ผ้าไหมที่บ้านครัว

“พวกฝรั่งเขาไม่ใช้ผ้าไหมทอเครื่อง ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน” คุณลุงอู๊ด หรือ มนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา บอกกับเราเมื่อเช้านี้

หากไม่มีธุระจะต้องเดินสำรวจชุมชนบ้านครัวที่อยู่คนละฝั่งคลองแสนแสบกับพิพิธภัณฑ์จิม ทอมป์สัน ในซอยเกษมสันต์ 2 ผู้เขียนก็คงไม่ได้พบกับคุณลุงอู๊ด เจ้าของกิจการผลิตผ้าไหมขนาดเล็ก ที่ฝังตัวอยู่ในชุมชนบ้านครัว และเป็นผู้ผลิตผ้าไหมรายสุดท้ายของชุมชนแห่งนี้

ในสมัยที่จิม ทอมป์สัน ตำนานแห่งผ้าไหมไทยยังมีชีวิตอยู่ ชุมชนบ้านครัวที่อยู่รายรอบคือแหล่งผลิตผ้าไหมที่คึกคัก แต่ละบ้านจะมีกี่ของตนเอง ทั้งทอทั้งย้อม

แต่ปัจจุบันนี้ต่างก็ทยอยปิดกันไปเหลือแต่คุณลุงอู๊ดคนเดียวที่ยังคงยืนหยัดกลายเป็นตัวแทนของเรื่องราวในชุมชนที่ยังคงดำรงอยู่

ชุมชนบ้านครัวมีหลายร้อยหลังคาเรือน ฝังตัวอยู่ในใจกลางเมืองอย่างน่าอัศจรรย์ เงียบสงบ สมถะ ทั้งหลายร้อยหลังคาเรือนเชื่อมต่อกันด้วยทางเล็กๆ ที่วกวนเหมือนเขาวงกต แคบเล็กจนเรียกไม่ได้ว่าเป็นซอยด้วยซ้ำ

ที่น่าทึ่งก็คือทางเล็กๆ ที่กว้างประมาณเมตรกว่านั้นมีท่อระบายน้ำเรียบร้อย และเป็นทางเดินที่สะอาดสะอ้านเป็นส่วนใหญ่

ชุมชนนี้เป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีคนมุสลิมที่อพยพมาจากเขมร คนในยุคแรกๆ ยังพูดภาษาเขมรอยู่ด้วยซ้ำ

คุณลุงอู๊ดเรียนรู้เรื่องการทำผ้าไหมมาตั้งแต่อายุ 13 ปี และประกอบอาชีพผลิตและจำหน่ายผ้าไหมเรื่อยมาจนเรียกได้ว่าเป็น resource person คนหนึ่งนอกเหนือไปจากช่างทอและช่างย้อมในทุกๆ ภาคของประเทศไทยที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมเอาไว้ท่ามกลางการผลิตแบบอุตสาหกรรม

ลูกค้าลดน้อยลงไป เพราะไหมเป็นวัสดุที่แพงและมักใช้กันในงานที่เป็นพิธีการ

ตลอดเวลากว่าหกสิบปีคุณลุงฝังตัวอยู่อย่างเอกเทศที่นี่ แต่ความเป็นของแท้ ลูกค้า หรือคนที่สนใจก็ยังตามมาจนเจอเสมอ แม้แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2553 เสด็จมาพิพิธภัณฑ์จิม ทอมป์สัน ก็เสด็จมาทอดพระเนตรแหล่งผลิตที่ยังมีลมหายใจของคุณลุงด้วย

จากที่เคยมีช่างทอ 9 คน ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ปัจจุบันคุณลุงยังเหลือช่างทออยู่เพียงคนเดียว “นอกนั้นเขาไปเป็นหมอนวดกันหมด เพราะรายได้ดีกว่า” ช่างทอคนดังกล่าวยังอยู่กับงานทอผ้า เพราะไม่ชอบคำว่า “หมอนวด” คุณลุงมีช่างย้อมเหลืออยู่อีก 1 คน

โชคดีที่คุณลุงบริหารจัดการชีวิตได้ดี และเคยชินกับการบริหารคน บริหารธุรกิจ จึงไม่ถึงกับขัดสนเหมือนช่างบางคน

ลูกค้าคุณลุงอยู่ไกลถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นลูกค้าที่ทำธุรกิจด้วยกันยาวนาน และจ้างคุณลุงเรื่องการย้อม วิธีเชื่อมโยงธุรกิจก็คือ ลูกค้าจะสั่งซื้อไหมจากผู้ผลิตในภาคเหนือ โอนเงินให้ผู้ผลิตไหม ผู้ผลิตไหมเป็นผู้ส่งไหมมาให้คุณลุงพร้อมด้วยตัวอย่างสี กำหนดปริมาณไหมมาเสร็จ เช่น สีบานเย็น 3 กิโลกรัม สีเหลือง 3 กิโลกรัม เป็นต้น

เมื่อย้อมเสร็จคุณลุงก็ส่งทางรถไฟไปให้ลูกค้าแล้วจึงโอนเงินกัน

จึงเรียกได้ว่าที่คุณลุงยังอยู่ได้เพราะมีพันธมิตรธุรกิจอยู่ในภาคอื่นๆ คุณลุงพูดถึงสุไหงโก-ลก ที่มาจ้างย้อม พูดถึงหมู่บ้านพุมเรียงที่สุราษฎร์ฯ ที่ยังทำผ้าไหม

ผ้าไหมสำเร็จรูปที่ผ่านการทอย้อมจากบ้านลุงอู๊ดส่งขายที่พาหุรัดและที่งานโอท็อปต่างๆ รวมทั้งมีลูกค้าหลายชาติแวะเวียนมา ทั้งชาติตะวันตกและเอเชีย ล่าสุดคือลูกค้าจีน

ในห้องห้องเดียวที่เป็นทั้งที่ผลิต ตู้โชว์ผลิตภัณฑ์ และสำนักงาน กี่ทอผ้ายังตั้งโดดเด่นท้าทายกาลเวลา บนขื่อห้องมีภาพต่างๆ จากอดีตสมัยคุณลุงยังหนุ่ม สมัยที่จิม ทอมป์สัน ยังมีชีวิตและมาเยี่ยมเยือนกันพร้อมทั้งซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตบ้านครัว

ถ้าเดินถัดจากบ้านคุณลุงไป ยังมีหลายบ้านที่ตั้งกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุน หากทว่า มันร้างผู้ทอ

ถามว่ากี่นี้มาจากประเทศอะไร คุณลุงตอบว่าประเทศจีน และคุณลุงยังให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่าไหมจีนนั้นคุณภาพดีมาก

ผ้าไหมสวยงาม ทอด้วยฝีมือ ยังคงมีลมหายใจ ในขณะที่คุณลุงยังพอมีเรี่ยวแรง แต่เมื่อขาดคนสานต่ออีกไม่นานก็คงสูญหายไป ทรัพยากรเช่นนี้มิใช่เป็นของส่วนตัว แต่เป็นของชาติ อยากจะบอกคุณลุงให้ใช้เครื่องมือสมัยใหม่อย่างเฟซบุ๊ก เผยแพร่ แต่คุณลุงก็ไม่รู้จัก ก็คงได้แต่บอกกันต่อๆ ไป