เอกซ์เปกโต พาโตรนุม | คงต้อง’เสกคาถาพิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ กันอย่างหนักต่อไป

ในประเทศ

เอกซ์เปกโต พาโตรนุม

เวทมนตร์คาถาในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ชุดวรรณกรรม-ภาพยนตร์อันโด่งดัง โดยผู้ประพันธ์ เจ. เค. โรว์ลิ่ง

ที่ดูเข้ากับธีมการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ โดยกลุ่ม ‘มหานครเพื่อประชาธิปไตย’ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และกลุ่ม ‘มอกะเสด’ ของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 มากที่สุด

น่าจะเป็นเวทมนตร์บทที่ว่า “เอกซ์เปกโต พาโตรนุม” –Expecto Patronum (คาถาผู้พิทักษ์)

ซึ่งวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุผลของเวทมนตร์ส่วนหนึ่งว่า

“ร่ายเวทเสกให้ความรู้สึกด้านบวกที่อยู่ส่วนลึกที่สุดของผู้ร้ายมีตัวตน เช่น ความสนุกหรือความหวัง รู้จักกันในนามผู้พิทักษ์ ซึ่งร่ายขึ้นมาให้เป็นผู้คุ้มครอง และเป็นอาวุธมากกว่าผู้ล่าวิญญาณ ผู้พิทักษ์ยังป้องกันผู้เสกจากผู้คุมวิญญาณและเลธิโฟลด์ และสามารถขับไล่พวกมันไปได้…”

ที่ว่าตรงกับธีมการชุมนุมก็เพราะเหล่าเยาวชนผู้ชุมนุมต่างหวังที่จะเห็นเวทมนตร์ไปปลุกความรู้สึกด้านบวกที่อยู่ส่วนลึกของฝ่ายยึดอำนาจ ให้ปลดปล่อยออกมาจนกลายเป็นผู้พิทักษ์ และปกป้องประชาธิปไตย

อันจะทำให้ข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นจริงมากขึ้น

 

โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกหลังการชุมนุม 1 วัน ในเชิงบวกว่า เป็นห่วงเด็กๆ จึงได้ให้แนวทางเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนให้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้เขารู้ว่าเขาอยากได้อนาคตอย่างไรเราก็จะฟังจากพวกเขาภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยรูปแบบก็จะเป็นการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อพบปะหารือกัน ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้จัด

โดยรวมกลุ่มกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปจัดกลุ่มกันมา เพื่อเป็นเวทีพูดคุยหารือกัน

แม้นายกรัฐมนตรีจะออกตัวถึงการไปรับฟังความคิดเห็นด้วยตนเองหรือไม่ ด้วยวลีว่า “เดี๋ยวดูก่อน”

แต่ก็ถือเป็นการ “ขานรับ” มากกว่าที่จะปฏิเสธ

ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะอย่างที่ปรากฏ กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ขยายตัวออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง

โดยเฉพาะรูปแบบการชุมนุม ที่หยิบเอาสิ่งใกล้ตัวของเหล่าเยาวชนเหล่านี้คุ้นเคยมาเป็น “อาวุธ” ในการเคลื่อนไหวอย่างแหวกแนว

ซึ่งเราได้สัมผัสมาแล้ว ตั้งแต่แฮมทาโร่ มาจนถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์

ผู้ใหญ่อาจ “ไม่เก็ต”

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว นี่คือนวัตกรรมแห่งการต่อสู้รูปแบบใหม่ ที่ “ขัน” และ “ขื่น”

อันมีเสน่ห์ไปกระตุ้นให้ค้นคิด “มุข” ออกมาต่อสู้ได้อย่างต่อเนื่องและแหลมคม

ที่สำคัญ ใครหรือฝ่ายใดจะใช้รูปแบบเก่าๆ เข้ามาป่วนหรือก่อกวน อย่างที่เริ่มมีการตั้งกลุ่มอาชีวะรักชาติ มาเผชิญหน้าแบบม็อบชนม็อบ

เจอตุ๊กตาแฮมทาโร่ หรือเหล่าพ่อมด-แม่มด ถือไม้กายสิทธิ์ร่ายเวทมนตร์ ก็ไม่รู้จะลงมือต่อต้านอย่างไร

ถือเป็นภาวะ “เคือง” แต่ชกไม่ถึง

อันเป็นทีเด็ดของเหล่าม็อบมุ้งมิ้ง ที่ฝ่ายต่อต้านเคยดูถูกไว้

อย่างการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ วันที่ 3 สิงหาคม 2563

นอกจากมีการแจกตะเกียบให้ผู้ชุมนุมเตรียมใช้แทนไม้กายสิทธิ์สำหรับเตรียมเสกคาถาปกป้องประชาธิปไตยแล้ว

ยังมีผู้ชุมนุมรายหนึ่งสวมหน้ากากยางรูป พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาร่วม

ปรากฏว่าสร้างความฮือฮา-ฮาเฮให้กับผู้ชุมนุมอย่างมาก เมื่อผู้ชุมนุมได้ร่วมกันชูตะเกียบเสกคาถาขับไล่

ก่อนมีการปล่อยมุข ‘ไม่รู้ๆๆๆ’

พล.อ.ประวิตรผู้ที่เป็นตกเป็นเป้าล้อเลียนทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะบอกเพียงว่า “แล้วยังไงๆ”

ส่วนในใจจะคิดอะไรอยู่ ยากจะหยั่งรู้

แต่สถานการณ์ที่ขยายตัวไปอย่างต่อเนื่องเช่นนี้

คงไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำหน้าตายดั่งหน้ากากยาง ด้วยการบอกไม่รู้ๆๆ ไม่ได้

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ด้วยเพราะท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากพร้อมรับฟังคนรุ่นใหม่แล้ว

ยังแสดงจุดยืนต่อข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คือสนับสนุนในเรื่องการทำงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน และมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดช่องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อกำหนดรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไหนอย่างไร

ทั้งนี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขอให้รอผลการศึกษาจาก กมธ.ก่อน หากมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอร่างประกบ รัฐบาลก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งในที่ประชุม ครม.ก็ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ขอยืนยันให้พี่น้องประชาชนสบายใจว่า รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยมีรายงานข่าวว่า ก่อนการประชุม ครม. วันที่ 4 สิงหาคม ดังกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พูดคุยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลพร้อมสนับสนุน

แต่ยังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอะไรบ้าง จึงต้องดูประเด็นที่จะเสนอแก้ไขก่อน

ถือเป็นการขานรับและตอบสนองข้อเสนอ “เยาวชนปลดแอก” ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด

 

แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น

เพราะท่าทีของวุฒิสภา ดูจะเห็นต่างในเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.

โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) บอกว่า ส.ว.พร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เห็นสมควรแก้ไข

แต่ข้อเรียกร้องที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้ง ส.ส.ร.นั้น ตนเองมีจุดยืนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และจะยิ่งทำให้ยุ่งเหยิง

เพราะไม่รู้ว่า ส.ส.ร.จะวางรูปแบบอย่างไรซึ่งยังไม่มีความชัดเจน และที่ผ่านมาก็เคยมีการตั้ง ส.ส.ร.หลายครั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็อยู่เพียงไม่กี่ปี

“ส.ว.ไม่ได้ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโดยส่วนตัวเห็นว่ามีประเด็นที่ควรแก้ไข เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว, มติคณะกรรมการสรรหา ส่วนเรื่อง ส.ว.ควรมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที” นายพรเพชรระบุ

เช่นเดียวกับนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา ระบุว่า กรรมาธิการได้หารือกันแล้วเห็นว่า จะต้องมีเป้าหมายก่อนว่าต้องการแก้ไขประเด็นใดบ้าง แล้วจึงให้ ส.ส.ร.ไปยกร่างแก้ไข

ไม่ใช่ให้ ส.ส.ร.ไปคิดเองตามใจชอบ ถ้าจะตีเช็คเปล่า โดยไม่มีเป้าหมายว่าจะแก้เรื่องใด แสดงว่ายังไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ส.ว.คงไม่เอาด้วย และจะไม่ร่วมมือเสนอแก้รัฐธรรมนูญ

“โดยเฉพาะถ้าจะมาแตะเรื่อง ส.ว. ทั้งการยกเลิก ส.ว. หรือไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกฯ ตามที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ต้องการนั้น ส.ว.คงไม่ยอม เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศ เรายึดหลักการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้ม็อบมากดดัน แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเรื่อง ส.ว. ค่อยมาคุยกัน” นายเสรีกล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเร่งด่วนที่สุด คือการยกเลิก ส.ว. โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จก่อนปิดสมัยประชุมสภาในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นให้ยุบสภาทันที

ท่าทีไม่เห็นด้วยของ ส.ว.ข้างต้น เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงไม่ราบรื่นแน่นอน

รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์แม้ประกาศสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจจะโยนไปว่า ไม่อาจไปบังคับวุฒิสภาได้

เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา

ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร

ซึ่งนั่นคงจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดเยื้อออกไป และจะเป็นวิกฤตต่อไป

เหล่าเยาวชนปลดแอกซึ่งกำลังขยายตัวเป็นประชาชนปลดแอก คงต้อง ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ กันอย่างหนักหน่วงต่อไป

โดยเฉพาะบทที่ว่า เอกซ์เปกโต พาโตรนุม

ด้วยหวังว่าจะไปทะลุทะลวง “หน้ากากยาง” ของคนบางคน หรือหลายๆ คนแล้วลงลึกไปกระตุ้น ฉุดดึงความรู้สึกด้านบวก ที่ยินดีจะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

   เพื่อความเป็นประชาธิปไตยอันแท้จริงของชาติและประชาชน!