มนัส สัตยารักษ์ | น้ำผึ้งหยดเดียว ยาพิษหลายหยด!

ไม่อยากเขียนเรื่องอัยการสั่งไม่ฟ้องบอส กระทิงแดง ด้วยเหตุผล 3 ประการ

1. ใครต่อใครเขียน “ทัก” กันมากแล้ว สรุปได้ว่า “ทำระบบยุติธรรมพังทลาย”

เรื่องวิปริตร้ายแรงขนาดหนักแบบนี้ ไม่มีใครปล่อยให้ผ่านเลยไปอย่างเงียบเชียบหรอก วันดีคืนดีก็จะส่งเสียงอื้ออึงออกมา ทำนองเดียวกับเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน หรือเรื่องยาเสพติดกลายเป็นแป้งนั่นแหละ

2. “คดีบอส กระทิงแดง” ยังไม่จบหรือยังไม่ถึงที่สุด แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยรองโฆษก สตช.จะให้สัมภาษณ์ว่าได้ถอนหมายจับตามคำสั่งอัยการสูงสุดแล้วก็ตาม เพราะมีข่าว (ที่ยังไม่กล้ายืนยัน) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตรวจสอบคดีบอส อยู่วิทยา ตั้งแต่ต้นจนถึงอัยการ

มีข่าว (ที่ยังไม่กล้ายืนยัน) ว่าอัยการสูงสุดสั่งให้ตรวจสอบรายละเอียดที่ตนเองไม่เคยรับรู้

มีข่าว (ที่ยังไม่กล้ายืนยัน) ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำสำนวนการสอบสวน และเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้อง หรือเหตุผลในการไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ

3. ในฐานะที่รับราชการตำรวจ 42 ปี จนเกษียณอายุราชการ มีความอับอายที่จะไปคุ้ยเขี่ยเรื่องเน่าเหม็นในองค์กรให้คนที่ไม่เข้าใจประณามซ้ำเติม

มีเหตุผล 3 ประการเช่นกันที่ทำให้ต้องเขียนถึงเรื่องของการใช้กฎหมายครั้งนี้

1. ข่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส กระทิงแดง” เป็นข่าวจากต่างประเทศ (CNN) ก่อนจะมาเป็นข่าวในประเทศไทยซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ผู้ต้องหาและผู้ตายเป็นคนไทย สอบสวนโดยตำรวจไทย อัยการไทย รู้สึกอับอายเหมือนถูกตบหน้า

2. จากการอ่านข่าวและข้อคิดเห็นในสื่อต่างๆ พบว่าประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่ง รวมทั้งนักการเมืองคนดังในสภาซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับ “กฎหมาย” ยังเข้าใจผิดกับความรู้เบื้องต้นของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ใช้ภาษาที่บอกให้รู้ว่าผู้ใช้ “ไม่รู้” มากกว่า “เข้าใจผิด” เช่น ใช้คำว่า “อัยการยกฟ้อง” หรือไปโทษศาลว่ามีหลายมาตรฐาน เป็นต้น

3. สื่อมีอคติและแสดงพฤติกรรมแสดงให้เห็นว่ามีอคติอย่างเปิดเผย โทรทัศน์บางช่องชอบเชิญนักพูดที่เกลียดชังตำรวจมาออกรายการ ทิ่มตำอย่างเมามันว่าทำงานไม่มีคุณภาพ

อย่างเช่นกรณีของการสั่งไม่ฟ้องทายาทกระทิงแดงครั้งนี้ก็เช่นกัน มันเป็นเรื่องที่เห็นชัดว่าหลายบุคคลในหลายองค์กรใช้ “วิชามาร” ทำทุจริตบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงอย่างด้านๆ จนกระทั่งนายดาบตำรวจที่ตายกลายเป็นคนผิด และนายบอสที่ขับรถยนต์ชนไม่ผิด

เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในสังคม (ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม) นักการเมืองและราชการไทยยังคงแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิม คือควานหาคนทำผิดก่อน แทนที่จะรีบแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น!

ความผิดพลาดในกรณี “สั่งไม่ฟ้องบอส กระทิงแดง” ก็เช่นกัน อัยการหรือผู้เสียหายควรที่จะรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ แล้วรีบยื่นฟ้องต่อศาลตามที่กฎหมายเปิดทางไว้ ตัวอย่างก็มีให้เห็น ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ผู้เสียหายนำคดีขึ้นฟ้องเอง และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด

คดี “ฆ่าหั่นศพหมอผัสพร” เหตุเกิดปี 2544 อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา สั่งไม่ฟ้องจำเลยโดยเหตุผลว่า คดีไม่มีประจักษ์พยานและไม่มีศพผู้ตาย บิดาของหมอผัสพรจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง โดยความร่วมมืองของรอง ผบ.ตร.ยุคนั้น ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

ปี 2546 ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลย ปี 2548 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในที่สุด ปี 2550 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาตามลำดับ จนในที่สุดพ้นโทษ จำเลยได้รับการให้อภัยจากครอบครัวหมอผัสพร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

นี่คือตัวอย่างของคดีที่เดินตามเส้นทางกระบวนการยุติธรรม

ตรงข้ามกับคดี “บอส กระทิงแดง” ที่ใช้เล่ห์กระเท่ห์ อาศัยจุดอ่อนของรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) จุดล้มเหลวของ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และความสับสนของ กมธ.กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ) เป็นเส้นทาง

ต้นเหตุของการบิดเบี้ยวครั้งนี้ เชื่อว่ามาจากการรัฐประหารที่ทำให้กฎหมายในบ้านเมืองของเราพิกลพิการ คสช.สร้าง สนช.หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สนช.ตั้ง กมธ. หรือ “คณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ” ขึ้นมา อ้างว่าเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปตำรวจ หรือมีจุดประสงค์อื่นคนนอกวง คสช. ก็ยากจะรู้

คณะกรรมาธิการชุดนี้ประกอบไปด้วยอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และอดีตอัยการระดับสูงหลายนาย ที่แปลกพิสดารมากคือ นายสมัคร เชาวภานันท์ ที่ปรึกษาของ กมธ.ชุดนี้เป็นทนายความของบอส กระทิงแดง ในคดีขับรถยนต์ชนตำรวจตาย

ด้วยความที่ไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ของ กมธ. แต่ต่างยอมรับใน “เพาเวอร์” ของมัน ทำให้อัยการรับเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากบอส กระทิงแดง รวมทั้งขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนถึง 7 ครั้ง ทำให้สามารถประวิงและยืดเวลาการสอบสวนออกไปได้จนหลายข้อหาหมดอายุความ

ที่สำคัญก็คือ ทำให้อัยการสามารถสั่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานใหม่ 2 ปากแทนพยานเดิมหลังจากเวลาเกิดเหตุผ่านไปแล้ว 7 ปี ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนในการสั่งไม่ฟ้อง

ตรงจุดนี้จะเห็นได้ว่า ทนายความ อัยการและตำรวจ ต่างไม่ได้ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญในกฎหมายแต่อย่างใด ใช้เพียง “วิชามาร” ธรรมดาเท่านั้น

หากตำรวจจะใช้ดุลพินิจแย้งคำสั่งอัยการ หรือให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม โดยอ้างพยานหลักฐานใหม่ตามกฎหมาย ก็เพียงแค่หยิบหลักฐานเก่าที่อัยการทิ้งไปมาใช้เท่านั้นเอง ซึ่งก็คือ พยานผู้เชี่ยวชาญที่ให้การไว้ในการสอบสวนครั้งแรกถึงความเร็วของรถเฟอร์รารี่ 177 ก.ม/ช.ม. (บวกลบ) กับพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ตรวจพบว่า “มีสารแปลกปลอมในร่างกายของบอส” ตลอดจนพยานที่ตรวจสภาพรถทั้ง 2 คันหลังเกิดเหตุ

แต่ตำรวจได้ออกมายืนยันแล้วว่า “คดีถึงที่สุดแล้ว” แย้งคำสั่งอัยการไม่ได้แล้ว และการจะให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ความเสียหายมหาศาลเกิดขึ้นต่อประเทศไทยตั้งแต่สื่อต่างประเทศแพร่ข่าวนี้ก่อนสื่อในประเทศ CNN พาดหัวข่าวตัวโป้งเห็นชัดว่า “Corruption in Thailand”

ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างจุดด่างพร้อยให้กับภาพลักษณ์ของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของกระบวนการรักษาความยุติธรรมแห่งชาติด้วย

ส.ว.คนดังนายหนึ่งพยายามทำให้สังคมเห็นและรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยระดับ “น้ำผึ้งหยดเดียว” แต่ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และคณาจารย์ มธ.เห็นว่า “…นี่ไม่ใช่น้ำผึ้งหยดเดียว แต่เป็นน้ำผึ้งทั้งไหที่เทราดลงไป ขณะที่ม็อบของคนรุ่นใหม่กำลังจุดติด…”

สังคมไทยเห็นว่านี่คือยาพิษต่างหาก และกำลังรอ “คณะกรรมการ” ชุดต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด และ ผบ.ตร. แต่งตั้งขึ้นมาสอบสวนความวิปริตนี้ สังคมไทยคงไม่ได้หวังจะเห็นแค่ตำรวจหรืออัยการผู้กระทำผิดถูกลงโทษฐานสร้างปรากฏการณ์ “Corruption in Thailand” เท่านั้น

แต่ต้องการเห็น “ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย” ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และนำ “คดีบอส กระทิงแดง” ขึ้นสู่ศาลสถิตยุติธรรม

และถ้าทำให้เห็นตรงจุดนี้ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบ ในฐานะที่แต่งตั้งและสถาปนาคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมามากมาย ที่ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์และไม่น่าเชื่อฟัง