สุรชาติ บำรุงสุข : ยุทธการไล่ฝรั่ง! การทูตไทยยุครัฐประหาร

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ในเรื่องทางการทูตไม่มีอะไรง่ายและเร็ว”

นางฮิลลารี คลินตัน

สถานการณ์คู่ขนานกับการที่ผู้แทนของประเทศไทยต้องไปชี้แจงถึงสถานะด้านสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา ในวันที่ 11 พฤษภาคม ก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เมื่อ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เชิญ นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบที่กระทรวงการต่างประเทศ

จุดไคลแมกซ์ของเรื่องอยู่ตรงที่การแถลงของทูตอเมริกันที่ส่งสัญญาณถึงความกังวลของรัฐบาลอเมริกันต่อสถานการณ์การเมืองในไทย

และท่านทูตยังได้ชี้แจงถึงการแปลตำแหน่งของโฆษกกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้แถลงข่าวเรื่องไทยที่วอชิงตัน ว่า ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่เวร” อย่างที่รัฐบาลไทยเข้าใจ

การหยิบประเด็นเรื่องความกังวลใจเรื่องสิทธิมนุษยชนไทยของรัฐบาลวอชิงตันมาพูดกับสื่อที่กระทรวงการต่างประเทศไทยนั้น ได้กลายเป็นดังการสาดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิงให้แก่บรรดาผู้ปกป้องรัฐประหารและกลุ่มปีกขวาทั้งหลาย

เพราะพวกเขามองแบบง่ายๆ ว่า การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของทูตอเมริกันครั้งนี้ เป็นดังการเดินเข้ามา “หยาม” กันถึงบ้านของกระทรวงการต่างประเทศของไทย

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครหยิบยกประเด็นการแปลตำแหน่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศอเมริกันผิดไปจากความเป็นจริงมากล่าวเท่าใดนัก ว่าเธอเป็นเพียง “เจ้าหน้าที่เวรข่าว” ของกรมเอเชียตะวันออก

การแปลตำแหน่งผิดเช่นนี้ไม่อาจตีความเป็นอื่น นอกจากหวังว่าการแปลตำแหน่งให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นนี้จะเป็นการทำลายเครดิตของคำแถลงของทางฝ่ายสหรัฐ

ดูเหมือนกระทรวงการต่างประเทศไทยจะกังวลอย่างมากกับการที่โฆษกอเมริกันจะใช้คำว่า “ประณาม” ไทย

ท่านทูตได้ยืนยันว่า สหรัฐมีความ “ห่วงใย” ต่อสถานการณ์การจับกุมที่เกิดขึ้นในไทย แต่ก็ไม่ได้มีการประณามไทยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด… แค่ “ห่วงใย” ในภาษาทางการทูต

สถานการณ์ทางการทูตเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เพราะเมื่อสื่อต่างๆ ได้ลงทั้งภาพและข้อความของเหตุการณ์การตอบคำถามสื่อที่กระทรวงการต่างประเทศไทยแล้ว บรรดาผู้สนับสนุนรัฐประหารและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มปีกขวาได้ออกมาตอบโต้

ดังปรากฏในรายงานข่าวของมติชนออนไลน์ว่า “ดร.อาทิตย์-มัลลิกา จุดกระแสไล่ทูตสหรัฐกลับประเทศ อ้างไม่ให้เกียรติไทย” และตามมาด้วยการจุดกระแสในโลกออนไลน์ของกลุ่มปีกขวาให้ต่อต้านอเมริกัน

น่าสนใจอย่างมากว่า กลุ่มขวาไทยซึ่งเดิมดูจะผูกพันอยู่กับสหรัฐอย่างมาก แต่ทำไมกลุ่มนี้ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันกลับผันตัวกลายเป็น “นักเคลื่อนไหวต่อต้านอเมริกัน” อย่างชัดเจน…

อะไรทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงเพียงนี้

พวกเขาเกลียดอเมริกา หรือจริงๆ แล้วพวกเขาเกลียดประชาธิปไตย…

ประชาธิปไตยที่ไม่เคยทำให้พวกเขามีอำนาจในระบบรัฐสภา

ในขณะที่กระแสต่อต้านอเมริกันก่อตัวอีกครั้งที่กรุงเทพฯ ในอีกซีกโลกหนึ่งในวันที่ 14 พฤษภาคม ประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 60 วันเพื่อเตรียมรับมือกับการแทรกแซงของสหรัฐ

เขาประกาศแก่สื่อว่า รัฐบาลวอชิงตันได้กลับมาใช้มาตรการการแทรกแซงตามคำร้องขอของกลุ่ม “ขวาฟาสซิสต์” ในเวเนซุเอลา

ซึ่งก็เห็นได้ว่าการต่อต้านอเมริกันในภูมิภาคละตินอเมริกานั้นเป็นมรดกของ “กระแสซ้าย” ที่ยังดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลเวเนซุเอลาถือว่าตนเป็นรัฐบาลฝ่ายซ้าย

เขายังกล่าวอีกด้วยว่า ความพยายามในการปลดประธานาธิบดีของบราซิลก็เป็นความต้องการในการโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายเช่นกัน

อีกทั้งเขายังกล่าวเสริมว่า การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐในเวเนซุเอลานั้น เป็นไปตามคำร้องขอของกลุ่ม “ขวาฟาสซิสต์” หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่ม “ขวาจัด” ก็ไม่ผิดนัก… สีสันในแบบฝ่ายซ้ายของยุคสงครามเย็น

ในสภาพเช่นนี้ดูเหมือนการก่อกระแสต่อต้านอเมริกันจะมีความเกี่ยวพันทางอุดมการณ์ในระดับหนึ่งอย่างชัดเจน กล่าวคือ รัฐบาลในเวเนซุเอลานั้นมองว่าตนเป็นรัฐบาลฝ่ายซ้าย

ดังนั้น ชุดคำอธิบายทางการเมืองของพวกเขาจึงดูจะมีร่องรอยของความคิดแบบฝ่ายซ้ายอยู่พอสมควร ซึ่งก็คือความคิดฝ่ายซ้ายในการต่อต้าน “จักรวรรดินิยมอเมริกัน” ในยุคสงครามเย็นนั่นเอง

และชุดความคิดนี้มองเห็นการเชื่อมโยงกันระหว่างบทบาททางการเมืองของสหรัฐกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดในประเทศ ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ของความสัมพันธ์เช่นนี้ในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ

ในยุคสงครามเย็นความสัมพันธ์เช่นนี้ เป็นผลมาจากการที่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาชนชั้นกลางอนุรักษนิยม ซึ่งด้านหนึ่งกลัวการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมากนั้น

ในอีกด้านหนึ่งก็มองว่าความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลอเมริกันเป็นหลักประกันความมั่นคงที่สำคัญที่สุดจากภัยคุกคามดังกล่าว

ดังนั้น ถ้าพวกเขากลัวการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมากเพียงใดแล้ว พวกเขาก็กลัวการจะถูกสหรัฐทอดทิ้งอย่างมากเพียงนั้นด้วย

ดังจะเห็นได้จากกรณีที่รัฐบาลวอชิงตันหันไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ การดำเนินนโยบายเช่นนี้ได้ส่งผลอย่างมากทั้งในทางการเมืองและความมั่นคงว่า สหรัฐจะเปลี่ยนนโยบายและทิ้งบรรดาชาติพันธมิตรที่เคยร่วมต่อสู้กันมาในสงครามเย็นหรือไม่

ดังนั้น สำหรับบรรดาผู้นำฝ่ายขวาในยุคสงครามเย็นนั้น ไม่มีอะไรน่ากลัวมากเท่ากับการทอดทิ้งของสหรัฐให้ประเทศต้องยืนเผชิญหน้ากับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์แต่เพียงลำพัง

ว่าที่จริงแล้วจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่บรรดากลุ่มขวาและขวาจัดในประเทศกำลังพัฒนาในยุคดังกล่าว จะมีอาการ “กอดขา” อเมริกันอย่างชัดเจน

ชนชั้นนำและผู้นำทหารในหลายประเทศรวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อยู่ในอาการเช่นนั้นไม่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การยกตัวอย่างของเวเนซุเอลาขึ้นมาเทียบเคียง จะทำให้เห็นถึงความพยายามผลักกระแสต่อต้านอเมริกันให้สูงขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันทั้งที่กรุงเทพฯ และที่การากัส

แต่อย่างน้อยในกรณีของเวเนซุเอลานั้น ยังพออธิบายได้จากบริบททางอุดมการณ์ ที่พวกเขามองว่าตนเองเป็น “ฝ่ายซ้าย” และมีจุดยืนในการต่อต้านอเมริกัน

แต่ในกรณีของไทยดูจะแตกต่างออกไปอย่างมาก

ฝ่ายขวาไทยไม่ได้มีชุดคิดแบบฝ่ายซ้ายแต่อย่างใด พวกเขาไม่มีอดีตและพื้นฐานทางความคิดที่เชื่อมโยงการต่อต้านตะวันตกเข้ากับการต่อต้านทุนนิยม ซึ่งถูกมองว่าเป็นเป้าหมายหลักของการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายในยุคสงครามเย็น

อีกทั้งพวกเขาไม่ได้อยู่ในบริบทของการต่อต้านอเมริกันมาก่อน

ในทางตรงข้าม บางส่วนของคนเหล่านี้กลับอยู่ในฝ่ายที่สนับสนุนอเมริกาอย่างมาก (หรือบางคนอยู่ในระดับของการสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาเสียด้วย)

อดีตของคนเหล่านี้กลับเป็นฝ่ายที่ยืนกับสหรัฐอย่างมากในยุคสงครามคอมมิวนิสต์

แต่วันนี้ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาชนชั้นกลางอนุรักษนิยม รับบทบาทเป็น “หัวขบวน” ของการต่อต้านอเมริกันอย่างชัดเจน

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ใช่คำตอบว่า ฝ่ายขวาไทยได้จำแลงกายกลายเป็นฝ่ายซ้ายไปแล้ว แม้ว่าเสียงเรียกร้องของพวกเขาหลายครั้งจะมีทิศทางไปในการต่อต้านอเมริกันและการต่อต้านทุนนิยมควบคู่กันไป

การเคลื่อนไหวเช่นนี้คู่ขนานกับข้อเสนอในการจัดทิศทางใหม่ด้านการต่างประเทศของไทย ที่ต้องการจะเข้าไปใกล้ชิดกับจีนและรัสเซีย

หรืออาจจะเปรียบเทียบได้กับการทิ้ง “ไพ่ตะวันตก” และเล่น “ไพ่ตะวันออก” แทน

ปรากฏการณ์เช่นนี้กลายเป็นข้อสังเกตอย่างมีนัยสำคัญว่า รัฐบาลทหารไทยกำลังจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์แบบที่เคยใกล้ชิดกับตะวันตกมาเป็นใกล้ชิดกับตะวันออกแทนหรือไม่

ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์จริงว่าหลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ ในปี 2557 แล้ว รัฐบาลทหารไทยดูจะให้ความสำคัญกับปัจจัยจีนและรัสเซียมากกว่าสหรัฐ และสหภาพยุโรป

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อรัฐบาลทหารไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านสิทธิมนุษยชนจากตะวันตก อันเป็นผลจากการจับกุมที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จนถึงขนาดที่รัฐบาลทหารต้องส่งผู้แทนไปชี้แจงในเวทีการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยที่นครเจนีวา

แรงกดดันเช่นนี้ถูกตอบกลับด้วยการประกาศถึงการเดินทางเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรีไทยในวันที่ 17-21 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 11 ปีหลังจากการเดินทางเยือนของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548

พร้อมกันก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยมีท่าทีที่ต้องการนำเข้าอาวุธจากรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่ก็มาสอดรับกับแรงกดดันจากโลกตะวันตกในสถานการณ์ปัจจุบันพอดี

นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยตอบในการเดินทางเยือนไทยของ นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียในวันที่ 8 เมษายน 2558 ว่า “คำว่าเพื่อนสำคัญที่สุด เมื่อเพื่อนมีปัญหาก็ต้องการแรงใจ แรงหนุนจากเพื่อน วันนี้รัสเซียให้ความเป็นเพื่อน… ขอขอบคุณทุกอย่างที่เข้าใจ” ซึ่งสำหรับรัฐบาลทหารไทยที่ในอดีตเคยยืนกับ “มหามิตร” สหรัฐ วันนี้รัฐบาลทหารไทยกลับมีรัสเซียเป็น “เพื่อนเข้าใจ”

(ไทยรัฐออนไลน์, 12 พฤษภาคม 2559)

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียจะถูกยกระดับขึ้นนั้น ความสัมพันธ์ไทย-จีนได้กลายเป็นคำตอบของงานการทูตไทยหลังรัฐประหาร ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลจีนไม่แสดงความคิดเห็นต่อการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ แต่ประการใด ในขณะที่ท่าทีที่ไม่เห็นด้วยของชาติตะวันตกมีความชัดเจนอย่างมาก

สภาพเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลปักกิ่งรอเวลาที่จะใช้โอกาสที่ความสัมพันธ์ไทย-ตะวันตกลดระดับลง อันเป็นผลจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น และผลเช่นนี้กลายเป็น “ช่องว่าง” ให้จีนสามารถสอดแทรกตัวเข้ามายืนเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ได้อย่างง่ายดาย

ความใกล้ชิดทางการทูตและความมั่นคงที่เกิดขึ้นยืนยันได้อย่างชัดเจนจากคำกล่าวในเวทีประชุมอาเซียนที่มาเลเซียในเดือนสิงหาคม 2558 ของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น

เขาได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า “ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะสำหรับเขาที่ได้ติดต่อเป็นการส่วนตัวกับรัฐมนตรีหวังอี้ ซึ่งเป็นคนนิสัยดีและสุภาพเรียบร้อย… หากเขาเป็นผู้หญิง คงตกหลุมรักรัฐมนตรีคนนี้ไปแล้ว” (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน)

เขายังย้ำอีกด้วยว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น “ไม่ได้พูดจากันในลักษณะทางการทูต แต่พูดคุยเหมือนคนรู้จักกันเป็นการส่วนตัว เหมือนเป็นครอบครัว เหมือนเป็นเพื่อน” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 6 สิงหาคม 2558)

ทิศทางของงานการทูตและการต่างประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คำว่า “คนที่คุยเหมือนคนรู้จักกันส่วนตัว เหมือนเป็นครอบครัว เหมือนเป็นเพื่อน” นั้น ถ้าเป็นในอดีตแล้ว คำพูดเช่นนี้คงต้องใช้กับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อันเป็นผลโดยตรงจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างยิ่งจากพัฒนาการของปัญหาความมั่นคงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคสงครามเย็น

แต่เมื่อภัยคุกคามในแบบของยุคสงครามเย็นยุติลงจวบจนปัจจุบัน ทัศนะของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และชนชั้นกลางอนุรักษนิยมไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก พวกเขาสนใจเล่น “ไพ่จีน” และ “ไพ่รัสเซีย” มากกว่า อาจจะเพราะวันนี้พวกเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งโลกตะวันตกในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์อีกต่อไปแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนะ (perception) เช่นนี้น่าจะเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และอาจจะต้องถือว่าการต่อสู้นี้เกิดขึ้นก่อนที่กองทัพจะยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2549 เสียอีก ดังจะเห็นได้ว่าทั้งสามกลุ่มเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านประชาธิปไตยมาก่อนแล้ว พวกเขาไม่ยอมรับเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน

และการไม่ยอมรับเช่นนี้ก้าวสู่จุดสูงสุดเมื่อกลุ่มเหล่านี้ประกาศปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

น่าสนใจอย่างมาก ว่าหลังจากการสิ้นสุดของภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ คนเหล่านี้หันไปหาชุดความคิดแบบ “อนุรักษนิยม-จารีตนิยม” มากขึ้น ซึ่งการให้คุณค่ากับชุดความคิดดังกล่าวขัดแย้งโดยตรงกับชุดความคิดประชาธิปไตย และคงต้องยอมรับว่าในยุคหลังสงครามเย็น สหรัฐมีบทบาทอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลก…

ยิ่งสหรัฐขับเคลื่อนกระแสนี้มากเท่าใด ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และชนชั้นกลางอนุรักษนิยมไทยก็ยิ่งรังเกียจสหรัฐมากขึ้นเท่านั้น เพราะคุณค่าของประชาธิปไตยขัดแย้งกับค่านิยมของอนุรักษนิยม-จารีตนิยมอย่างเด่นชัด

ดังนั้น การไม่รับประชาธิปไตยจึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับความคิดที่ไม่รับสหรัฐด้วย

สภาพเช่นนี้จึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะเปิด “ยุทธการไล่ฝรั่ง” ในรูปแบบต่างๆ

แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะยินยอมยกเลิกปฏิสัมพันธ์กับสินค้าอเมริกัน และชีวิตแบบสังคมอเมริกัน!