อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (23) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

“Over the Mountains of the Moon, down the Valley of the Shadow, ride, boldly ride ,if you seek for El Dorado.”

“พ้นภูเขาแสงจันทร์ ลึกลงไปในหุบเหวแห่งเงา มุ่งหน้าไป หากคุณปรารถนาจะได้พบกับ เอล โดราโด้”

เอ็ดการ์ อัลลันโป

ที่พิพิธภัณฑ์ทองคำในกรุงโบโกต้า ประเทศโคลอมเบีย มีงานประติมากรรมทองคำลอยตัวขนาดย่อมชิ้นหนึ่ง

งานประติมากรรมชิ้นนี้ถูกขุดค้นพบในปี 1969 ในถ้ำแถบทางใต้ของโบโกต้า

ประติมากรรมนี้เป็นรูปกษัตริย์ของชนเผ่ามุยซก้า-Muisca ที่ทาทองคำทั่วทั้งตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการกระโจนลงแม่น้ำ

รูปประติมากรรมที่ว่านี้สร้างตามความเชื่อที่มีต่อตำนานเกี่ยวกับ เอล โดราโด้ นครแห่งทองคำ

ตำนานที่ว่านี้แพร่หลายในกลุ่มชาวสเปนที่มาถึงโลกใหม่ในช่วงศตวรรษที่สิบหก หนึ่งร้อยปีให้หลังจากการจัดระเบียบโลกใหม่

พวกเขาบุกลึกเข้าไปในป่าดงดิบ เข้าไปในดินแดนที่ไม่รู้จัก และแล้วเรื่องราวของเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในเทือกเขาแอนดีส (ที่ปัจจุบันนี้เป็นประเทศโคลอมเบีย) ก็แพร่ข่าวมาถึง

เมืองเล็กๆ ที่มีผู้ปกครองทาตัวด้วยผงทองคำในยามเช้าและล้างออกด้วยการกระโจนลงสายน้ำในยามเย็น

เชื่อกันว่าสายน้ำที่ผู้ปกครองกระโจนลงไปนั้นคือทะเลสาบกัวตาวิต้า-Guatavita

ทะลสาบที่ว่านี้ลึกลงไปเบื้องใต้เต็มไปด้วยเพชรนิลจินดาจำนวนมหาศาลที่ชาวเอล โดราโด้ โยนทิ้งลงไปเพื่อบูชาเทพเจ้าของพวกเขา

 

ในช่วงต้นศตวรรษที่สิบหก กองทัพสเปนหลายกองพากันบุกขึ้นไปยังเทือกเขาแอนดีส หากแต่พวกเขาไม่พบเอล โดราโด้ แต่พบเมืองเก่าและผู้คนเผ่าต่างๆ แต่ละเผ่าล้วนครอบครองทองคำที่พวกสเปนเชื่อว่าฉกฉวยมาจากเอล โดราโด้

มีการไปถึงทะเลสาบกัวตาวีต้าจริง และพวกสเปนพยายามทดน้ำออกจากทะเลสาบ ทุกระดับน้ำที่ลดลงมีทองคำปรากฏขึ้น แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถเอาน้ำออกจากทะเลสาบได้หมดสิ้น

มีบุคคลหลายคนที่เป็นตำนานแห่งการค้นหาเอล โดราโด้

บุคคลแรกที่จะถูกอ้างอิงเสมอคือ เซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ห์-Sir Walter Raleigh

เขาเดินทางไปยังโลกใหม่ถึงสองครั้งสองคราเพื่อค้นหาดินแดนที่ว่า ครั้งแรกในปี 1594 และครั้งที่สองในปี 1617

โดยในครั้งที่สองนั้นเขาถึงกับส่งลูกชายของตนเองคือ วัตต์ ราเล่ห์-Watt Raleigh ไปตามแม่น้ำโอริโนโก้ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่เอล โดราโด้

ในขณะที่ตัวเขาเองเฝ้ารอข่าวอยู่ที่เกาะทรินิแอด

การสำรวจครั้งนั้นล้มเหลวและวัตต์ถูกสังหารโดยกองทัพสเปนที่ตั้งรออยู่

เซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ห์ ต้องเดินทางกลับอังกฤษด้วยความผิดหวัง

แต่เคราะห์กรรมแห่งการสำรวจไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เขาถูกจับกุมตัวด้วยพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นของเขาและจับเขาประหารชีวิต

ในข้อหาที่กระทำการสงครามกับพวกสเปนโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

เซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ห์ นั้นเกิดในตระกูลที่นับถือศาสนาโปรแตสแตนต์

เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และกลายเป็นผู้นำคนสำคัญของพวกไอริช อันเป็นถิ่นเกิดของเขา

ด้วยบุคลิกที่สง่างามและการตัดสินใจที่เฉียบขาดทำให้ วอลเตอร์ ราเล่ห์ ได้รับความชื่นชมจากพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่งเป็นอย่างมากในกิจการที่เขาได้รับมอบหมาย

เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นท่านเซอร์ในปี 1585

โชคชะตาของเขาพุ่งขึ้นสูงเมื่อเขาได้รับอนุญาตจากพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่งให้ไปทำการสำรวจโลกใหม่เพื่อหาที่ตั้งถิ่นฐานให้แก่ชาวอังกฤษในปี 1584

ในการเดินทางครั้งนั้นเองที่เขาได้ทราบเรื่องราวของเอล โดราโด้

และทำให้เขาติดสินใจกลับมาบุกป่าฝ่าดงอีกครั้งในปี 1594

ผลของการสำรวจครั้งนี้ เซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ห์ ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่าการค้นพบกูยาน่า-The Discovery of Guiana

เขามีความตั้งใจจะกลับไปค้นหาเอล โดราโด้ อยู่ตลอดเวลา แต่หลังจากพระนางเจ้าอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ลงในปี 1603 เซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ห์ ก็ตกอับ

เพราะพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งไม่โปรดเขาเอาเสียเลย

เขาถูกจับขังคุกอยู่ในหอคอยลอนดอนเป็นเวลาหลายปีในข้อหากบฏก่อนจะถูกปล่อยตัว

เขาเดินทางไปโลกใหม่ทันทีหลังจากนั้นพร้อมกับลูกชาย

ก่อนจะกลับมาสู่อังกฤษเพื่อประสบชะตากรรมที่ถึงชีวิตในที่สุด

 

หนังสือที่ วอลเตอร์ ราเล่ห์ เขียนซึ่งมีชื่อว่า การค้นพบกูยาน่า-The Discovery of Guiana เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักสำรวจคนอื่นๆ อีก

แม้ว่าข้อความในหนังสือจะไม่ได้กล่าวถึงดินแดนเอล โดราโด้ โดยตรง แต่ถ้อยความที่กล่าวถึงการพบทองคำตามที่ต่างๆ อยู่เนืองๆ ก็ส่งผลต่อแรงปรารถนาของผู้คน

หลังจากนั้นอีกราวสามสิบปี ในปี 1636 ฮวน โรดิเกวซ เฟรยเล่-Juan Rodriguez Freyle นักผจญภัยชาวสเปน ได้เขียนหนังสือชื่อ การได้ชัยและครอบครองอาณาจักรใหม่แห่งกรานาด้า-The Conquest and Discovery of the New Kingdom of Granada

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เล่าถึงชนเผ่ามุยซก้าที่เชื่อกันว่าเป็นชนเผ่าสำคัญในเอล โดราโด้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการแต่งตั้งหัวหน้าเผ่า หรือการกระโจนลงสายน้ำศักดิ์สิทธิ์อย่างทะเลสาบกัวตาวีต้า เพื่อบูชาเทพเจ้าก็ตาม

รายละเอียดในหนังสือต่อพิธีกรรมที่ว่านี้มีครบถ้วนตั้งแต่การจุดคบไฟรอบแพทั้งสี่มุม แล้วนำแพไปยังกลางแม่น้ำ

เมื่อถึงกลางแม่น้ำ หมอผีประจำเผ่าจะส่งสัญญาณให้ทุกคนเงียบเสียงก่อนจะเปล่งชื่อของหัวหน้าเผ่าคนใหม่จากประชาชนริมฝั่ง

น่าแปลกที่ตำนานที่ว่านี้ของชาวมุยซก้าจากเขียนของ ฮวน โรดิเกวซ เฟรยเล่ ได้ปรากฏให้เห็นในประติมากรรมทองคำที่ถูกค้นพบในปี 1969

อันเป็นการยืนยันว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องโคมลอย อันที่จริงเรื่องราวของชาวมุยซก้าปรากฏในการค้นพบของชาวสเปนกว่าร้อยปีก่อนหน้า

ในปี 1536 นักผจญภัยชาวคอร์โดบา นาม กอนซาโร่ จิมาเนซ เดอ เควสซาด้า-Gonzalo Jimanez de Quesada ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการของเกาะคานารี่ให้เดินทางเข้าไปในป่าลึกแถบกรานาด้าเพื่อค้นหาเมืองของชนเผ่ามุยซก้าที่ชื่อเอล โดราโด้ ด้วยกำลังทหารเก้าร้อยนาย (ที่หลงเหลือในภายหลังเพียง 166 นาย)

เดอ เควสซาด้า บุกเข้าไปจนถึงดินแดนโบโกต้าในปัจจุบัน ระหว่างทางพวกเขาต้องผ่านแม่น้ำเซซ่าร์ แม่น้ำมักดาเลน่า แม่น้ำซัวเรซ ผ่านทั้งทะเลสาบฟูกูเอน่าและซูเอสก้า ก่อนจะถึงที่ราบ

ระหว่างทางพวกเขาต้องกินทั้งงู กบ กิ้งก่า แม้กระทั่งต้องเคี้ยวขนนกจากยอดหมวกเพื่อประทังความหิวโหย

เมื่อถึงที่นั่น เดอ เควสซาด้า ได้ประกาศตั้งอาณาจักรใหม่ของกรานาด้าก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นเมืองโบโกต้าในเวลาต่อมา

ดินแดนกรานาด้าเติบโตขึ้นแต่ยังไร้วี่แววของเอล โดราโด้

 

บุคคลสำคัญที่ค้นหาเอล โดราโด้ ในเวลาถัดมาคือ ฟรานซิสโก้ เดอ โอเรลลาน่า-Francisco de Orellana

เขาเป็นนาทหารคู่ใจของ ฟรานซิสโก ปิซาร์โร ผู้พิชิตดินแดนเปรูและอินคา

ในปี 1541 เขาได้รับคำสั่งจาก กอนซาร์โร่ ปิซาร์โร่ น้องชายของ ฟรานซิสโก้ ปิซาร์โร่ ให้เขาเดินทางจากเมืองที่เขาพำนักอยู่คือ ควิโต้-Quito ไปยังเทือกเขาแอนดีสเพื่อค้นหาเอล โดราโด้

การเดินทางครั้งนั้นทำให้ ฟรานซิสโก เดอ โอเรลลาน่า (ที่แยกตัวจาก กอนซาร์โร่ ปิซาร์โร่ ในระหว่างการสำรวจ) ได้ค้นพบแม่น้ำสายสำคัญในโลกใหม่คือ แม่น้ำอเมซอน

ที่นั่นเขาได้ยืนยันคำเรียกขานแม่น้ำสายนี้ซึ่งมาจากคำเรียกนักรบหญิงว่าเขาได้เห็นหญิงสาวกลุ่มหนึ่งทำการสู้รบกับชนเผ่าอีกเผ่าด้วยสายตาตนเอง

เดอ โอเรลลาน่า พำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับสเปน

การค้นพบแม่น้ำอเมซอนสร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างยิ่ง แม้จะผิดใจกับ กอนซาร์โร่ ปิซาร์โร่ ที่เชื่อว่าเขาหักหลังต้องการจะครอบครองทองคำจากเอล โดราโด้ เพียงผู้เดียว

เดอ โอเรลลาน่า ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักสเปนให้ครอบครองดินแดนที่เขาค้นพบคือ นิว อันดาลูเชีย

ในปีถัดมาเขากลับมาค้นหาเอล โดราโด้ อีกครั้ง ครานี้เขาจัดเรือลำใหญ่ถึงสี่ลำเพื่อล่องแม่น้ำอเมซอน เขาไปถึงที่นั่นในปี 1545

แต่โรคภัยไข้เจ็บ และความเหนื่อยล้าทำให้ผู้คนใต้บังคับบัญชาเขาพากันหลบหนีออกจากดินแดนใหม่ปากแม่น้ำอเมซอน

ในที่สุด เดอ โอเรลลาน่า ก็ล้มป่วยลงด้วยอาการตรอมใจ

เขาเสียชีวิตในดินแดนที่เขาค้นพบด้วยวัยเพียงสามสิบห้าปีเท่านั้น

 

หลังจากการค้นหาของ เซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ห์ เอล โดราโด้ หายไปจากความสนใจของผู้คน

โลกใหม่มีการแสวงหาเงินทองที่ง่ายดายกว่าการบุกป่าฝ่าดงหาทองคำอีกต่อไป

เรื่องราวของเอล โดราโด้ ปรากฏตนอีกครั้งในศตวรรษที่สิบเก้า

แต่ครานี้อยู่ในหนังสือรวบบทกวีที่ชื่อ เอล โดราโด้ ในปี 1849 โดยนักเขียนชื่อดัง คือ เอ็ดการ์ อัลลัน โป

บทกวีนั้นเล่าถึงชีวิตอัศวินคนหนึ่งที่ออกแสวงหาดินแดนในตำนานนาม เอล โดราโด้ บทกวีที่ว่านี้ อัลลัน โป เขียนเสียดสีผู้คนที่พากันออกแสวงหาทองคำในยุคตื่นทองในสหรัฐ ทว่า มันกลับได้รับความนิยมในกลุ่มคนเหล่านั้นแทน

เอล โดราโด้ ยังคงเป็นเหมือนหมุดหมายแห่งความฝันของเหล่านักผจญภัย มีหลายสิ่งที่เป็นผลพวงจากการสำรวจนั้น อาทิ การค้นพบแม่น้ำอเมซอน และดินแดนใหม่ๆ อย่างโคลอมเบีย

กระนั้นสิ่งที่ติดตามไปตามลำน้ำอเมเซอนและแม่น้ำทุกสายในโลกใหม่ไม่ได้มีเพียงการเดินทางและการสำรวจ

แต่ยังมีอีกสิ่งที่ทรงพลานุภาพไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน สิ่งนั้นคือ-เชื้อโรค