อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : โควิดกับโครงการขนาดใหญ่

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเคยให้ข้อมูลและความเห็นว่า โรคระบาดโควิด-19 จะทำให้ห่วงโซ่การผลิตโลกสั้นลง ลดการพึ่งวัตถุดิบจากหลายประเทศ

มีการคาดการณ์ว่า กระแสย้ายฐานการผลิตจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีมากขึ้น และการย้ายฐานดังกล่าวมีโอกาสเข้ามาที่ไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

การผลิตชิ้นส่วนไฮเทคจะย้ายกลับประเทศญี่ปุ่น ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาอ้างว่า วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิดจะดึงการลงทุนกลับประเทศสหรัฐอเมริกา1

ในแง่รายละเอียด มีการวิเคราะห์ว่า การระบาดของโควิดกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนโลก จากเดิมพึ่งพาการผลิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสำคัญ

แต่การระบาดของโควิดส่งผลให้การผลิตสินค้าและการส่งออกของสาธารณรัฐประชาชนจีนชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของหลายประเทศ

ส่งผลให้เกิดการหาแนวทางลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาซัพพลายเชนของสาธารณรัฐประชาชนจีน

แนวโน้มการสับเปลี่ยนซัพพลายเชนเป็นเรื่องใหญ่มากและต้องติดตามอย่างรอบด้าน เนื่องจากในประการหนึ่ง รูปธรรมการสับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่ปรากฏเด่นชัด

ด้วยเหตุว่าทุกๆ ประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลกยังมิได้เปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตทันทีเพราะการผลิตทั้งโลกลดลงอย่างกะทันหันพร้อมๆ กันทั้งหมด

อีกประการหนึ่ง ฐานการผลิตใหญ่ของโลกหรือโรงงานผลิตโลกเช่นจีนก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจอย่างสำคัญในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง ผลจากการประชุมสภาประชาชนจีนประกาศนโยบายพึ่งตนเอง ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ การบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวภายในประเทศ

อันนี้ยังแถมลูกเล่น รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศไม่กำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจ คือ ไม่กำหนด GDP ว่าจะมีอัตราเติบโตเท่าไร

ทั้งนี้ ไม่ใช่ปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจีนเท่านั้น การเสนอนโยบายดังกล่าวยังสอดคล้องกับความไม่แน่นอน (uncertainty) ของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับสารพัดพิษจากโรคระบาดโควิด-19

 

เซอร์ไพรส์ไทยแลนด์

ไม่เพียงแต่การพลิกโฉมหน้านโยบาย โรงงานผลิตของโลก มาเป็นเศรษฐกิจพึ่งพาตัวเองในหลายด้านของระบบเศรษฐกิจจีนดูเหมือนฐานเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นฐานเศรษฐกิจของจีนต่อไป นั่นคือ โครงการขนาดใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ไทย-จีน โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

พฤษภาคมที่ผ่านมาเช่นกัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยเปิดเผยหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee-JC) ครั้งที่ 28 ผ่านการประชุมระบบ Video Conference กับนายนิ่ง จิ๋ เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายจีนว่า ผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติร่วมกันในส่วนของร่างสัญญา 2.3 สัญญาการวางรางและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท2

โดยที่ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในของแต่ละฝ่ายเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญา 2.3 โดยเร็ว

หลังจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งร่างสัญญาต่ออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา คาดว่าจะสรุปร่างสัญญาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินและเงื่อนไข อาจจะลงนามภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเริ่มงานได้ภายในปี 2563

ข้อมูลการประชุมเรื่องการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีความน่าสนใจหลายประการ กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง ราวกับว่าเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพของทั้งฝ่ายกระทรวงคมนาคมของไทยและตัวแทนของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพราะ

การประชุมของทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเรื่องระบบรางและระบบเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบรถซึ่งไม่ใช่ประเด็นเรื่องงบประมาณจำนวนมหาศาล

แต่การดำเนินงานจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ทั้งๆ ที่การแพร่ระบาดโรคโควิดมีผลโดยตรงต่อการผลิตของทั้งสองประเทศ ผลต่อห่วงโซ่ซัพพลายและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งไทยและจีน

เหตุฉะไหนโครงการเชื่อมโยงการคมนาคมของทั้งไทยและจีนจึงสำคัญมากและดำเนินการต่อไป

ประการที่สอง เราควรติดตามว่า มีโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยโครงการใดบ้างที่ยังดำเนินการต่อไป เราจะพบว่า ในแง่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรืออีอีซี มีอันต้องชะลอโครงการออกไป

ในด้านหนึ่ง โครงการนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งเลื่อนโครงการ บางโครงการลดจำนวนแรงงานและพนักงานเมื่อไม่มีผู้ลงทุนรายใหม่สนใจ

ประเด็นก็คือว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกขาดเสียไม่ได้ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ทั้งในแง่การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ และการเคลื่อนย้ายสินค้าทั้งของจีน นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนไทย

ด้วยเหตุนี้ หากมองในแง่ผู้ลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน การผลักดันให้โครงการเดินหน้าต่อไปเท่ากับสานต่อผู้ลงทุนทั้งฝ่ายไทยและจีน

ประการที่สาม เซอร์ไพรส์ประเทศไทย ด้วยผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด นักลงทุนทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย กลุ่มนักลงทุนไทยด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะกิจการโรงแรม บางรายยังต้องระดมทุนจากการออกตราสารหนี้อีกมาก

ที่เซอร์ไพรส์ก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนไม่ได้สร้างรายได้ต่อผู้ประกอบการตอนนี้ รายได้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเดินรถไฟ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง รายได้ของนักลงทุนอาจมาจากเงินงบประมาณจากภาครัฐก็ได้

ดังนั้น จึงไม่น่าเซอร์ไพรส์ด้วยเหตุว่า ผู้ลงทุนฝ่ายไทยก็ผลักดันโครงการด้านการก่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมอีกโครงการหนึ่งเช่นกัน นั่นคือ โครงการก่อสร้างรถไฟ 3 สนามบินและปรับปรุงแอร์พอร์ต ลิงก์

 

โครงการแอร์พอร์ต ลิงก์

ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด กระทรวงคมนาคมกางแผนผังเรื่องเวนคืนที่ดิน มีการทยอยส่งมอบพื้นที่ เร่งสำรวจพื้นที่ ไฮสปิด 3 สนามบิน มีการเข้าไปขุดเจาะชั้นพื้นดิน มีการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่า เจ้าของโครงการคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เริ่มมีการสำรวจทรัพย์สินของแอร์พอร์ต ลิงก์ แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการแล้วเสร็จในปี 2564

ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใจอะไรที่โครงการด้านการขนส่งขนาดใหญ่กำลังเดินหน้าด้วยกระทรวงคมนาคม

ที่น่าสนใจคือ นักลงทุน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการเชื่อมต่อ 3 สนามบิน เป็นกลุ่มเดียวกัน

ที่น่าสนใจมากๆ คือ วิสัยทัศน์ของท่านเจ้าสัว

วิสัยทัศน์ท่านเจ้าสัวก่อนเกิดโควิด-19 โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นอนาคตของประเทศไทยที่จะเชื่อมต่อกับโลกภายนอก…เราต้องร่วมกันสร้างกันขึ้นมา

วิสัยทัศน์ท่านเจ้าสัวหลังเกิดโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ประเทศไทยล้มละลาย

ส่วนวิกฤตโควิด 2563 ไม่รุนแรงเท่า ประเทศไทยไม่ล้มละลาย ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไป

การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนจากจีนจะกลับมา โครงการรถไฟไทย-จีนจะยังคงเดินหน้าต่อไป…

วันนั้น ท่านเจ้าสัวมิได้เอ่ยถึงโครงการรถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบินและโครงการแอร์พอร์ต ลิงก์

ทว่าทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการเชื่อมต่อ 3 สนามบินแอร์พอร์ต ลิงก์เชื่อมโยงกันทั้งเครือข่ายคมนาคม เชื่อมโยงมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยกิจการร่วมค้าและพันธมิตรที่มีกิจการของท่านเจ้าสัวเป็นแกนกลาง

เซอร์ไพรส์ไทยแลนด์

——————————————————————————–
1วัชระ ปุษยะนาวิน “ทุนนอกหนีจีนยึดอาเซียน” กรุงเทพธุรกิจ 17 พฤษภาคม 2563
2Ratirita “ปิดดีลรถไฟไทย-จีน” positioning 20 พฤษภาคม 2563