เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ภูมิเมืองแพร่

“อาคารบอมเบย์เบอร์มา” อายุกว่าร้อยปี เป็นอาคารเก่าที่บริษัทค้าไม้ข้ามชาติ บริษัทอีสต์เอเซียติกได้สัมปทานค้าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นบริษัทแรก เมื่อยกเลิกสัมปทานป่าไม้ไปแล้ว

อาคารดังกล่าวจึงอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งอาคารดังกล่าวปัจจุบันใช้เป็นอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ และที่ทำการของสวนรุกชาติเชตวัน เป็นอาคารเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการป่าไม้ของจังหวัดแพร่ที่ยาวนาน แต่ขาดการซ่อมแซมบำรุงรักษามาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สภาพอาคารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และมีการทรุดเอียงของบ้าน จึงสมควรที่จะต้องมีการปรับปรุง ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวัน

ข้างต้นนั้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวัน ที่จังหวัดแพร่ จัดทำเป็นเอกสารชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา

เหตุด้วยปรากฏว่า การขอ “ปรับปรุง ซ่อมแซม” นั้นกลายเป็นการ “รื้อถอน” เหมือนจะทำลายจนไม่เหลือซาก ดังภาพข่าวบาดตาบาดใจนั้น

พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร บอกความแตกต่างของคำว่า “ซ่อมแซม” และ “รื้อถอน” ตามมาตรา 4 คือ

“ก่อสร้าง” หมายความว่า สร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด

“ดัดแปลง” หมายความว่า เปลี่ยนแปลง ต่อเติม หรือขยายขอบเขต

“ซ่อมแซม” หมายความว่า ซ่อมหรือเปลี่ยนส่วนต่างๆ ของอาคารให้คงสภาพเดิม

“รื้อถอน” หมายความว่า รื้อส่วนอันเป็นโครงสร้างของอาคารออกไป

ชัดเจนยิ่งว่า “ซ่อมแซม” ต่างกับ “รื้อถอน” อย่างไร

และดูจะชัดเจนด้วยว่า อาคารบอมเบย์เบอร์มาหลังนี้ถูก “รื้อถอน” ส่วนอันเป็นโครงสร้างของอาคารออกไปจนแทบจะไม่เหลือซากดังกล่าว

น่าสนใจยิ่งคือ มติ ครม.เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ลงมติเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าแพร่และเห็นชอบกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และได้มีประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เรื่องประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าแพร่เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 มีเนื้อที่รวม 1.56 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้เมืองเก่าแพร่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่การดำเนินโครงการอาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวัน เดิมไม่ได้อยู่ในเขตเมืองเก่า

แต่ได้มีการทำแผนเป็นพื้นที่ส่วนขยายเพื่อให้มีการอนุรักษ์และพัฒนา โดยได้รับความเห็นชอบจากกระบวนการมีส่วนร่วมในระดับจังหวัดแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนขยายที่มีความสำคัญในด้านการป่าไม้

ถือเป็นอีกหนึ่งมรดกวัฒนธรรมในสาขามรดกอุตสาหกรรม

ซึ่งจากการศึกษาในโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าแพร่ พบว่า มรดกอุตสาหกรรมไม้สักเมืองเก่าแพร่มีคุณค่าเทียบเท่ามรดกโลก

และนี่เป็นคำยืนยัน

“จังหวัดแพร่และกรมศิลปากรจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการกอบกู้ ฟื้นฟูและบูรณะอาคารดังกล่าวและกลุ่มอาคารหลังอื่นที่อยู่ในพื้นที่เมืองเก่าแพร่ ส่วนขยายที่มีกำเนิดและพัฒนาการในยุคเดียวกันดังที่เรียกว่า เมืองมรดกอุตสาหกรรมไม้สักหรือเมืองไม้สัก ให้สอดคล้องกับนโยบายในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าต่อไป”

คำ “มรดกอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะ “เมืองมรดกอุตสาหกรรมไม้สัก” นี้มีค่าควรแก่ “ภูมิเมืองแพร่” เป็นที่สุด

เป็นภูมิฐานภูมิถิ่นที่ชาวแพร่พึงภูมิใจยิ่ง

ดังกล่าว ทุกที่มีเรื่องราว มี “เรื่องเล่า” แต่มักขาดการ “เล่าเรื่อง” หาไม่ก็เล่าเรื่องอย่างไม่มีศิลปะ คือขาด “ศิลปะการเล่าเรื่อง” ภูมิฐานภูมิถิ่นจึงไม่ปรากฏ แม้จะปรากฏอยู่ ดังอาคารที่เป็น “โบราณสถาน” แต่ก็หาคนได้รู้เรื่องรู้ราวไม่ ดังอาคารไม้เมืองแพร่หลังนี้

มีเรื่องเล่า แต่ขาดการเล่าเรื่อง คนจึงไม่รู้เรื่อง

นี้เป็นปัญหาของงานศิลปะและวัฒนธรรม บ้านเราที่จำเป็นต้องช่วยกัน “ซ่อมแซม” ด่วน

ขอเสนอดังนี้

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสั่งการให้ อบจ. อบต. วัฒนธรรมจังหวัดที่มีสภาวัฒนธรรมทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล ร่วมสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มีคุณค่าสมกับความเป็น “ภูมิบ้านภูมิเมือง” อันมีอยู่ ทั้งสถานที่ อาคารโบราณสถาน ศิลปวัตถุ ฯลฯ รวบรวมขึ้นทำเนียบเป็น “ทำเนียบภูมิบ้านภูมิเมือง” ของเมือง ของจังหวัด

สิ่งใดควรขึ้นทะเบียน ควรขึ้นทะเบียนไว้

นอกนั้นพึงขึ้นทำเนียบไว้เป็นภูมิฐานภูมิถิ่น เพื่อเป็น

ภูมิแผ่นดินสืบไป

ภูมิเมืองแพร่

๐ ใช่รื้อแค่อาคาร

หากคือการรื้อทำลาย

คุณค่าและความหมาย

ของภูมิบ้านและภูมิเมือง

๐ ทุกที่มีเรื่องเล่า

แต่มักขาดการเล่าเรื่อง

ปาวปาวกันเปล่าเปลือง

ไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว

๐ ภูมิแพร่คือภูมิไพร

ยังยิ่งใหญ่ยังโยงยาว

เพชรพลอยอันแพรวพราว

คืออาคารโบราณสถาน

๐ สมควรประชาคม

ทุกภาคส่วนควรร่วมผสาน

อย่าปล่อยให้ราชการ

กับเอกชนสมคบค้า

๐ สร้างใหม่ถึงแสนเหมือน

ก็ยากเลือนสาหัสสา

สาเหตุส่อเจตนา

คือบาดแผลของแผ่นดิน!