การงดเว้นจากบาป | สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพุทธศาสนา

สูตรสำเร็จในชีวิต (18)

การงดเว้นจากบาป

คงต้องเสียเวลาทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า บาปคืออะไร ผู้รู้ท่านหนึ่งท่านอธิบายง่ายๆ แบบชาวบ้าน ฟังแล้วมองเห็นภาพ ว่าบาปก็คือ “อาการเสียของใจ” หรือพูดสั้นๆ ว่า “เสียใจ”

ธรรมดาของใช้ไม้สอยที่มันใช้การไม่ได้ เราเรียกต่างๆ กัน ถ้าบ้านเสียเราเรียกว่าบ้านชำรุด แก้วเสีย เราเรียกแตก อาหารเสีย เราเรียกว่าอาหารบูด คำว่าชำรุด แตก บูด (หรือคำอื่นคล้ายกันนี้) เราเรียกรวมๆ ว่ามันเสีย มันไม่ดี

จิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ามันเสียแล้วเราเรียกอาการมันต่างๆ กัน เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจต่ำ ใจทราม ใจร้ายใจดำ คำเหล่านี้บ่งบอกอาการว่า จิตหรือใจนั้นเสีย

อาการเสียของใจนี้แหละ พระท่านเรียกว่าบาป ทำอะไรลงไปแล้วถ้าจิตใจเราเสีย เรียกว่าทำบาป

อาการ “เสียใจ” นี้ต้องดูลึกๆ จึงจะเห็นแล้วอย่าเอาไปปนกับคำว่า “เสียใจ” นะครับ ประเดี๋ยวจะเข้าใจผิดไปกันใหญ่ เช่น ทำอะไรลงไปแล้วดีอกดีใจ เรียกว่าทำบุญ ทำอะไรแล้วรู้สึกเสียใจ เรียกว่าทำบาป นั่นเข้าใจผิดแล้วครับ

ถ้าตัดสินกันแค่นี้ ไอ้ผู้ร้ายใจอำมหิตที่ฆ่าคนอย่างเลือดเย็นก็มีสิทธิ์ทำบุญได้ เพราะแกฆ่าเขาตายแล้วแกดีอกดีใจยังกับได้แก้ว

สรุปว่า บาปคือเสียใจ ส่วนความเสียใจเป็นเพียงอาการของจิต การหัวเราะร้องไห้จะถือเป็นเกณฑ์ว่าบาปหรือไม่บาปไม่ได้ ต้องดูกันถึงพื้นของจิตจึงจะรู้ว่าจิตบาปหรือไม่บาป

พูดถึงเรื่องบาป ศาสนาอื่นๆ กับศาสนาพุทธเราเห็นไม่เหมือนกัน อย่างศาสนาคริสต์สอนว่า พอเกิดมาทุกคนมีบาปติดตัวมาแล้ว สืบมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คืออาดัมกับอีวา แกขโมยกินแอปเปิลของพระเจ้า ถูกพระเจ้าสาปให้มีบาปติดตัวมา ลูกหลานอาดัม-อีวาทุกคนพอร้องอุแว้ออกมาก็มีบาปติดตัวมาด้วย เรียกว่า “บาปกำเนิด”

และบาปนี้มนุษย์เราจะขจัดออกเองไม่ได้ ต้องอาศัยพระกรุณาของพระเจ้า พระเจ้าไม่ให้หมดบาปก็ไม่มีสิทธิ์หมด ว่างั้นเถอะ

ส่วนพระพุทธศาสนาบอกว่า บาปหรือบุญมนุษย์ทำเอง สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะแต่ละบุคคล ใครจะทำให้ใครบริสุทธิ์ (หรือจะพูดแบบศาสนาอื่นก็คือ “ไถ่บาป”) ไม่ได้ นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำบาป ในทรรศนะพุทธ บาปมิได้มาจากใครสาปใครแช่งให้มา บาปจะมีก็เพราะคนเราทำเอาเองและจะหมดไปด้วยการกระทำของมนุษย์แต่ละคนเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาไถ่ให้

บางคนอาจสงสัยว่า พระพุทธศาสนาก็มีการไถ่บาป เช่น การปลงอาบัติของพระนั่นไง พระทำผิดวินัยบัญญัติแล้วก็สารภาพบาปกับพระอีกรูปหนึ่ง แล้วบาปที่ทำนั้นก็หมดไป มันก็อันเดียวกันกับการสารภาพบาปของคริสต์นั่นเอง

เจตนารมณ์ของการปลงอาบัติคือ ถ้ารู้ว่าตนทำผิดพระวินัยบัญญัติ (เรียกภาษาพระว่า “ต้องอาบัติ”) ให้มาสารภาพกับสักขีพยานคือพระอีกรูปหนึ่งว่า ตนได้ผิดอะไรและให้คำมั่นว่า ต่อไปจะระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนั้นอีก หาใช่การขอให้ใครมายกความผิดนั้นออกไปให้

หรือมาไถ่ออกให้แต่อย่างใดไม่