Save Scala : บทบาทจุฬาเพื่อสร้างวัฒนธรรมร่วมสมัย | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

อวสานของโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นโศกนากฎกรรมที่น่าเศร้าใจ เพราะถึงแม้สกาลาจะเป็นเพียงโรงภาพยนตร์ แต่อายุที่ยืนยาวเกินครึ่งศตวรรษทำให้สกาลาอยู่ในความทรงจำของคนอย่างน้อยสองชั่วคน ไม่ต้องพูดถึงองค์ประกอบทุกอย่างที่ทำให้สกาลามีสถานะอีกด้านคือเทวาลัยทางวัฒนธรรม

สกาลาในความเป็นจริงคือโรงหนังที่ผู้เช่าจ่ายค่าเช่าให้จุฬาฯ เพื่อทำมาหากิน และด้วยค่าเช่ามหาโหดซึ่งจุฬาฯ เรียกเก็บขณะสกาลาระงับกิจการตามคำสั่งรัฐบาลถึง ๓ เดือนเหมือนมหรสพอื่นๆ ทำให้สกาลาอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว แต่คำถามที่คนจำนวนมากคิดทำอย่างไรให้ความเป็นสกาลาคงอยู่ต่อไป

คนทั่วไปอาจคิดว่าสกาลาไม่ต่างจากโรงหนังอื่นในประเทศไทย แต่สกาลาถูกออกแบบอย่างประณีตจนไม่มีโรงหนังไหนเสมือน สกาลาเต็มไปด้วยประติมากรรมที่ทำให้โรงหนังเป็นงานศิลปะ ยิ่งกว่านั้นคือสกาลาเป็นโรงหนังจริงๆ แห่งสุดท้าย ส่วนโรงอื่นเป็นแค่ห้องฉายหนังเช่าที่ห้างเหมือนร้านชานมเย็น

สกาลาถูกสร้างและออกแบบโดยเจ้าของและสถาปนิกที่เห็นว่าหนังคืออารยธรรม คุณพิสิฐ ตันสัจจา สร้างสกาลาในปี 2512 เพื่อให้เป็นโรงหนังสวยที่สุดในประเทศ สกาลาจึงสง่างาม หรูหรา มีแชนเดอเลียร์หนัก 3 ตันจากอิตาลี มีห้องโถง และประดับด้วยงานปูนปั้นแสดงวัฒนธรรมมหรสพเอเชีย

สกาลาไม่ใช่เป็นแค่โรงหนัง เพราะความเป็นสกาลาคือการดูหนังท่ามกลางองค์ประกอบทุกอย่างที่เต็มไปด้วยแรงงานแห่งความรักในศิลปะแขนงที่ 7 จนไม่มีโรงมหรสพไหนให้ประสบการณ์นี้กับผู้ชมได้อีกในประเทศ ต่อให้อาจมีห้องฉายหนังอื่นๆ ที่คุณภาพของเครื่องฉายและจอดีกว่าสกาลาก็ตาม

สกาลาปิดโรงด้วยการฉายหนังคลาสสิคเรื่อง Cinema Paradiso ซึ่งพูดถึงโรงหนังที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนอิตาลีจนๆ และไม่ว่าจะหอภาพยนตร์ผู้ฉายหนังจะตั้งใจหรือไม่ Cinema Paradiso คือหนังที่บอกว่าโรงหนังขนาดใหญ่ถึงกาลอวสาน จะมีก็แต่พื้นที่ในความทรงจำของผู้คนเท่านั้นเอง

ตัวละครหลักของ Cinema Paradiso เป็นเด็กกับคนแก่จนผิวหน้าของหนังเหมือนพูดถึงการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย (Coming Of Age) แต่สิ่งที่หนังพูดคู่ขนานกันไปก็คือการเปลี่ยนผ่านของโรงหนังที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เรื่องเล่าเกี่ยวกับโรงหนังจึงเป็นเสมือนบันทึกความเป็นไปของสังคม

Cinema Paradiso เปิดเรื่องโดยสะท้อนอิทธิพลของศาสนจักรเหนือชุมชนอิตาลีจนๆ ที่พระมีอำนาจขั้นสั่งไม่ให้โรงหนังฉายฉากจูบ จากนั้นคนจากเมืองอื่นซื้อโรงหนังไป พระหมดอิทธิพล และทุกคนก็ได้ดูหนังโดยไม่มีเซ็นเซอร์จนเจ้าของร่ำรวยมหาศาล แต่ที่สุดโรงหนังถูกทุบเพราะไม่มีใครดูหนังจนเทศบาลเอาที่ไปทำที่จอดรถแทน

ในชีวิตชุมชนจนๆ แห่งนี้ ศาสนจักรมีอำนาจเหนือประชาชน จากนั้นทุนนิยมแย่งชิงอำนาจเหนือศาสนจักร และในท้ายที่สุด เทคโนโลยีมีอำนาจทุกคน

คนรักหนังทั่วโลกรัก Cinema Paradiso แต่สารที่หนังเรื่องนี้พูดกับผู้ชมอย่างโหดเหี้ยมคือไม่มีโรงหนังไหนเป็นอมตะ โรงหนังอยู่ได้ด้วยชุมชน และวันใดที่พฤติกรรมชุมชนเปลี่ยน คนดูหนังในโรงหนังลดลง ดูวิธีอื่นมากขึ้น วันนั้นที่อยู่เดียวของโรงหนังย่อมได้แก่ในความทรงจำของผู้คน

ฉากสุดท้ายของ Cinema Paradiso เศร้าแบบเปี่ยมด้วยความย้อนแย้งทางอารมณ์ คนแทบทั้งหมู่บ้านยืนดูการทุบโรงภาพยนตร์ที่เป็นเสมือนนามานุกรมของชีวิต ผู้ชมสะเทือนใจที่เห็นความทรงจำของผู้คนถูกทำลายต่อหน้า แต่ก็จำนนกับความจริงว่าความทรงจำนี้ผูกพันกับสถานที่ซึ่งไม่ใช่ของทุกคน

ถึงที่สุดแล้ว Cinema Paradiso พูดถึงการเผชิญหน้าระหว่าง “ความทรงจำรวมหมู่” ของผู้คนต่อพื้นที่อย่างโรงหนังซึ่งก้ำกึ่งว่าเป็น “พื้นที่สาธารณะ” หรือ “พื้นที่ส่วนบุคคล” ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีโรงหนังสกาลาด้วยเช่นเดียวกัน

สกาลาเป็นพื้นที่ทางธุรกิจที่กลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม นั่นหมายความว่าแม้จุฬาจะให้นักธุรกิจเช่าที่ทำโรงหนังเพื่อจ่ายค่าเช่าให้จุฬา สังคมไทยในรอบกว่าห้าสิบปีได้ให้ความหมายใหม่กับสกาลาที่มากกว่าพื้นที่ทำมาหากินแล้ว นั่นคือสกาลาเป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐที่มีมูลค่าเพิ่มเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะของสังคม

คนรักหนังอยากให้สกาลาคงอยู่ในฐานะโรงหนังต่อไป และด้วยความสง่างามของอาคาร รวมทั้งการเป็นพื้นที่ทางสังคม สกาลาก็สมควรเป็นแบบนั้นต่อไปด้วย เพียงแต่ในมิติของกฎหมายและความเป็นเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริงนั้น เรื่องนี้ไม่มีทางเกิดได้ หากเจ้าของที่อย่างจุฬาไม่ยินยอม

ถึงที่สุดแล้วสถานะของโรงหนังสกาลาขึ้นอยู่กับจุฬามองการบริหารพื้นที่อย่างไร

Cinema Paradiso จบด้วยเจ้าที่ดินทุบโรงหนังเพื่อสร้างที่จอดรถแบบไม่เห็นหัวประชาคม ความทรงจำรวมหมู่ของชุมชนต่ำชั้นกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ พื้นที่ทางวัฒนธรรมด้อยค่ากว่าลานจอดรถซึ่งคงไม่มีใครจดจำอะไรอีก แต่คำถามคือสมควรหรือที่จุฬาจะทำเหมือนเจ้าที่ดินในหนังเรื่องนี้ทำ

สกาลาเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของสังคม คุณค่าของสกาลาเกิดเพราะสังคมมีความทรงจำร่วมต่อพื้นที่ ที่ดินแปลงนี้มีความหมายมากกว่าแท่งคอนกรีตสำหรับกอบโกยค่าเช่า สถาบันการศึกษาที่ฉลาดจึงพึงเห็นว่าเงินสร้างคุณค่าแบบนี้ไม่ได้ มิหนำซ้ำอาจไม่มีมหรสพสถานอื่นๆ ทำแบบนี้ได้เลย

โรงหนังอื่นอาจทันสมัยกว่าสกาลา แต่ไม่มีโรงไหนเต็มไปด้วยแรงงานแห่งความรักที่อัดแน่นลงในอาคารสถานที่จนผู้ชมผูกพันกับสถานที่แบบนี้

เราอาจมีศูนย์วัฒนธรรมรัชดาที่ถูกสร้างเพื่อมหรสพโดยตรงกว่าสกาลา แต่สามทศวรรษของศูนย์วัฒนธรรมกลับสร้างความผูกพันกับใครไม่ได้เลย

สกาลาเป็นผลผลิตของสังคมไทยยุคที่กระบวนการสร้างความเป็นสมัยใหม่ขึ้นสู่จุดสูงสุดก่อนเกิดการปฏิวัติประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 จนเผลอๆ อาจต้องยอมรับว่าสกาลาเป็นภาพสะท้อนของการมีอารยะของชนชั้นนายทุนไทยที่หลังจากนั้นเราแทบไม่เห็นอะไรแบบนี้อีกเลย

สกาลาเกิดจากนายทุนที่ทะเยอะทะยานจะสร้างโรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในประเทศ แต่สถาปัตยกรรมของสกาลาสะท้อนว่า “นายทุน” กรณีนี้มีความตระหนักว่าภาพยนตร์คือ “มหรสพ” ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนเอเชียจนเกิดปูนปั้นที่ทำให้โรงภาพยนตร์มีสภาพราวหอศิลปะที่เดียวในประเทศไทย

สกาลาสะท้อนความรุ่งเรืองของชนชั้นนายทุนทศวรรษ 2490-2510 ที่เติบโตกับความเป็นสมัยใหม่จนเห็นว่าสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลง แต่คนรุ่นนั้นก็เป็นชาตินิยมมากพอจะทำให้เกิดความคิดว่าต้องการสร้างธุรกิจหรือกิจการบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ให้สังคมไทย เช่นการบินไทย, สกาลา, ดุสิตธานี, มติชน ฯลฯ

โดยเนื้อแท้แล้วทุนนิยมคือความสัมพันธ์ที่เอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ชนชั้นนายทุนยุค 2490-2510 มีลักษณะ Modernity Nationalism หรือ “ชาตินิยมที่มีความเป็นสมัยใหม่” ซึ่งอาจไม่มีในชนชั้นนายทุนหรือผู้ประกอบการหลังจากนั้น เราจึงไม่เห็นการทำอะไรที่เป็นมรดกของยุคสมัยถัดจากนั้นเลย

เราอาจมีการสร้างตึกสูงที่สุดในทวีปเอเชีย มีธงชาติใหญ่ที่สุดในโลก หรือการทำผัดไทยพร้อมกันหลายร้อยคนอย่างที่ไม่มีใครในโลกทำ แต่กิจกรรมทั้งหมดนี้ถูกสร้างบนความคิดเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือการสร้างภาพเป็นข่าวในความหมายแคบเท่านั้น ไม่ใช่การปักหมุดความเป็นสมัยใหม่ให้ประเทศนี้จริงๆ

จุฬาเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นในสังคมไทย แต่ละเดือนกอบโกยค่าเช่ามหาศาลจากสยาม-มาบุญครอง-สวนหลวง-สามย่าน-บรรทัดทอง ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ดินจากสังคมที่พระราชทานให้ฟรีๆ ซ้ำยังได้งบประมาณเพื่อพัฒนาจุฬาต่อเนื่องมาหลายทศวรรษจนไม่ต้อลงลงทุนอะไรอย่างคนอื่นเลย

พื้นฐานของจุฬาคือสถาบันวิชาการ จุฬาจึงควรคิดเรื่องที่ดินแบบสถาบันทางวิชาการที่ตอบแทนสังคมบ้าง จุฬาไม่จำเป็นต้องขายที่ดินทุกตารางนิ้วก็ได้ เพราะสังคมให้อะไรกับจุฬาไปฟรีๆ มากจนจุฬาควรมีสำนึกที่จะทำอะไรบ้างเพื่อสังคม

สภาพเศรษฐกิจและกระแสสังคมตอนนี้ทำให้จุฬาไม่กล้าทุบ หรือ “เซ้ง” สกาลาโดยเร็ว แต่จุฬาควรใช้มูลค่าทางสังคมของสกาลาต่อยอดพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างวัฒนธรรมร่วมสมัยให้แข็งแกร่งขึ้น ตัวอย่างเช่นอาจแปลงสกาลาเป็นคลัสเตอร์ทางวัฒนธรรมเชื่อมต่อหอศิลป์กรุงเทพ (BACC) และหอศิลป์จามจุรี

จุฬาตั้งอยู่กลางที่ดินผืนเก่าแก่ซึ่งใกล้พื้นที่ทันสมัยที่สุดในสังคมอย่างสยามสแควร์ ผลก็คือจุฬามีโอกาสสร้างพื้นที่ต้นแบบของความทันสมัยที่มีรสนิยมซึ่งไม่มีเจ้าที่ดินรายไหนทำได้ สกาลาที่เป็นโรงมหรสพสำหรับวัฒนธรรมร่วมสมัยจะเป็นตัวแบบของการพัฒนาซึ่งสถานศึกษาควรทำต่อสังคม

ถ้านายทุนไทยสมัยครึ่งศตวรรษที่แล้วสร้างโรงภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่จนคนนับพันไปคารวาลัยในวาระสุดท้ายได้ จุฬาควรมีปัญญาแปลงมรดกวัฒนธรรมร่วมสมัยจากนายทุนไทยให้มีอายุยืนยาวต่อไปได้เช่นกัน

อย่าให้คนเขาพูดได้ว่าเสาหลักของแผ่นดินคิดได้แค่หากำไรสูงสุดจากที่ดินซึ่งได้มาฟรีๆ