คุยกับทูต เอฟเรน ดาเดเลน อักกุน สัมพันธ์ไทย-ตุรกียุคนักการทูตหญิง ตอน 1 “รับมือโควิด”

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในดินแดนตะวันออกกลาง สาธารณรัฐตุรกีถือเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และเป็นประเทศเดียวในโลกที่ได้รับการขนานนามว่าดินแดนสองทวีป

พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันตกที่มักเรียกว่าอานาโตเลียหรือเอเชียไมเนอร์ ตุรกีในฝั่งยุโรปตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่านมีพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 3 ของทั้งประเทศ

ไทยและตุรกีมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาเป็นเวลาช้านาน โดยในบันทึก “ประวัติการค้าไทย” ของขุนวิจิตรมาตราได้กล่าวไว้ว่า สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ไทยส่งไม้ไปขายตุรกีเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศเคยติดต่อค้าขายกันมาเป็นเวลานานแล้ว และมีเหรียญตราสมัยรัชกาลที่ 3 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังโทพคาปี (Topkapi Palace) ณ นครอิสตันบูลด้วย

ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยกับตุรกีเริ่มต้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จเยือนยุโรป และราชอาณาจักรออตโตมัน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ไทยและตุรกีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.1958 ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น

และมีการร่วมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี ค.ศ.2018

 

“ดิฉันมาประจำสถานเอกอัครราชทูตตุรกีที่นี่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2017 สถานทูตนี้เริ่มเปิดทำการที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ.1958 แต่ความสัมพันธ์ของเรามีมาเนิ่นนานนับศตวรรษ”

นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน (H.E. Ms. Evren Da?delen Akg?n) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยเล่าความเป็นมา

“ดิฉันได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกเมื่อมาประจำการที่นี่ และยังเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยคนแรกที่เป็นผู้หญิง มีวาระโดยปกติ คือประมาณสี่ปี”

 

ชีวิตการทำงานของท่านทูตอักกุน เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.1993 ที่กระทรวงต่างประเทศในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี หลังจากที่ได้ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นอันดับหนึ่ง และได้รับมอบหมายให้ทำงานในสำนักนโยบายและแผนงานของกระทรวง อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดมุมมองเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ทางการทูต

ต่อมาได้รับการคัดเลือกพร้อมกับเพื่อนร่วมงานเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เมืองบรูจส์ (Bruges) ประเทศเบลเยียม จนสำเร็จได้รับปริญญาโท และได้ปฏิบัติหน้าที่นอกประเทศเป็นครั้งแรกที่สหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์เป็นเวลาสามปี แล้วไปประจำการเป็นเวลาสองปีที่เมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน, กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

ชีวิตนักการทูตนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนภายนอก ท่านทูตอักกุนเล่าถึงสาเหตุที่ได้เข้ามาในแวดวงนี้ และคุณสมบัติที่นักการทูตควรมี

“ดิฉันอยากเป็นนักการทูตมาโดยตลอดจึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการเป็นตัวแทนของประเทศและประชาชนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตุรกีเป็นประเทศที่มหัศจรรย์ มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง ผู้คนที่มีอัธยาศัยไมตรี ตลอดจนมีความสำคัญทางภูมิศาสตร์และทางการเมือง”

“ขณะนี้ตุรกีอยู่ในฐานะผู้แสดงที่มีความรับผิดชอบทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก การดำเนินงานทุกขั้นตอนของตุรกีมีผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับภูมิภาคเดียวกันตลอดจนภูมิภาคอื่นๆ ตัวอย่างในปีที่ผ่านๆ มา ตุรกีเป็นประเทศที่มีน้ำใจมากที่สุดในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศและประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับการเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่สุด”

“ดิฉันจึงถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศ”

 

ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ปัจจุบันตุรกีมีจำนวนผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลกคือเกือบ 4.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.7 ล้านคนหนีภัยสงครามมาจากซีเรีย ส่วนสหราชอาณาจักรรับชาวซีเรียเข้ามาเพียง 17,000 คน เยอรมนีรับเข้ามาราว 600,000 คน

“อาชีพนักการทูตนั้นต้องทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อประโยชน์ของประเทศตลอด 24 ชั่วโมง เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่มีความท้าทายอยู่มากทีเดียว อีกทั้งมีความรับผิดชอบที่ครอบคลุมหลายด้าน ผู้เป็นนักการทูตควรรู้จักประเทศของตนเป็นอย่างดีและต้องเรียนรู้อย่างมากเกี่ยวกับประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำการ เพื่อที่จะสามารถระบุพื้นที่ใหม่ให้เกิดความร่วมมือหรือการทำงานร่วมกันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อให้เกิดความประทับใจร่วมกัน จะช่วยทำให้มิตรภาพระหว่างประเทศสามารถขยายตัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

“นอกจากนี้ นักการทูตควรรู้จักกาลเทศะในเรื่องที่ควรพูด วิธีการพูด หรือเมื่อใดที่ควรจะนิ่ง ทักษะเหล่านี้เกิดจากเวลาและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ในอีกด้านหนึ่ง การเป็นนักการทูตทำให้มีวิถีชีวิตในการปรับปรุงโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ให้กว้างไกล เปิดโอกาสอย่างมากมายให้เราได้เติบโตต่อไป แม้ว่านักการทูตจะต้องมีความรับผิดชอบสูง แต่ก็ได้รับประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าในขณะเดียวกัน”

“ดิฉันเรียนภาษาต่างประเทศ 3 ภาษาคือ อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส แล้วก็พบว่าการได้เรียนรู้ภาษาใหม่ๆ นั้นน่าสนใจมาก อันที่จริงยังเคยอ่านพจนานุกรมเพื่อความสนุกสนานเมื่อสมัยยังเด็ก โดยพยายามที่จะเรียนรู้ภาษาสวีเดนและสเปนในจุดที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก”

“ในทำนองเดียวกับพยายามที่จะเรียนภาษาไทย แต่มักจะอายเมื่อทำได้ไม่ถูกต้อง หากต้องการเชี่ยวชาญภาษาไทยที่ค่อนข้างซับซ้อนนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องยากมากทีเดียว”

 

ท่านทูตกับแนวการแก้ไขปัญหาในช่วงล็อกดาวน์กรุงเทพฯ

“ก็เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ดิฉันปฏิบัติตามกฎอย่างระมัดระวังและจดจ่ออยู่กับการทำงานที่บ้านติดตามชีวิตสังคมผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล เนื่องจากงานทางการทูตเป็นงานตลอด 24 ชั่วโมง การล็อกดาวน์จึงเป็นความท้าทายเพิ่มเติมในแง่ที่ชาวตุรกีต้องเผชิญเพราะติดค้างอยู่ที่นี่ ดังนั้น ในระยะเริ่มต้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเราจึงยุ่งมากในการให้ความช่วยเหลือพลเมืองของเรา”

“รัฐบาลตุรกีส่งพลเมืองกลับบ้านเกือบ 100,000 คนจากกว่า 90 ประเทศ ส่วนเราจัดสองเที่ยวบิน เที่ยวบินแรกนำคนไทยจากตุรกี 55 คนกลับมายังประเทศไทย และคนตุรกี 81 คนจากประเทศไทยกลับไปตุรกี เที่ยวบินที่สองนำคนไทย 202 คนจากตุรกีกลับมายังประเทศไทย และคนตุรกี 61 คนจากประเทศไทยกลับสู่ตุรกี”

“นอกจากนี้ เรายังดูแลพลเมืองของเราที่มาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยด้วย”

 

การดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

“แน่นอนว่า เราได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทั้งสองประเทศคือไทยและตุรกี เมื่อใดที่มีการออกกฎระเบียบใหม่โดยเจ้าหน้าที่ของไทย เราก็จะเผยแพร่ไปยังพลเมืองของเราที่อยู่ในประเทศไทย แต่อาจจะเป็นคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีคนมากมายที่ติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียของเรา”

 

“เรายังได้เพิ่มมาตรการด้านสุขอนามัยภายในสถานทูตของเรา เริ่มจากการวัดอุณหภูมิที่ทางเข้า จัดการเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่ ลดวันและชั่วโมงการทำงานของแผนกกงสุล เพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เรายังพยายามเข้าช่วยพลเมืองและเพื่อนชาวไทยที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านประชาชนตุรกีหรือบริษัทที่ช่วยบริจาคเงิน”

“เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานความร่วมมือและประสานงานตุรกี (TIKA) ได้แจกจ่ายอาหารให้ครอบครัวกว่า 1,200 ครอบครัวโดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT)”

ความคิดเห็นของท่านทูตอักกุนเกี่ยวกับการจัดการของฝ่ายไทยต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

“ดิฉันประทับใจที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่กระจายของการติดเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการควบคุมที่เข้มงวด โดยทางการไทยไม่เปิดโอกาสให้มีการเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นในมุมมองทางด้านสุขภาพ”

“นอกจากนี้ ยังได้พบว่า ประเทศไทยเตรียมการอย่างสร้างสรรค์โดยคิดล่วงหน้าหลายขั้นตอน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะทำภายใต้ความไม่แน่นอนดังกล่าว การประสานงานระหว่างสถาบันต่างๆ ก็มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและสิ่งนี้ช่วยให้เกิดความสำเร็จ โดยไม่ลืมความร่วมมือร่วมใจกันอย่างพร้อมเพรียงมากมายจากสาธารณชน เพื่อนชาวไทยของดิฉันยังชี้ให้เห็นว่า อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มีการสื่อสารที่ดีกับประชาชน”

“ดิฉันจึงคิดว่า ความสำเร็จดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญและมุ่งมั่น รวมถึงการมีระบบสุขภาพที่ทันสมัย เช่นเดียวกับประชาชนที่ต่างมีความรับผิดชอบสูง ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่น่าชื่นชมและยกย่องเป็นอย่างยิ่ง”