ธงทอง จันทรางศุ | ปัจจัยสี่

ธงทอง จันทรางศุ

ความต้องการพื้นฐานในชีวิตของคนเราว่ากันตามจริงแล้วก็ไม่พ้นจากเรื่องปัจจัยสี่ไปได้

เรื่องของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ถ้าขาดตกบกพร่องแม้เพียงข้อหนึ่งข้อใดไปแล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้นได้ถนัดเลยทีเดียว

แต่นั่นแหละครับ สำหรับใครหลายคนแล้ว การมีปัจจัยสี่ในระดับพื้นฐานก็ยังไม่สาแก่ใจ ยังเรียกร้องต้องการให้มีปัจจัยสี่แต่ละข้อในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานปกติขึ้นไปอีก

ถึงตรงนี้ต้องเรียกว่าเป็นกิเลสแล้ว เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็เดือดร้อนกระวนกระวาย ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้ว ถ้ารู้จักพอเสียอย่างเดียวก็ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นได้มาก

เพื่อหลีกเลี่ยงการนินทาคนอื่น ผมขออนุญาตนินทาตัวเองก็แล้วกันครับ

ปัจจัยแรก เรื่องที่อยู่อาศัย

ผมพอเอาตัวรอดได้ เพราะอาศัยอยู่บ้านพ่อ-แม่มาตั้งแต่เกิด

พ่อ-แม่ย้ายไปไหนก็ย้ายตามไปด้วยทุกครั้ง

วันนี้พ่อ-แม่ไม่อยู่แล้ว ผมก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมที่พ่อ-แม่ปลูกสร้างไว้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน

ความจำเป็นที่จะต้องซื้อหาใหม่ให้อร้าอร่ามกว่าบ้านที่มีอยู่ในชีวิตทุกวันนี้ไม่เคยอยู่ในสมองคิด

จะมีต้องเตรียมเงินทองเอาไว้บ้างก็เฉพาะเรื่องของการซ่อมแซมให้บ้านของเราอยู่ในสภาพใช้การได้เท่านั้น

ขึ้นชื่อว่ามีบ้านเข้าไปแล้วไม่ว่าหลังเล็กหรือหลังใหญ่ก็ตามที ต้องมีค่าใช้จ่ายติดตามมาเสมอ แม้ไม่มีอะไรเสียหายก็ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเป็นเบื้องต้นแล้ว

นี่ยังไม่นับหลังคารั่ว ท่อน้ำตันหรือส้วมแตกนะครับ

ปัจจัยข้อสองคือ เรื่องเครื่องแต่งกาย ใครที่รู้จักคุ้นเคยกับผมคงสังเกตได้ว่า ผมไม่ใช่คนที่ทุ่มเทอะไรมากมายกับเรื่องเช่นนี้

วันธรรมดาคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ที่ต้องออกไปนอกบ้านเพื่อไปประชุมโน่นนี่ตามที่มีนัดหมายอยู่เป็นประจำ ผมแต่งตัวแทบจะเป็นเครื่องแบบอยู่แล้ว

คือนุ่งกางเกงขายาวสีดำและใส่เสื้อพระราชทานที่มีอยู่ห้าหกตัวหมุนเวียนเปลี่ยนไป

นานทีถึงจะไปเดินห้างเพื่อซื้อของใช้ประเภทเสื้อผ้าสักครั้งหนึ่ง เรียกว่าให้นิยามตัวเองว่าเป็นคนสมถะในเรื่องเครื่องแต่งตัวพอสมควร

นี่หมายความรวมถึงอุปกรณ์ประกอบเครื่องแต่งตัวด้วย เป็นต้นว่า นาฬิกาข้อมือ ที่หลายคนนิยมใช้นาฬิการาคาแพง เป็นแสนเป็นล้าน ไม่มีเป็นของตัวเองก็ไปหยิบยืมคนอื่นมาใช้ประดับบารมี ฮา!

นาฬิกาประเภทนี้ไม่ได้ทาบรัศมีผมหรอกครับ ที่ใช้ติดข้อมืออยู่เป็นประจำอยู่เรือนเดียว จำราคาได้แม่นยำมากว่าราคาเรือนละ 6,000 บาท ซื้อเมื่อปีพุทธศักราช 2549 หน้าปัดเป็นสีเหลือง

เพราะปีนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใครต่อใครแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเหลืองกันตลอดปี การมีนาฬิกาสีเหลืองประดับข้อมือดูเข้ากันกับเสื้อผ้าเป็นที่สุด

นี่ใช้มา 14 ปีแล้วก็ยังบอกเวลาเที่ยงตรงดีอยู่ ยังไม่เคยผิดนัดใครเพราะนาฬิกาเบี้ยว

ปัจจัยสี่รายการที่สามคือ ยารักษาโรค ซึ่งน่าจะหมายความรวมถึงการรักษาพยาบาลโดยทั่วไปด้วย

ข้อนี้อาศัยฐานะที่เป็นข้าราชการบำนาญ หลวงท่านก็ดูแลรักษาเป็นอย่างดี เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรเข้าไปโรงพยาบาลของทางราชการก็เสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย

ถือว่าเป็นบุญเก่าที่สะสมมาตั้งแต่อายุยังน้อย และเวลานี้ถึงคราวที่จะได้ใช้บริการนี้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว

เดือนก่อนผมแวะไปเที่ยวโรงพยาบาลมาหนสองหน เพราะวุ้นนัยน์ตาเสื่อม ก็อายุ 65 แล้วนี่ครับ อะไรต่อมิอะไรก็ย่อมเสื่อมทรุดไปเป็นธรรมดา

อย่าให้ถึงตาบอดก็แล้วกัน ค่อยๆ ประคับประคองดูแลกันไป

ปัจจัยสี่รายการสุดท้ายคือ เรื่องอาหารการกิน ข้อนี้ขอรับสารภาพอย่างหน้าชื่นตาบานว่าผมออกจะฟุ่มเฟือยเกินความพอดีไปอยู่สักหน่อย

แต่ไม่ถึงต้องเหาะเหินเดินอากาศไปกินข้าวถึงต่างประเทศ

หรือต้องกินข้าวหนวดเต่าเขากระต่ายในโรงแรมทุกมื้อหรอกครับ

สำคัญคือขอให้อร่อยและสมราคา

เดือนธันวาคมหลายปีก่อน ผมกับน้องๆ แวะไปเที่ยวหลวงพระบางสองสามคืน ส้มตำร้านป้าติ๋มซึ่งเป็นร้านมีชื่อของหลวงพระบางอร่อยถึงใจพระเดชพระคุณจริงๆ อยู่สามวันกินไปเสียสองมื้อ เอร็ดอร่อยพ้นประมาณ

ร้านอาหารอร่อยในกรุงเทพฯ นี่ก็รู้จักอยู่หลายสิบร้าน จนแทบจะเขียนหนังสือประเภทชวนชิมได้อยู่แล้ว

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มุ่งหมายจะให้ใครหมั่นไส้นะครับ หากจะเรียกว่าเป็นการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการแปลความของผมก็เห็นจะพอได้

แต่ถ้าหยุดคิดสักนิดและถามตัวเองว่า ในจำนวนคนไทยหกสิบห้าล้านคน จะมีสักกี่คนที่มีปัจจัยสี่ในมาตรฐานแบบที่ผมมี

ต้องตอบให้หมั่นไส้ต่อไปอีกบรรทัดหนึ่งว่า มาตรฐานแบบที่ผมมีนั้นเป็นมาตรฐานที่เกินระดับค่าเฉลี่ยของคนจำนวนมากในประเทศไทย ถ้าเทียบเป็นจำนวนร้อยละกันแล้ว มนุษย์เช่นผมเห็นจะมีจำนวนน้อยนิดเดียว

นั่นหมายความว่า อย่าว่าถึงเรื่องฟุ่มเฟือยอะไรเลยครับ เอาแต่เพียงให้มีปัจจัยสี่ในระดับที่ไม่เดือดร้อนก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนมากเสียแล้ว

หลายคนที่ซุกหัวนอนยังหายาก ต้องอยู่แออัดเบียดเสียดกันอย่างน่าเห็นใจ

เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ขาดวิ่น มีให้สับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น

ป่วยไข้ก็รักษากันไปตามยถากรรม ถึงจะมีบัตรโน่นบัตรนี่ช่วยเหลืออยู่ แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะพาตัวไปจนถึงโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลนอกจากที่หลวงท่านจ่ายให้แล้วยังมีอีกมากนัก

ไหนจะต้องขาดรายได้ในระหว่างป่วยไข้อีกด้วย อาหารการกินก็เข้าตำราตำข้าวสารกรอกหม้อ หรือชักหน้าไม่ถึงหลัง

มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินครบมื้อก็ถือว่าโก้มากแล้ว

ระยะเวลาประมาณหกเดือนหรือครึ่งปีที่ผ่านมา สำหรับคนที่มีรายได้ประจำสม่ำเสมออย่างเช่นผมมีบำนาญที่หลวงท่านจ่ายให้เดือนละเท่านั้นเท่านี้ ก็ยังเอาตัวรอดอยู่ได้

แต่สำหรับผู้ที่ปัจจัยสี่ขาดแคลนมาตั้งแต่ต้น เมื่อเจอเหตุการณ์โควิด-19 เข้าก็แทบขาดใจ

ชีวิตรายวันที่ปริ่มน้ำอยู่แล้ว ได้ดำดิ่งลงไปอยู่ใต้น้ำเลยทีเดียว

ในวันที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ สถานการณ์การระบาดของโรคในบ้านเราเห็นจะพอวางใจได้แล้วในระดับหนึ่ง

ถ้าไม่มีรูรั่วจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศมาซ้ำเติม

แต่จากการสดับตรับฟังด้วยตัวเองบ้าง สังเกตเห็นด้วยตาของตัวเอง และการอ่านการฟังผ่านสื่อต่างๆ พูดกันตามตรงว่า ผมห่วงกังวลเรื่องเศรษฐกิจและชีวิตของคนจำนวนมากในประเทศของเรา ว่าเขาจะก้าวเดินผ่านช่วงเวลายากลำบากตรงนี้ไปได้อย่างไร

“ยังพรุ่งนี้นี่จะเป็นอย่างไรเล่า จะลำบากยิ่งกว่าเก่าหรือไรนั่น”

ดัชนีชี้วัดของผมไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ร้านอาหารหลายร้านที่ผมเคยพึ่งพาอาศัยต้องปิดตัวลงอย่างถาวร ร้านที่เคยมีหลายสาขาก็ต้องยุบลงเหลือน้อยสาขา คนตกงานจะมีเพิ่มมากขึ้น เงินช่วยเหลือที่ทางรัฐบาลดูแลจ่ายให้ก็มีขอบเขตจำกัดทั้งในเรื่องจำนวนเงิน ระยะเวลาและคุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ

มีความรู้สึกเหมือนนั่งดูระเบิดเวลาที่จวนจะระเบิดเต็มทีแล้ว

เมื่อสองวันก่อนผมพูดทีเล่นทีจริงกับผู้คุ้นเคยว่า ผู้รับผิดชอบหรือคณะกรรมการในระดับนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสารพัดของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความสมดุลระหว่างมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อกับมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทุกคนกลับบ้านตอนเย็นก็มีข้าวกิน และเป็นสำรับกับข้าวที่อุดมสมบูรณ์เสียด้วย

พูดกันตรงไปตรงมาก็คือคนอย่างผมนี่แหละครับ

คนที่มีข้าวอร่อยกินทุกมื้อกับคนที่มื้อต่อไปไม่มีอะไรจะกิน ผมว่าคิดไม่เหมือนกันครับ

ถ้าคนที่เขามีรายได้กระท่อนกระแท่น มีปัจจัยสี่แบบครึ่งๆ กลางๆ ได้มาตัดสินใจหรือเพียงแค่ได้ร่วมให้ความเห็นในการตัดสินใจเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ เสียบ้าง

บางทีทางสายกลางระหว่างความเข้มงวดเพื่อป้องกันโรค กับการผ่อนคลายเพื่อให้คนที่ไม่ติดโรคโควิด-19 สามารถรอดชีวิตได้จากปัญหาเศรษฐกิจ น่าจะหาได้ไม่ยากเกินไปนัก

คนอย่างผมนี่เขียนอะไรเพ้อฝันมากขึ้นทุกทีนะครับ

เด็กสมัยนี้เขาถึงบอกว่า

“น่ามคาน” ไง