วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เมื่อ “ไกรศักดิ์” วางงานวิชาการ ลงการเมืองเต็มตัว

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

อินเทลลิเจนท์เซียแห่งซอยราชครู (3)

หลังจากสารคดี Just Games ไปแล้วหลายเดือน ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จึงกลับมาเมืองไทย ตอนแรกผมคิดว่าไกรศักดิ์คงกลับไปสอนหนังสือตามเดิม

แต่ก็ผิดถนัดเมื่อไกรศักดิ์ตัดสินใจเข้าสู่วงจรทางการเมืองด้วยการสมัครเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้งเดือนกันยายน 2535

แม้จะรู้สึกเสียดายในความรู้ทางวิชาการของไกรศักดิ์ แต่พอไกรศักดิ์ลงเล่นการเมือง พวกเราก็เฮกันไปช่วยไกรศักดิ์

ตอนที่ประชุมงานกันนั้นมีเพื่อนฝูงของไกรศักดิ์มากันหลายสิบคน และมาจากหลายแวดวงด้วยกัน ผมเห็นแต่ละคนแล้วก็คิดว่า เกือบทั้งหมดคงไม่ต่างไปจากผมสักกี่มากน้อย คือต่างก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรหรืออย่างไร เพราะตั้งแต่รู้เรื่องการเมืองและเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะนักกิจกรรมแล้ว แทบไม่มีใครเลยก็ว่าได้ที่เคยช่วยผู้สมัครหาเสียง

เมื่อคิดไม่ออกผมก็ทำแบบที่ผมถนัด นั่นคือ เขียนบทความเล่าเรื่องของไกรศักดิ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง

แต่ที่จะให้ไปเดินหาเสียงนั้น แม้ใจอยากจะทำ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะผมเป็นข้าราชการซึ่งเขามีข้อห้าม

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนั้นไกรศักดิ์กลายเป็น ส.ส.สอบตก พวกเราต่างก็เสียใจและผิดหวังไม่ต่างกับไกรศักดิ์ หลายคนคิดว่า บางทีไกรศักดิ์อาจกลับไปเป็นอาจารย์อีกทีก็ได้ เพราะไม่มีอะไรให้ทำแล้ว แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่เป็นเช่นนั้นตามเคย

และเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ไกรศักดิ์ได้เลือกที่จะเดินบนเส้นทางการเมืองอย่างแน่วแน่แล้ว

 

ส่วนความทรงจำของผมจากการเลือกตั้งครั้งนั้นมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ เสื้อยืดที่ใส่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้ไกรศักดิ์ เสื้อยืดตัวนี้เป็นสีขาว มีภาพลายเส้นสีดำรูปไก่โต้งยกขาข้างหนึ่ง และที่จะงอยปากคาบดอกไม้สีแดง เหนือภาพขึ้นไปมีคำว่า “จารย์โต้ง เป็นลายเส้นสีดำเช่นกัน แบบเสื้อนี้คุณอโณทัย จิตราวัฒน์ (โณ) ภรรยาของไกรศักดิ์เป็นคนเขียนภาพและออกแบบ

ทุกวันนี้ผมยังเก็บเสื้อยืดตัวนั้นเอาไว้เป็นที่ระลึก

หลังการเลือกตั้งครั้งนั้นไปแล้วไกรศักดิ์แทบจะว่างงาน แต่เวลาที่มีเหลือเฟือก็ไม่ได้ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

ไกรศักดิ์ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการอ่านหนังสือเยี่ยงนักวิชาการ และได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้างในฐานะนักวิชาการอิสระ

ถึงตรงนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ที่ไกรศักดิ์ทำเช่นนี้ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีฐานะดี แต่ก็มิได้ใช้ฐานะนี้ไปอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ โดยเปล่าประโยชน์

การที่ไกรศักดิ์มีเวลาค่อนข้างอิสระในช่วงนี้ทำให้พวกเราได้พบกันบ่อย การส้องเสพเสวนาดังแต่ก่อนกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง ตราบจนปี 2539 ไกรศักดิ์ก็ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทางด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็แทบไม่ได้เจอกันอีกเลย

เหตุผลคงไม่ใช่เพราะต่างคนต่างไม่ว่างเท่านั้น แต่ที่สำคัญยังมาจากงานที่ไกรศักดิ์ทำนั้นแยกไม่ออกจากสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราหลายคนไม่ถนัด

นี่คงเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมห่างไกลจากไกรศักดิ์ หากไม่นับตอนที่ไกรศักดิ์หนีไปต่างประเทศหลังรัฐประหารปี 2534

และยิ่งห่างไกลมากขึ้นเมื่อไกรศักดิ์ลาออกจากที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. มาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจังหวัดนครราชสีมา

 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ส่วนไกรศักดิ์ก็มีช่องทางที่จะได้เพราะโคราชเป็นถิ่นที่มีฐานเสียงของบิดา แต่ตอนที่จัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2543 นั้น บิดาของไกรศักดิ์ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ไกรศักดิ์ก็ยังคงได้รับการเลือกเข้ามา

แน่นอนว่าการได้รับเลือกตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกในครั้งนี้ย่อมนำมาซึ่งความยินดีแก่ไกรศักดิ์ไม่น้อย เหมือนเป็นการลบล้างความรู้สึกผิดหวังจากที่เคยแพ้การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2535 ยังไงยังงั้น และเมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้วไกรศักดิ์ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา

ซึ่งสอดคล้องต้องตรงกับความรู้ความสามารถของไกรศักดิ์โดยแท้

ส่วนผมก็ได้แต่คิดในใจว่า คราวนี้ไกรศักดิ์เข้าสู่วงจรทางการเมืองเต็มตัวแบบนี้ เราคงไม่ได้เจอกันอีกเป็นแน่แท้ ส่วนหนังสือรวมบทความของไกรศักดิ์ก็เป็นอันพับไปตลอดกาล ทั้งนี้ ผมควรกล่าวด้วยว่า นอกจากบทความที่ได้ให้รายชื่อไปแล้ว หลังจากนั้นไกรศักดิ์ยังมีบทความอีกชิ้นหนึ่ง บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 18 ปี 14 ตุลาฯ และ 15 ปี 6 ตุลาฯ เมื่อปลายปี 2534 หรือหลังรัฐประหารในปีเดียวกันไปแล้วหลายเดือน บทความนี้คือ

“ปัญหาเศรษฐกิจ-ขีดจำกัดทางการเมืองยุคอานันท์” แลไปข้างหน้าประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.

จากข้อมูลบรรณานุกรมข้างต้นทำให้รู้ว่า ไกรศักดิ์เขียนบทความนี้ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกจากบทความของไกรศักดิ์แล้วก็ยังมีบทความของนักวิชาการท่านอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

 

จนแล้วในวันหนึ่งผมก็ได้รับการติดต่อจากไกรศักดิ์ให้ช่วยทำงานชิ้นหนึ่ง เป็นงานที่ผมไม่คาดคิดว่าในชีวิตนี้ผมจะได้ทำโดยเฉพาะกับไกรศักดิ์ เรื่องของเรื่องก็คือว่า ไกรศักดิ์ได้รับเชิญจากราชบัณฑิตยสถานให้เขียนบทความชิ้นหนึ่งเพื่อตีพิมพ์ในวารสารราชบัณฑิตยสถาน

โดยที่ไกรศักดิ์เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา บทความชิ้นนี้จึงน่าจะเกี่ยวกับการต่างประเทศไม่โดยตรงก็โดยอ้อม และที่ให้ผมช่วยก็คือ ให้ร่วมเขียนบทความนี้ พอรู้เช่นนี้ผมก็ตอบรับด้วยความเต็มใจ

ส่วนวิธีเขียนก็คือ ไกรศักดิ์จะบอกเล่าความคิดของตนให้ผมฟังตั้งแต่ชื่อบทความ เค้าโครง เนื้อหา ตลอดจนหนังสือที่ใช้อ้างอิง ผมซึ่งนั่งฟังก็จดสิ่งที่ไกรศักดิ์บอก

บทความนี้มีเนื้อหาที่บอกเล่าถึงการล่มสลายของเศรษฐกิจไทยในปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยมีจุดเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและกลุ่มทุนไทยในเชิงวิพากษ์จนทำให้เห็นว่า ไกรศักดิ์ใช้หลักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของคาร์ล มาร์กซ์ ในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องชนชั้น

หลังจากบรรยายเสร็จแล้วไกรศักดิ์ก็บอกกับผมว่า บทความนี้จะใส่ชื่อผมในฐานะผู้ร่วมเขียนด้วย

ตอนแรกผมปฏิเสธ เพราะตั้งใจจะช่วยด้วยใจจริงๆ แต่ไกรศักดิ์ยังคงยืนยันตามนั้นด้วยนิสัยที่ไม่เอาเปรียบใคร จนผมต้องยอมรับและรู้สึกเป็นเกียรติ

จากนั้นก็กลับไปนั่งเขียนจนแล้วเสร็จ และได้รับการตีพิมพ์ใน…

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และวรศักดิ์ มหัทธโนบล. “ไทยในสถานการณ์โลก”. วารสารราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา). ปีที่ 27. ฉบับพิเศษ (ธันวาคม 2545). หน้า 313-341.

ต่อมาบทความชิ้นนี้ได้มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ โดยบรรณาธิการสำนักพิมพ์ได้ตั้งชื่อให้ใหม่และปรากฏเป็นรูปเล่มใน ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และวรศักดิ์ มหัทธโนบล. ฟองสบู่เข้าตา เทวดาตกสวรรค์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์. 2547.

 

หลังจากผลงานชิ้นนี้แล้วผมกับไกรศักดิ์ก็พบกันน้อยมาก เพราะต่างคนต่างมีภาระงานที่มากขึ้น ผมจะพบกับไกรศักดิ์ก็ต่อเมื่อนำหนังสือเล่มใหม่ของผมไปมอบให้ถึงที่บ้าน หลังจากบทความชิ้นนั้นแล้วผมก็ไม่ทราบว่าไกรศักดิ์ยังมีงานเขียนอีกหรือไม่

แต่เมื่อได้ครุ่นคิดถึงวันคืนเก่าๆ ที่ผ่านมาแล้วทำให้ผมเห็นว่า ไกรศักดิ์น่าจะจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่เรียกว่าอินเทลลิเจนท์เซีย (intelligentsia)

คำนี้โดยทั่วไปจะแปลว่าปัญญาชน (intellectual) แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะตรงนัก ด้วยอินเทลลิเจนท์เซียเป็นผู้มีฐานะทางชนชั้นที่มีการศึกษา มีความผูกพันกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานอย่างลึกซึ้ง โดยเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับชนชั้นนี้ด้วยการให้ข้อคิด คำแนะนำ จนนำไปสู่การขัดเกลาทางวัฒนธรรมและการเมืองร่วมกับชนชั้นนี้ ซึ่งปัญญาชนตามที่เข้าใจกันจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำเช่นนั้น

อินเทลลิเจนท์เซียมักจะเป็นศิลปิน ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ นักเขียน หรือบุคคลในแวดวงวรรณกรรม แม้อินเทลลิเจนท์เซียจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 แต่กลับมีบทบาทสำคัญในช่วงก่อนการปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ.1917 โดยบอลเชวิก

จะเห็นได้ว่าไกรศักดิ์เป็นอินเทลลิเจนท์เซียได้อย่างครบถ้วน และที่ครบถ้วนได้คงมิใช่เพราะฐานะทางบ้านประการเดียว แต่ยังมาจากช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนโตที่ไปอยู่ผิดที่ผิดทางโดยที่ครอบครัวไม่ได้เจตนา และที่ทางที่ไกรศักดิ์ได้อยู่ ได้เห็น และได้เป็นก็หล่อหลอมให้ไกรศักดิ์มีความคิดความอ่านและบทบาทอย่างที่เห็น

แต่วันนี้…ไม่มีอินเทลลิเจนท์เซียแห่งซอยราชครูเมื่อวานนี้อีกแล้ว…