คุยกับทูต โลเรนโซ กาลันตี ไทย-อิตาลี ยืนหยัดเคียงข้างวิกฤตโควิด-19 (จบ)

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ใหม่ “นิวนอร์มัล” (New Normal) ว่า คือความปกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งหมายถึงสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่แต่เดิมเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ ผู้คนไม่คุ้นเคย ไม่ใช่มาตรฐาน ต่อมามีเหตุหรือเกิดวิกฤตบางอย่าง จึงมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้สถานการณ์หรือปรากฏการณ์นั้น กลายเป็นสิ่งที่ปกติ และเป็นมาตรฐาน

ท่านทูตกาลันตี แสดงความคิดเห็นใน “ความปกติใหม่” นี้ว่า

“ในขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ covid-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากนั้น ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าไวรัสจะมีอิทธิพลมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตประจำวันของพวกเราในระยะยาว ไวรัสน่าจะอยู่กับเราในรูปแบบที่อันตรายน้อยกว่าเมื่อมีการให้วัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันระดับชุมชน (Herd Immunity)”

“พฤติกรรมของเราอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเพราะเรารู้แล้วว่า อาจจะมีการเกิดโรคระบาดอีก หากพวกเราไม่ระมัดระวัง”

“แต่หลังจากโรคระบาดนี้สงบลง ซึ่งผมหวังว่าในเร็ววันนี้ เราจะยังคงใช้หน้ากากอยู่ในบางสถานการณ์และในบางสถานที่ เช่น สนามบิน หรือระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่”

“สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศอิตาลี ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากมายหลายคน เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยต่อสุขภาพในสนามบิน ความเสี่ยงทางสุขภาพจะถูกนำมาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจในทุกเรื่องและในสถานการณ์ทั่วไป”

“การเว้นระยะห่างระหว่างกัน จะนำมาใช้มากขึ้นหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนเกิดโรคระบาด และกิจกรรมออนไลน์ก็จะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดีในด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เช่น ผู้โดยสาร”

“อย่างไรก็ตาม เราจะต้องพึงระลึกว่า พนักงานออฟฟิศนั้น สามารถทำงานทางออนไลน์ได้โดยส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนใช้แรงงานไม่สามารถทำงานออนไลน์ได้ แนวโน้มที่จะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติก็จะเพิ่มมากขึ้น โลกดิจิตอล (digital world) ก็จะมีผู้ใช้งานกันอย่างทวีคูณ และเราจะต้องพยายามไม่ทิ้งให้ใครอยู่วงนอก”

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมี Digital Disruption เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่ได้แทรกซึมเข้าไปถึงคนทุกกลุ่มทุกอาชีพ จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตของทุกคนบนโลกใบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งจะเป็นเรื่องที่จดจำไปตลอดกาล

ท่านทูตเล่าถึงแผนการหลังวิกฤตโควิด-19

“ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ผมตั้งใจจะไปเยี่ยมลูกสาวและคุณแม่ที่อิตาลีซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานแล้ว และผมก็เฝ้ารอที่จะไปเยี่ยมด้วยตัวเอง หลังจากที่เราคุยกันมากมายทางวิดีโอ”

“ส่วนเรื่องงาน การดำเนินงานของเราทั้งหมดจะเน้นที่การให้ความช่วยเหลือทางธุรกิจและการค้าระหว่างอิตาลีและไทยเพื่อให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อีกทั้งจะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งอาจรวมถึงมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างประชาชนต่อประชาชน”

“ผลการดำเนินงานเมื่อปีที่แล้วไม่ธรรมดาเลย ยอดเพิ่มกว่า 5% ของการค้าระหว่างสองประเทศ ไตรมาสแรกของปีนี้ตัวเลขยังคงดีอยู่ คือ จำนวนสินค้านำเข้าไทยจากอิตาลียังคงเพิ่มขึ้น แต่ก็ลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนเมษายน”

“มาตอนนี้ เรากำลังให้ความสนใจกับอุปสรรคที่ทำให้การค้าและธุรกิจของเราลดลง เพื่อที่จะนำมาแก้ไขและทำให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเราได้ทำงานร่วมกับตัวแทนการค้าอิตาลี (Italian Trade Agency- ITA) และหอการค้าไทย-อิตาเลียน (TICC) รวมทั้งอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการช่วยกระตุ้นเรื่องการค้าและธุรกิจ ผมขอขอบคุณสมาชิกด้วยความจริงใจ สำหรับความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้ง”

“ในขณะที่ Covid-19 ได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างหยุดชะงัก แต่จริงๆ แล้วช่วงนี้ได้เร่งให้เกิดกระบวนการทำงานและแนวความคิดที่มีอยู่แล้ว เช่น เครื่องจักรอัตโนมัติ เทคโนโลยีดิจิตอล และโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน”

“ส่วนกลยุทธ์ของเราในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับประเทศไทยนั้น ต้องพิจารณาภาพรวมที่ใหญ่กว่านี้”

“และนี่ก็คือเหตุผลที่ประเทศอิตาลี ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับประเทศไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเราจะทำงานร่วมกันในเรื่องข้อสัญญาใหม่ ที่ช่วยให้เกิดงานวิจัยมากขึ้นและได้รับทุนสนับสนุนจากทั้งสองประเทศ”

“เรามีความภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมกับบริษัทรถไฟของอิตาลี FS International เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสามสนามบิน และผมก็เชื่อว่าบริษัท FS International สามารถให้การสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์นี้ได้เป็นอย่างดี ขอบคุณที่บริษัทนี้มีความเชี่ยวชาญในวงกว้าง”

“ในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด คุณสมบัติของอิตาลีในด้านความคิดสร้างสรรค์ ความเฉลียวฉลาด ความยืดหยุ่น คุณลักษณะของแบรนด์สินค้า ตลอดจนภาพลักษณ์ จะเป็นสินทรัพย์ที่มีประโยชน์”

“อีกมิติที่สำคัญคือ ความยั่งยืน อิตาลีจะเป็นประธาน G 20 และเป็นประธานร่วมของ COP 26 กับสหราชอาณาจักรในปีหน้า ความยั่งยืนในทุกมิติจะเป็นแกนหลักของการดำเนินงานของเรา และเรารู้ด้วยว่าเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับประเทศไทยในหัวข้อที่ครอบคลุมนี้”

กิจกรรมในประเทศไทยของท่านทูตกาลันตี ในช่วง “ล็อกดาวน์”

“ผมมีเวลาเพิ่มขึ้นในการคุยวิดีโอคอลกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในอิตาลี ซึ่งทำให้ผมได้รู้สึกใกล้ชิดกับพวกเขาในอิตาลีมากขึ้น และในเมื่อผมไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวเท่าไหร่ จึงพยายามเล่นโยคะและเดินบนลู่วิ่ง ผมอ่านหนังสือเยอะ ไม่ว่าจะเป็นนิยายและสารคดี ผมมักจะซื้อ ebooks แม้กระทั่ง e-comic ผมก็อ่านล่าสุด ผมกลับมาเล่นหมากรุกอีกครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าไรนัก”

“ผมชอบฟังเพลง ดูหนัง ดูละครทีวี แต่เวลาที่มีค่าที่สุดของผมคือ ได้คุยกับภรรยาและลูกชายที่นี่ และก็ชอบนั่งสมาธิเหมือนกับคนอื่นๆ ซึ่งผลของการนั่งสมาธิก็เป็นที่น่าสนใจมาก”

“ปีนี้เราเฉลิมฉลอง เฟเดรีโก เฟลลีนี (Federico Fellini) ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอิตาลีผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเกิดเมื่อ 100 ปีก่อน โดยสถานทูตจะจัดฉายภาพยนตร์ของเขาในงานเทศกาลภาพยนตร์ประจำปีปลายปีนี้”

ท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี จบการสนทนาด้วยคำพูดของเฟเดรีโก เฟลลีนี ที่พูดไว้ว่า

“ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมมักคิดถึงความสุขเสมอ ซึ่งผมไม่ได้นึกถึงมันเลยเป็นเวลานานแล้ว มาตอนนี้ ผมรู้แล้วว่า ความสุขไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป และความทุกข์ก็จะกลับมาหาเรา แต่ก็สบายใจได้ เพราะความทุกข์ก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปเช่นกัน”

เป็นคำพูดเกี่ยวกับอนิจจัง ที่น่าสนใจ!