ธงทอง จันทรางศุ | สุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ สัญญาบัตร คืออะไร ?

ธงทอง จันทรางศุ

สําหรับคนที่ชอบเรื่องโบร่ำโบราณอย่างผม คงคุ้นเคยกับคำว่าสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ และสัญญาบัตรกันมาบ้างพอสมควร

แต่ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็คงงุนงงสงสัยว่าสามคำนี้คืออะไรหนอ

เรามาว่ากันถึงเรื่องคำแปลก่อนดีกว่านะครับ

บัฏ หรือ บัตร ในที่นี้แแปลเหมือนกันว่า แผ่น พอเข้าใจอย่างนี้แล้วก็รู้ได้ทีเดียวว่า สุพรรณบัฏแปลว่าแผ่นทองคำ หิรัญบัฏแปลว่าแผ่นเงิน

ส่วนสัญญาบัตรนั้นแม้ไม่ใช่คำแปลโดยตรงแต่ก็อธิบายไว้ตรงนี้เสียก่อนว่าหมายถึงแผ่นกระดาษที่เป็นเครื่องหมายแห่งการแต่งตั้งทั้งหลาย

คนไทยจำนวนไม่น้อยคงเคยได้ยินเรื่องราวที่บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อคนเราแต่ละคนทำความดีความชั่วอะไรไว้ก็แล้วแต่ จะมีผู้ที่คอยจดบันทึกกรรมหรือการกระทำของเราไว้เป็นหลักฐานสำหรับพิจารณาคดีเมื่อเวลาที่เราสิ้นชีวิตไปแล้วและต้องไปพบกับยมบาล เพื่อจะชี้ขาดว่าเราจะไปสวรรค์หรือลงนรก

เลขานุการที่ทำหน้าที่จดบันทึกดังกล่าว คนแรกชื่อสุวรรณ มีหน้าที่จดเหตุการณ์ความดีทั้งหลายลงบนแผ่นทองคำ สมกันกับชื่อของผู้ทำหน้าที่นั้น

ส่วนเลขานุการที่จดบันทึกความชั่ว มีชื่อว่าสุวาน ซึ่งแปลว่าสุนัข

บัญชีบันทึกความชั่วของคนทั้งหลายทำด้วยหนังหมาครับ

เมื่อตอนผมเป็นเด็กมีหนังฉายทางโทรทัศน์ช่องอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว รู้แต่ว่าหนังเรื่องนั้นชื่อ พิภพมัจจุราช ทำเป็นตอนๆ ฉายกันหลายปีเลยทีเดียว มีเพลงประจำหนังเรื่องดังกล่าวที่ผมยังพอจำเนื้อเพลงได้ว่า

“พิภพมัจจุราชใครถึงฆาตดับชีวี สุวรรณตรวจดูบัญชีถ้าทำดีให้ไปสวรรค์ ถ้าทำชั่วพระยมว่าอย่างไร อ๋อ! ส่งลงไปนรกโลกันต์น่ะสิ ต้นงิ้วกระทะทองแดง เอาหอกแหลมแทงทุกวันๆ…”

ผมเข้าใจว่ามาจากคติความเชื่อทำนองนี้ จึงเป็นที่มาของการใช้แผ่นทองคำแผ่นเงินมาจารึกราชทินนามของเจ้านาย พระสงฆ์ผู้ใหญ่ หรือข้าราชการผู้ใหญ่ ที่ได้รับพระราชทานสถาปนาหรือแต่งตั้งให้มีเกียรติยศเพิ่มพูนขึ้น

ถ้าเป็นราชาศัพท์ ก็เติมคำว่า พระ ลงไปข้างหน้า กลายเป็นคำว่าพระสุพรรณบัฏ

เมื่อปีก่อนที่ผ่านมามีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เราได้ยินคำนี้บ่อยครั้งนะครับ

ตั้งแต่พระสุพรรณบัฏที่จารึกพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดถึงเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์

โดยมีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเป็นพระราชพิธีส่วนเริ่มต้นก่อนจะถึงวันสำคัญซึ่งเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือวันพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ในเวลาต่อมา

พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏนี้โดยปกติทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผู้ทำหน้าที่จารึกคืออาลักษณ์ แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว เมื่อจารึกพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย หรือพระนามลงบนแผ่นทองคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะประดิษฐานพักไว้ที่พระอุโบสถแห่งนั้นเพื่อรอเวลาที่จะเชิญไปเข้าพิธีสำคัญเมื่อถึงกำหนด

พระนามเจ้านายทุกพระองค์ที่ได้รับสถาปนาจะจารึกลงบนพระสุพรรณบัฏ ไม่มีกรณีที่จะใช้แผ่นเงินที่เรียกว่าหิรัญบัฏเลยแม้แต่พระองค์เดียวครับ

แล้วหิรัญบัฏใช้สำหรับท่านผู้ใดเล่า

เฉลยว่าผู้ที่จะได้รับเกียรติยศจารึกราชทินนามลงบนแผ่นทองแผ่นเงิน นอกจากสมาชิกในพระราชวงศ์ที่ว่ามาแล้ว ยังใช้สำหรับการสถาปนาหรือแต่งตั้งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ยิ่งยศด้วย

พระสงฆ์ในเมืองไทยของเรานั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์มาแต่ไหนแต่ไร เพื่อให้มีกำลังจะได้ปฏิบัติศาสนกิจได้เต็มที่ พระบรมราชูปถัมภ์นั้นมีเป็นอเนกประการ เช่น สร้างวัดวาอารามถวาย บำรุงการศึกษา และการตั้งแต่งให้

สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสูง ถ้าเป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ได้รับพระสุพรรณบัฏ เพราะถือว่าท่านมีพระเกียรติยศเสมอด้วยเจ้านาย ถ้าเป็นพระภิกษุที่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะก็จะได้สุพรรณบัฏเหมือนกัน แต่ไม่มีคำว่า พระ นำหน้านะครับ เพราะสมเด็จพระราชาคณะไม่ถือว่ามีฐานะเป็นเจ้านาย เราจึงไม่ใช้ราชาศัพท์กับสมเด็จพระราชาคณะ

ลดหลั่นลงมาอีกลำดับหนึ่งคือพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่เราเรียกว่า ชั้นรองสมเด็จ อันมีความหมายเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าถ้าได้เลื่อนสมณศักดิ์อีกครั้งหนึ่งก็จะได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้ว

พระราชาคณะลำดับนี้นี่แหละที่จะได้จารึกราชทินนามลงบนแผ่นเงิน เรียกว่าหิรัญบัฏ

ถ้าเป็นพระราชาคณะลำดับรองจากนี้ลงไป เช่น พระราชาคณะชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราช หรือชั้นสามัญ ตลอดไปจนถึงพระครูซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน ท่านเหล่านี้ไม่ได้แผ่นเงินแผ่นทองอะไรหรอกครับ แต่จะได้เอกสารสำคัญที่เรียกว่าสัญญาบัตร

กล่าวคือ เป็นแผ่นกระดาษที่เป็นพระบรมราชโองการพระราชทานสมณศักดิ์ เขียนด้วยลายมืออาลักษณ์อย่างสวยงาม และทรงลงพระปรมาภิไธย พร้อมประทับตราพระราชลัญจกรไว้เป็นสำคัญ

ตรงนี้มีคำแทรกอีกคำหนึ่ง ที่มีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องถึงกัน คือคำว่า ประทวน

คำนี้ใช้กับพระครูอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ทรงแต่งตั้งโดยพระองค์เอง หากแต่ทรงมอบหมายให้พระราชาคณะทั้งหลาย พิจารณาแต่งตั้ง “ฐานานุกรม” คือผู้ที่จะทำงานร่วมกันที่อาจเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ว่าเป็นทีมงานของท่านให้เป็นพระครูได้

พระครูประเภทนี้ พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้พระราชทานสัญญาบัตรให้ เป็นเรื่องที่พระราชาคณะผู้แต่งตั้งไปออกเอกสารสำคัญเอง

เอกสารนั้นเรียกว่า ใบประทวน

ชาวเราทั้งหลายจึงเข้าใจได้ว่าพระครูนั้นมีสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้ง อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าพระครูประทวน

นอกจากสุพรรณบัฏและหิรัญบัฏสำหรับพระสงฆ์แล้ว แต่ครั้งโบราณนานมาเราใช้สุพรรณบัฏสำหรับการแต่งตั้งขุนนางผู้ใหญ่ชั้นสมเด็จเจ้าพระยาและเจ้าพระยา รวมทั้งการใช้หิรัญบัฏสำหรับเจ้าพระยาบางท่านที่ยังอ่อนอาวุโสไม่ถึงขั้นที่จะได้สุพรรณบัฏด้วย

แต่ถ้าเป็นขุนนางบรรดาศักดิ์ต่ำกว่านี้ ตั้งแต่พระยาเป็นต้นลงไป ก็จะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรครับ

ทีนี้เรามาพูดถึงข้าราชการชั้นสัญญาบัตร นายทหารชั้นสัญญาบัตร และนายทหารชั้นประทวน กันบ้างดีไหมครับ

ข้าราชการฝ่ายพลเรือนนั้น แต่ดั้งเดิมมาก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรในเวลาแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ทั้งหลายคล้ายกันกับพระสงฆ์องค์เจ้า ครั้นเป็นผู้ใหญ่ชั้นสูงยิ่งจึงได้หิรัญบัฏและสุพรรณบัฏดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ต่อมาภายหลังได้ยกเลิกแบบธรรมเนียมอย่างนี้ไป เห็นจะเป็นเพราะมีข้าราชการเป็นจำนวนมากเกินกำลังที่จะทำได้อย่างแต่ก่อน แต่ก็ยังเรียกติดปากกันอยู่บ้างว่าคนโน้นคนนี้เป็นข้าราชการสัญญาบัตร

ทางฝ่ายทหารสิครับที่ยังเห็นเรื่องนี้ชัดเจน นายทหารชั้นยศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไปจนถึงสุดยอดไม่ว่าจะเป็นจอมพลหรือพลเอกก็ตาม สมัยก่อนจะมีใบพระราชทานยศที่เป็นสัญญาบัตร เขียนลงบนแผ่นกระดาษ

ถ้าได้รับพระราชทานเลื่อนยศสูงขึ้นก็จะมีใบสัญญาบัตรใบใหม่เพิ่มขึ้นทุกคราวไป นายทหารประเภทนี้จึงเรียกว่านายทหารสัญญาบัตร

ผมได้เคยเห็นสัญญาบัตรของพ่อตัวเองได้รับพระราชทานยศเป็นเรือตรี แต่เห็นแค่ใบเดียวนะครับ ยศชั้นอื่นที่พ่อได้รับเลื่อนขึ้นไปภายหลังไม่เคยเห็นสัญญาบัตรใบอื่นอีกเลย

ตรงนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันเพราะไม่ได้คลุกคลีตีโมงอยู่กับราชการฝ่ายทหารมากนัก ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริง ถ้าผมจะกล่าวว่าการ พระราชทานสัญญาบัตรที่เป็นแผ่นกระดาษอย่างที่ว่านี้ อาจจะพ้นยุคสมัยไปแล้วและไม่ได้ปฏิบัติอีกต่อไป การพระราชทานยศอาศัยหลักฐานสำคัญคือมีประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพียงเท่านั้นก็พอแล้ว

ส่วนนายทหารที่ชั้นยศต่ำกว่า ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี คือชั้นยศที่เรียกกันว่าเป็นจ่าหรือนายสิบนั้น เอกสารสำคัญที่แต่งตั้งเข้าสู่ยศดังกล่าวไม่ใช่สัญญาบัตร หากแต่เป็นเอกสารที่ผู้บังคับบัญชาออกให้เองตามอำนาจหน้าที่ เรียกว่า ใบประทวน

หรือบางทีก็เรียกย่อว่า ประทวน เฉยๆ

นายทหารกลุ่มนี้จึงเรียกรวมกันว่านายทหารชั้นประทวน เทียบกันได้กับพระครูประทวนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

พอรู้ที่มาที่ไปอย่างนี้แล้วก็สบายใจนะครับ

มีเกร็ดขำขันเรื่องหนึ่งที่ขอเล่าปิดท้ายว่า สมเด็จพระพระราชาคณะรูปหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า ราชทินนามของท่านเปลี่ยนไปตามสมณศักดิ์ทุกครั้ง เมื่อท่านเป็นชั้นรองสมเด็จ ท่านก็มีราชทินนามอย่างหนึ่ง

ต่อมาเมื่อท่านได้รับพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ราชทินนามของท่านก็เปลี่ยนไป

คราวหนึ่งท่านต้องไปทำเอกสารสำคัญกับทางราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติขอให้ท่านนำใบเปลี่ยนชื่อมาแสดง โดยเจ้าหน้าที่ผู้นั้นคงนึกว่าท่านคงมีใบเปลี่ยนชื่อที่อำเภอออกให้หรืออะไรประมาณนั้น

ท่านได้แต่เพียงบอกว่า อาตมาไม่มีใบเปลี่ยนชื่อ

มีแต่สุพรรณบัฏ

ฮา!