เศรษฐกิจ / ทิศทาง ศก.ไทยปี ’63 ถูกยำซ้ำแล้วซ้ำอีก หวังเงินกู้ 4 แสนล้าน… ทางรอดสุดท้าย

เศรษฐกิจ

 

ทิศทาง ศก.ไทยปี ’63

ถูกยำซ้ำแล้วซ้ำอีก

หวังเงินกู้ 4 แสนล้าน…

ทางรอดสุดท้าย

 

ปี2563 ถือเป็นปีแห่งการหั่นประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย เริ่มตั้งแต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่คาดว่าจีพีดีของไทยจะติดลบ คือ -6.7% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจติดลบแรงกว่า -8.1% จากคาดเดิม -5.3% ซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ไทย และรุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่ติดลบลึกกว่า -7.6%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสทรุดหนัก ติดลบ -6.5% ลบมากกว่าคาดการณ์เดิมที่มองว่า -4.8% ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย -8.9% จากเดิมที่ประเมินว่า -6.4%

สอดคล้องกับภาคเอกชนในส่วนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะติดลบกว่า -8.0% จากเดิมคาดว่า -5%

หนักสุดคงเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่า -10.3% ติดลบ 2 หลักที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สาเหตุหลักเป็นเพราะการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจ และภาคการบริการ ลุกลามเศรษฐกิจทั้งโลก

 

การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องเข้าสู่ภาวะการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมเชื้อไวรัสไม่ให้แพร่กระจายจนไม่สามารถควบคุมได้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจติดสุญญากาศกว่า 3 เดือน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักแบบไร้การเคลื่อนไหว

ประกอบกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ในการสร้างรายได้หลักควบคู่กับภาคการส่งออก ได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพราะความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100%

ขณะที่ประชาชนในประเทศไม่ออกเดินทาง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ

เมื่อทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะประชาชนที่โควิด-19 เข้ามากระชากทำให้เกิดการเลิกจ้าง ไม่สามารถประกอบอาชีพ หรือทำมาหากินได้ตามปกติ รัฐบาลจึงต้องระดมสมองเต็มที่ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ผ่านการแจกเงิน 5,000 บาท

การเยียวยาแบ่งเป็นกลุ่มคนอาชีพอิสระ อยู่ในระบบประกันสังคม เกษตรกรและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยประคองให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้

โดยได้ใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งใช้ไปแล้วประมาณ 4.29 แสนล้านบาท

 

หลังผ่านช่วงของการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ก็จะเข้าสู่การกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสต่อไป โดยขณะนี้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จนเกือบเป็นปกติ และประกาศการยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวแล้ว เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศเป็นไปด้วยดี

โดยการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิดที่สำคัญในขณะนี้ มีที่พึ่งทางเดียวคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการใช้จ่ายและการบริโภคภายในเท่านั้น เพราะภาพเศรษฐกิจต่างประเทศยังไม่ได้ดีมากนัก

รวมถึงมีแนวคิดในการจับคู่ประเทศ เพื่อเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน หรือแทรเวล บับเบิล ซึ่งภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ต้องการให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเร็วที่สุด เนื่องจากต้องยอมรับว่า รายได้หลักของประเทศไทยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศมากเท่าใด ก็ไม่สามารถทดแทนการใช้จ่ายของต่างชาติที่หายไปได้

แนวคิดนี้จึงเหมือนยาวิเศษต่อความหวังให้กับผู้ประกอบการและตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อ

เปิดแนวคิดได้ไม่นานก็มีแววต้องพับเก็บไว้ก่อน เพราะหลายประเทศที่ไทยมองไว้จะทำการจับคู่เดินทางระหว่างกันในระยะเริ่มต้น กลับพบผู้ติดเชื้อรอบใหม่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศ ดูจะกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ไทยต้องปิดน่านฟ้าอย่างต่อเนื่อง

ความหวังในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาต่อลมหายใจของผู้ประกอบการ และเริ่มต้นเดินหน้าเศรษฐกิจดูจะเป็นไปได้ยากขึ้น

 

ขณะที่ภาพการดำเนินการของรัฐบาลเหมือนจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็เกิดความสั่นคลอนขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีการปรับ ครม. และการลาออกของ 4 กุมารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ และเปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหลักอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่า ทีมใหม่ที่จะเข้ามา จะสามารถสานต่องานด้านเศรษฐกิจได้ดีมากน้อยเท่าใด จะเกิดภาวะการหยุดนิ่งขึ้นหรือไม่ โดยจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ถูกปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าหนักมากอยู่แล้ว

โดยต่างชาติมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยครั้งนี้ มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวนกว่าเดิม เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวดิ่งหนักมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย ซึ่งการที่มีทีมผู้นำเดิมจะช่วยกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระบาด และนักลงทุนก็อยากให้งบประมาณเหล่านี้นำไปใช้เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากการล็อกดาวน์ เพื่อกลับมาเริ่มต้นทำธุรกิจอีกครั้ง

ดังนั้น การมีนโยบายที่ต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการพยุงเศรษฐกิจที่เสียหายหนักจากการระบาดโควิด-19 ทำให้ยิ่งหาคนมารับหน้าที่ใหม่ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

 

หลังจากทุกอย่างดูไร้วี่แววในการกลับมารีบู๊ตเศรษฐกิจไทย ก็เหลือเพียงการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินก้อน 400,000 ล้านบาท ที่กันไว้สำหรับการฟื้นฟูในโครงการต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานจะเสนอโครงการเข้ามาขอใช้งบฯ ดังกล่าว

ซึ่งยอดล่าสุดมีหน่วยงานต่างๆ ยื่นของบประมาณ และมีวงเงินคำขอเกือบ 800,000 ล้านบาทแล้ว ถือว่าเกินกว่าวงเงินที่มีถึง 1 เท่าตัว จึงเป็นหน้าที่สำคัญของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติเท่านั้น

ล่าสุด ครม.เห็นชอบผลการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในการประชุมครั้งที่ 11/2563 จำนวน 3 โครงการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้แก่

  1. อนุมัติโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย วงเงินไม่เกิน 1,080.59 ล้านบาท
  2. อนุมัติโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย วงเงินไม่เกิน 2,701.87 ล้านบาท

และ 3. อนุมัติโครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟ สร้างรายได้ชุมชน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงินไม่เกิน 246.69 ล้านบาท

ด้านศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า โควิด-19 จะทำให้จีดีพีไทยติดลบ 10% ซึ่งหากพิจารณาสิ่งที่รัฐบาลทำคือ การใช้วงเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คิดเป็นเพียง 2% ของจีดีพีรวม ซึ่งจีดีพีไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท โดยหากพยายามใส่เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทเข้าระบบ คิดเป็นเพียง 2% ของจีดีพีเท่านั้น

แล้วถามว่า ประสิทธิภาพที่ได้กลับคืนมีสูงมากหรือไม่ ซึ่งประเมินแล้วคงไม่ได้สูงมากนัก

            ทำให้ไม่ว่าจะคำนวณอย่างไร มาตรการของรัฐที่ออกมาจากเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาทรวมกับเงินเยียวยาก้อนกว่า 4 แสนล้านบาท ก็ช่วยดึงจีดีพีไทยขึ้นได้ไม่มากอยู่ดี