ต้องมาจากการพบเห็นของจริงเท่านั้น?

ความรู้ที่ฉันได้มาจากในหนังก็เยอะ โดยเฉพาะเรื่องสงคราม มันเริ่มจากการดูหนัง แล้วก็ไปหาหนังสือ บทความ ข่าวสารมาอ่าน ฉันเรียนรู้เรื่องสงครามไหนๆ ก็อย่างนี้จนเป็นแพตเทิร์นแล้ว

สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี สงครามครูเสด หรือจะแตกแยกย่อยเป็นสงครามกลางเมืองของอเมริกา สงครามของสกอตแลนด์ที่มี Sir William Wallace ที่เมล กิ๊บสัน กำกับฯ เรื่อง Brave Heart สงครามครั้งปฏิวัติฝรั่งเศส ตลอดจนสงครามระหว่างดวงดาวอย่างสตาร์วอร์ส

เราไม่เคยไปรบ เราก็รู้จักสงครามได้ เราไม่เคยไปอวกาศ เราก็รู้เรื่องดาวอังคารได้ เหมือนเรื่องใดๆ ในโลก อินเตอร์เน็ตมันเป็นเครื่องมือนำเราไป ความรู้ได้ง่ายดายที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงหาได้แล้วในตอนนี้

แต่การอธิบายให้ผู้ที่คิดและเชื่อว่าเราต้องพบเจอของจริงเท่านั้นเราจึงจะมีความรู้ได้ เป็นเรื่องยาก ไม่รู้จะเริ่มอธิบายกันตรงไหนเลยจริงๆ หนา ต้องใช้ความอุตสาหะอีกอักโขที่จะอธิบาย

 

เหมือนอย่างสงครามครั้งนี้ที่ Greyhound อยู่ในนั้น นั่นคือสงครามโลกครั้งที่ 1 กลุ่มเรือรบอเมริกันต้องออกเดินทางคุ้มกันเรือขนส่งสินค้า พากันข้ามน้ำข้ามทะเลแอตแลนติกไปประเทศอังกฤษ แล้วถูกเรือดำน้ำของเยอรมันโจมตีที่กลางทาง

Greyhound นำแสดงโดย Tom Hanks ขวัญใจของเรา และเรื่องนี้พี่ทอมเขียนบทเองด้วย เป็นบทภาพยนตร์ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Good Shepherd เขียนโดย C. S. Forester ที่วางขายในปี ค.ศ.1955 คนละเรื่องกับ The Good Shepherd ที่เกี่ยวกับซีไอเอเรื่องนั้น

Greyhound เป็นหนังที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ตั้งใจจะเข้าโรงฉายในเดือนมิถุนายน แล้วก็จำต้องเลื่อนไป เดือนต่อมาก็ลงฉายในช่อง Apple TV ซะงั้นเลย! ฉันออกจะเสียดายแทน

หนังสงครามเรือรบลำโตในมหาสมุทรอันแสนกว้างใหญ่ ถ้าได้ดูบนจอใหญ่ๆ มันจะดีเลิศประเสริฐศรีกว่านี้เยอะเลย!

 

Greyhound เป็นชื่อเล่นหรือชื่อเรียกของเรือรบ ฝรั่งเรียก call sign จะได้ติดต่อกันสะดวก เรื่องนี้เรือรบไปเป็นขบวนมีชื่อมากมาย Harry, Victor, Eagle, Dodge, Vasco, Southland, Corning, Paumbarten, Powell ฯลฯ ครั้งนี้มีเรือร่วมขบวนทั้งของอเมริกาและของประเทศพันธมิตรก็ร่วม 37 ลำ

พี่ทอม แฮงก์ส รับบทเป็น Commander Ernest Krause

เริ่มเรื่องก็ด้วยการนัดคู่รักมาร่ำลาก่อนออกเดินทางไกล และยังเป็นการเดินทางครั้งแรกกับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการเรือ

ใจจริงพี่ผู้บัญชาการเรืออยากให้คู่รักไปด้วยกัน แต่คู่รักปฏิเสธ ไม่ใช่ไม่รัก แต่ไม่ไป จึงได้แต่คำอำลา

No matter where I am.

Even if I’m a thousand miles away,

I will be hoping I’ll see you

come around the corner.

ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน

ต่อให้ไกลกันตั้งพันไมล์

ผมก็หวังจะได้เห็นคุณ

เดินมาจากมุมถนนอยู่ดี

พี่ผู้บัญชาการเรือเป็นคนอ่อนหวาน และสุภาพ

ขึ้นเรือไปวันแรกก็ต้องจัดการปัญหาลูกเรือชกกันเสียแล้ว

I will tolerate

no more fisticuffs

on my ship.

ผมจะไม่ยอมให้มีการชกต่อย

บนเรือของผมอีกต่อไปแล้ว

พี่ผู้บัญชาการเรือบอกเรียบๆ แต่เด็ดขาด

Repetition will bring hell down

from on high.

ถ้าทำอีกจะสั่งลงโทษ

bring hell down from on high ไม่ปรากฏว่าเป็นสำนวนมีมาแต่เดิม หาเจอแต่ hell down ก็หมายความว่า หายนะจะบังเกิด โดยบริบทนี้ของทหารเรือก็คือถูกลงโทษ ส่วน from on high ก็น่าจะแปลว่าจากเบื้องบน นั่นก็คือผู้บังคับบัญชาสั่งตรงลงมา

จะว่าไปทหารเรือนี้เขาก็พูดเพราะนะ

Your helmet, sir.

Shall I see it stowed away?

หมวกครับท่าน

ผมเอาไปเก็บให้

หัวหน้าพูดกับลูกน้องก็เพราะ ลูกน้องพูดกับหัวหน้าก็เพราะ ตื่นเต้นสิ หนังที่มีทหารของไทย เจ้านายพูดไม่เพราะอยู่บ่อยๆ เรียกลูกน้องว่าไอ้ บางทีก็มีกูมึง

แต่ก็แหละคำหยาบคาย บางทีก็ใช้แสดงความสนิทสนม

 

ตอนออกเดินทาง เหล่าเรือทั้งหลายก็จะมี air cover นั่นก็คือ การเดินทางไปในการรบจะเป็นทางบกหรือทางน้ำก็ได้โดยมีเครื่องบินบินคุ้มกันไปด้วย

cover อ่านว่า คัฟ-เวอร์

ชาวไทยอ่านว่า โคฟ-เวอร์ อยู่เนืองๆ เพราะคงเห็นเป็นตัวโอ เลยออกเสียงตามสระโอ เวลานักร้องเอาเพลงคนอื่นมาร้องก็จะเรียกสั้นๆ ว่าเอามาโคฟ แบบนี้เรียกว่าอ่านตามความนิยมได้สินะ อย่างที่ราชบัณฑิตยสถานสภาเขาอ้างอยู่บ่อยๆ เขาใช้หลักคิดนี้บ่อยมากจนฉันเลยอยากใช้บ้าง โคฟ-เวอร์ เป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษต้อง คัฟ-เวอร์ นะคะนักเรียน!

อันที่จริงดูหนังผ่านสตรีมมิ่งนี่มันดีนะ เราหยุดเองได้ เรื่องของเรื่องคือ ในหนังเขาพูดบ่อยๆ เดี๋ยวๆ “port” เดี๋ยวๆ “starboard” พอพูดบ่อยมากๆ เข้า ฉันต้องหยุดหนังไม่สักครู่แล้วละ มาจัดการคำศัพท์สักแป๊บหนึ่งก่อน

port และ starboard คือขวาและซ้าย port คือด้านซ้าย เป็นด้านที่ใช้เทียบท่า ใช้เป็นทางขึ้น-ลง เลยเรียก port ส่วน starboard อ่านว่า สตาร์เบิร์ด คือด้านขวา ซึ่งแต่ก่อนที่เป็นเรือมีพายยื่นออกมา ที่เรียก steering oars ความหมายเดียวกับ starboard นั่นเอง

เรื่องราวตื่นเต้นก็เกิดที่ระหว่างการเดินทาง ที่มีช่วงหนึ่งเรียกว่า Black Pit เป็นช่วงที่เครื่องบินคุ้มกันจากฝั่งอเมริกาบินไปจนสุดทางสุดกำลังแล้ว คุ้มกันไกลกว่านี้ไม่ได้แล้ว ส่วนฝั่งอังกฤษก็ต้องเดินทางไปอีกประมาณ 50 ชั่วโมงเห็นจะได้ เครื่องบินเขาถึงจะบินมารับและคุ้มกันต่อได้ และตรงนั้นเองที่กองทหารนาซีของเยอรมันส่งเรือดำน้ำมาบุกโจมตี

ฉากรบกันระหว่างขบวนเรือรบกับเรือดำน้ำตื่นเต้นมาก สมัยนั้นยังมีตอร์ปิโด บังคับเรือให้หลบระยะวิถีตอร์ปิโดได้ และมีฉากเศร้า เรือถูกถล่มยิง ลูกเรือ 3 คนเสียชีวิต แต่บนเรือไม่มีที่ให้พอเก็บศพได้ เพราะเรืออีกลำระเบิดล่มไปก่อนหน้า ต้องรับผู้รอดชีวิตขึ้นเรือมา จึงต้องส่งศพลงท้องทะเล ให้ท้องทะเลเป็นเรือนตาย

การเตรียมการพิธีใช้เวลาไม่มาก เพราะอยู่ระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวาน 10 นาทีเตรียมเสร็จ ลูกน้องบอก

Of course. All hands.

ดี ทุกคนนะ

All hands. เป็นสำนวน หมายถึง ทุกคนบนเรือ ในที่นี้คือให้มาร่วมพิธี

มีสำนวน all hands on deck คล้ายๆ กัน อันนั้นใช้เวลากิจกรรมหนึ่งหรือสิ่งที่ต้องทำโดยที่ต้องการให้ทุกคนมาช่วยกันทำให้สำเร็จ

พี่ทอม แฮงก์ส แสดงดี เขียนบทก็ดีมาก หนังเขาดีจนเสียดายที่ไม่ได้ดูในโรง และดีใจมากที่พี่ทอมเขารักษาหายจากโควิด-19 เป็นแล้วรักษาหายได้สิน่า ฉันดีใจที่ได้รู้ความจริงข้อนี้จากพี่เขา

ฉันเอง