สุจิตต์ วงษ์เทศ / ลอยกระทง มาจากลอยโคม สมัยอยุธยา ขอขมาธรรมชาติ

ชักโคมบนเสาไม้ที่บ้านพราหมณ์ ในภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดร สมัย ร.3 เรือน พ.ศ.2374 บนผนังหลังพระประธานโบสถ์วัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ (คำอธิบายและถ่ายภาพโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลอยกระทง มาจากลอยโคม

สมัยอยุธยา ขอขมาธรรมชาติ

พิธีกรรมสำคัญในรอบปีที่รู้จักเป็นสามัญว่า “ประเพณี 12 เดือน” มีขึ้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์และมั่นคงทางอาหาร ได้แก่ ข้าว ที่ได้รับยกย่องจากราชสำนักสมัยอยุธยาตอนต้นเป็น “แม่โพสพ”

อยุธยา “ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก” สืบทอดและสร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับแม่โพสพสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้ “ตัดตอน” ข้อมูลความรู้ทำให้บอกไม่ได้ถึงที่มาและความหมายแท้จริงของประเพณีนั้นๆ จึงเสมือน “เด็ดดอกไม้ที่บานแล้ว” โดยไม่รู้ที่มาของการบ่มเพาะกว่าจะผลิบานเป็นดอกไม้นั้น

ลอยกระทงมีต้นตอรากเหง้าจากลอยโคมสมัยอยุธยา เพื่อขอขมาธรรมชาติคือน้ำและดิน ที่บันดาลความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารเลี้ยงดูคนทั้งปวงให้มีชีวิตเพื่อสร้างสรรค์บ้านเมืองจำเริญเติบโตเป็นราชอาณาจักร ทั้งนี้ มีพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมถึงประเพณีพิธีกรรมทำตกทอดสืบเนื่องมายาวนานมาก ตั้งแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว

ตำราก่อนหน้านี้ระบุว่าลอยกระทงมีกำเนิดจากนางนพมาศ สนมพระร่วง กรุงสุโขทัย ดังพบในหนังสือเรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่ปัจจุบันในทางวิชาการเป็นที่รับรู้และรับรองทั่วกัน ว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศเป็นวรรณกรรมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมมุติฉากเป็นกรุงสุโขทัย แต่งขึ้นอย่างมี “นิยาย” ราวแผ่นดิน ร.3-ร.4 จึงไม่ถือเป็นเรื่องจริงตามที่เคยเชื่อมานานว่าลอยกระทงครั้งแรกมีในกรุงสุโขทัย

 

ขอขมาธรรมชาติ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

 

“เดือน 11 น้ำนอง            เดือน 12 น้ำทรง

เดือนอ้ายเดือนยี่              น้ำก็รี่ไหลลง”

 

กลอนเพลงร้องเล่นยกมานี้น่าเชื่อว่าเป็นที่รู้แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านสมัยอยุธยา บริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง มีเนื้อความบอกสภาพขณะนั้นของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เดือน 11 (กันยายน-ตุลาคม) น้ำเหนือนองทั่วไปไหลหลากลงมาจากทางเหนือจนท่วมข้าวในนาซึ่งกำลังตั้งท้องออกรวง

เดือน 12 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) น้ำทรงตัวไม่ขึ้นไม่ลง แต่บางแห่งลุ่มต่ำมากอาจท่วมข้าวจนรวงเหลืองแก่เน่าตายกับน้ำท่วมนั้น

เดือนอ้าย คือ เดือน 1 (พฤศจิกายน-มกราคม) ถึงเดือนยี่ คือ เดือน 2 (มกราคม-กุมภาพันธ์) น้ำลดลงตามธรรมชาติ บรรดาชาวนาเริ่มเกี่ยวข้าว เมื่อเสร็จแล้วหลังจากนั้นก็นวดข้าว ได้ข้าวเปลือกเอาไว้แปลงเป็นข้าวสารเก็บไว้กินตลอดปี

แต่ธรรมชาติไม่คงที่เสมอไปทุกปี โดยมนุษย์ไม่มีวันรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดภาวะผิดปกติแปรปรวนในปีไหน? ตอนไหน? ดังนั้น เพื่อความมั่นใจของคน “ทำนาทางฟ้า” ต้องมีพิธีกรรมขอขมาธรรมชาติคือน้ำและดินเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการเซ่นวักตั๊กแตนสังเวยผีสางที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ขออย่าได้แปรปรวนจนเสียหาย

สมัยอยุธยา ซึ่งสืบเนื่องประเพณีพิธีกรรมจากบ้านเมืองหรือรัฐสมัยก่อนหน้านั้น ได้แก่ รัฐในวัฒนธรรม “ทวารวดี” (ด้วยเหตุที่ว่าอยุธยามีนามทางการว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หมายถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นทายาททางอุดมคติจากทวารวดีมีน้ำล้อมรอบอันเป็นแดนของเทพนามพระกฤษณะบนสวรรค์)

พิธีกรรมขอขมาน้ำและดินมีสืบต่อกันตั้งแต่เดือน 11 ถึงเดือน 12 เพื่อวิงวอนร้องขอให้น้ำลดลงเร็วๆ จะได้เก็บเกี่ยวข้าวในนา (ถ้าน้ำไม่ลดหายไป ชาวนาเข้านาเก็บเกี่ยวไม่ได้) โดยแข่งเรือและลอยโคม ถ้าน้ำยังไม่ลดก็ไล่น้ำ

แข่งเรือและลอยโคมจนถึงไล่น้ำเริ่มเมื่อไร? เลิกเมื่อไร? สมัยโบราณไม่กำหนดตายตัว เพียงแต่รับรู้ทั่วกันกว้างๆ ว่าระหว่างกลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ชุมชนใดพร้อมลอยวันใดวันหนึ่ง หรือลอยเรื่อยๆ หลายวันก็ได้จนกว่าน้ำจะลด

 

แข่งเรือ

เรือสองลำความยาวไล่เลี่ยกัน มีฝีพายจำนวนเท่ากัน ชิงเอาชนะกันด้วยการพายเรืออย่างเร็วๆ เท่ากับผลักดันน้ำอย่างรุนแรงให้ไหลลงอย่างรวดเร็ว น้ำจะได้ลดเพื่อชาวนาลงไปเก็บเกี่ยวข้าวในนาที่สุกเหลืองอร่ามเต็มที่แล้ว

สมัยอยุธยา แข่งเรือมี 2 ระดับ ได้แก่ แข่งเรือเสี่ยงทายในพระราชพิธี และแข่งเรือพนัน

แข่งเรือเสี่ยงทาย เป็นพระราชพิธีสมัยอยุธยาตอนต้น มีบอกในกฎมณเฑียรบาล และทวาทศมาสโคลงดั้น ว่าเรือมเหสีแข่งกับเรือพระเจ้าแผ่นดิน

แข่งเรือพนัน เป็นประเพณีชาวบ้านทั่วไป มีบอกในจดหมายเหตุลาลูแบร์ และยังมีสืบเนื่องทุกวันนี้ทั่วประเทศ รวมทั้งทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์

 

ชักโคม, ลอยโคม

แยกเป็น 2 กิจกรรม ทำคราวเดียวกัน เดือน 11, 12 พบอยู่ในเอกสารสมัยอยุธยาตอนต้น ได้แก่ กฎมณเฑียรบาล และทวาทศมาสโคลงดั้น

ชักโคม ตั้งเสาไม้เป็นแถวกลางแจ้ง แล้วชักรอกดึงโคมขึ้นแขวนยอดเสา ภายในโคมจุดไฟจากน้ำมันไขสัตว์วัวควายเพื่อกระทำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามแบบพราหมณ์จากอินเดีย

จุดไฟจากน้ำมันไขสัตว์ ในกฎมณเฑียรบาลเรียก “จองเปรียง” คำนี้มีผู้รู้ทางภาษาโบราณอธิบายว่ามีรากจากภาษามอญโบราณ จอง (โจง) แปลว่า แสงสว่าง, เปรฺง (เปรียง) แปลว่า ควาย

ลอยโคม เดิมเป็นพิธีในศาสนาผี เพื่อขอขมาเจ้าแม่แห่งน้ำและดิน โดยใช้กาบกล้วยหรือกระบอกไผ่เป็นภาชนะใส่เครื่องเซ่นลอยน้ำ ต่อมารับแบบแผนจากจีนทำโคมกระดาษแล้วจุดไฟไว้ในโคมกระดาษลอยน้ำ (พบหลักฐานในจดหมายเหตุจีนและบันทึกของลาลูแบร์)

ขอขมาเจ้าแม่แห่งน้ำและดินโดยภาชนะใส่เครื่องเซ่นทำจากใบตอง พบหลักฐานเก่าสุดในภาพสลักปราสาทบายน ราว พ.ศ.1750 (ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา) ต่อมาในแผ่นดิน ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ ปรับปรุงโคมกระดาษเป็นกระทงทำจากใบตองสืบถึงทุกวันนี้แล้วเรียก “ลอยกระทง”

 

ไล่น้ำ

เป็นพระราชพิธีมีเมื่อน้ำหลากท่วมข้าวในนาจนผ่านพิธีลอยโคมขอขมาไปแล้วยังไม่ลดลง จึงโปรดให้ทำพิธีไล่น้ำโดยตั้งขบวนจากกรุงพระนครล่องตามแม่น้ำไปบางปะอิน (สมัยอยุธยาตอนต้นเรียก “บางขดาน” เพราะเป็นที่โคลนเลนทะลักลงทับถมจนเป็นดินราบเรียบราวแผ่นกระดาน มีบอกในทวาทศมาสและกำสรวลสมุทร)

จากนั้นทำพิธีบริเวณ “ดินสะดือ” (คือตาน้ำ) ด้วยการเห่กล่อม (ขณะเรือจอดนิ่ง) เพื่อขอให้น้ำไหลผ่านตาน้ำลงบาดาลน้ำจะได้ลด (ตามความเชื่อโบราณว่าบาดาลอยู่ใต้ดินเป็นที่ขังน้ำกว้างใหญ่ มีพญานาคควบคุมดูแล)

การเห่กล่อมขอขมาให้น้ำลดอาจเป็นต้นแบบสิ่งที่เรียกทุกวันนี้ว่า “เห่เรือ”