โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญหล่อโบราณ หลวงพ่อจั่น จันทสโร วัดบางมอญ อยุธยา

หลวงพ่อจั่น จันทสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญหล่อโบราณ

หลวงพ่อจั่น จันทสโร

วัดบางมอญ อยุธยา

 

หลวงพ่อจั่น จันทสโร วัดบางมอญ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งกรุงเก่า ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

เป็นพระเกจิยุคเดียวกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ, หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง ฯลฯ

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลไว้มากมายหลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ เหรียญหล่อรูปเหมือนรุ่นแรก

จัดสร้างในปี พ.ศ.2465 เมื่อคราวที่คณะศิษยานุศิษย์จัดงานทำบุญครบ 7 รอบ ฉลองอายุ 84 ปี ที่ระลึกแก่ผู้มาร่วมทำบุญ

ในครั้งนั้น ท่านมหาทรัพย์ เฉลยวาเรส ศิษย์ยังขออนุญาตสร้างรูปหล่อสัมฤทธิ์ขนาดเท่าจริง เพื่อเอาไว้ประดิษฐานที่วัดบางมอญ ให้เป็นที่เคารพบูชา จึงได้ขออนุญาตสร้างเหรียญหล่อรูปเหมือนด้วย

เป็นเนื้อโลหะผสมแบบทองเหลืองหล่อ จำนวน 1,500 เหรียญ เพื่อออกให้แก่ศิษยานุศิษย์ผู้เคารพเลื่อมใสเช่าบูชา มีมูลค่าเหรียญละ 1 บาท

ลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่ ห่วงเชื่อม ขนาดเหรียญกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 เซนติเมตร

ด้านหน้า ขอบเหรียญยกนูนสูง ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจั่นนั่งขัดสมาธิหันหน้าตรง มือทั้งสองข้างจับเข่า ห่มจีวรแบบเฉียงลดไหล่รัดอก พาดผ้าสังฆาฏิ ไม่ปรากฏข้อความบนเหรียญ

ด้านหลัง เป็นยันต์สี่มุม แต่ละมุมบรรจุอักขระ 16 ตัว เรียกว่า ยันต์พระพุทธเจ้า 16 พระองค์ อ่านได้ว่า “นะ มะ นะ อะ นอ กอ นะ กะ กอ ออ นอ อะ นะ อะ กะ อัง” ระหว่างช่องยันต์เป็นยันต์องค์พระประกอบอุณาโลม

พุทธคุณเด่นรอบด้าน มีคนทั่วไปนิยม และเป็นอีกเหรียญที่เสาะแสวงหาเก็บบูชา

ทำให้หายาก ผู้มีไว้ครอบครองต่างหวงแหนยิ่ง

เหรียญหล่อหลวงพ่อจั่น

 

เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ปีกุน พ.ศ.2380 ที่ ต.บางมอญ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา บิดา-มารดา ชื่อ นายทบ และนางทรัพย์

เมื่อครั้งเยาว์วัย ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านอยู่กับวัด สมัยก่อนโรงเรียนหายากจึงเล่าเรียนกับพระตามวัด จนกระทั่งอ่านออกเขียนได้ ทั้งภาษาไทยและอักษรขอม

อายุ 23 ปี (พ.ศ.2403) เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดบางมอญ โดยมีพระอธิการอินทร์ วัดตาลเอน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาต่าย วัดระฆัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์จีน วัดบางมอญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เป็นพระแบบโบราณ ถือเคร่งในพระธรรมวินัย ยึดถือคำสอนของพุทธองค์ตลอดมา ไม่โลภ แต่กลับช่วยเหลืออนุเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ดังนั้น ที่วัดจึงมีสัตว์หลายชนิดมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อพรรษาอายุความรู้ความสามารถเพียงพอ ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอธิการ เมื่อปี พ.ศ.2435 และต่อมาอีก 4 ปี ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ตรงกับปี พ.ศ.2439 และต่อมาอีก 5 ปี ได้เป็นพระปลัด

ยังเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ชายหนุ่มในพื้นที่ ตั้งแต่พ่อ-ลูกถึงหลานก็ยังมี ดังนั้น จึงกล่าวได้โดยไม่ต้องสงสัยว่า ชาวทุ่งมหาราชยุคก่อน ต้องเป็นศิษย์ของท่านแทบทั้งสิ้น

ชอบศึกษาค้นคว้าวิทยาการความรู้ นอกจากนี้ ยังช่วยเหลืออนุชนรุ่นหลังได้มีตำราเก่าๆ ไว้ศึกษาหาความรู้ นับได้เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล จึงรักษาสมบัติอันมีค่าถือเป็นแบบฉบับ แม้ว่าจะมรณภาพมาเป็นเวลานานกว่า 90 ปี

ด้วยความเป็นผู้มีเมตตาธรรม มีศีลาจารวัตรเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของบรรพชิตและฆราวาสทั่วไป พยายามอบรมบ่มนิสัยให้พระภิกษุ-สามเณรทุกรูป ปฏิบัติตนให้อยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัด สั่งสอนประชาชนในแถบถิ่นใกล้-ไกลวัด ว่าให้ทุกคนประพฤติดี จะทำสิ่งใดอย่ามัวรีรอ

มีจิตใจมั่นคงในการทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยความมุ่งมั่นเอาใจใส่ดูแลวัดวาอารามของท่านด้วยความมุมานะ จึงทำให้วัดบางมอญในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ เจริญรุ่งเรืองมากวัดหนึ่ง ในแถบถิ่นตำบลบางนา เป็นวัดที่ใหญ่โต ทั้งกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงเรียน เป็นต้น

 

สําหรับวัดบางมอญ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้บูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมา และเหตุที่ได้ชื่อว่าวัดบางมอญก็เนื่องจากแถวย่านนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวรามัญ ที่อพยพแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มาทำมาหากินในแถบนี้

ปัจจุบันวัดบางมอญได้เปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า “วัดบางสงบ” ตั้งอยู่ใน อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา

บำเพ็ญศาสนกิจ สร้างคุณงามความดีมาตลอดชีวิต กระทั่งถึงวันอาทิตย์แรม 3 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ เวลาบ่าย 4 โมง ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2470 ท่านมรณภาพลงอย่างสงบ

สิริอายุครบ 90 ปี พรรษา 67

ในงานพิธีฌาปนกิจศพนั้น ปรากฏว่าบรรดาศิษย์และผู้ที่เคารพเลื่อมใสต่างมาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง