คำ ผกา | บ้านนอกคอกกระบะ

คำ ผกา

สิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจมากเรื่องหนึ่งเมื่อไปอยู่ญี่ปุ่นคือ การไม่เห็นรถกระบะเลยแม้แต่คันเดียว รถกระบะในที่นี้คือ รถกระบะแบบที่เราคุ้นชินกันในเมืองไทย

ความไร้เดียงสาของฉันในขณะนั้นก็คือ – เฮ้ย อะไรยังไง เพรารถกระบะทุกคันที่เรารู้จัก ล้วนแต่โตโยต้า อีซุซุ มาสด้า มิซูบิชิ รถญี่ปุ่นทั้งนั้น แล้วทำไม ในประเทศญี่ปุ่นเองไม่เห็นมีรถแบบนี้เลยว้า?”

รถกระบะในญี่ปุ่นที่ใช้กันเป็นรถบรรทุกขนาดเล็กมากกว่า นั่นคือรถที่หน้าสั้นๆ ข้างหลังยาวๆ เอาไว้ขนของ หรือขับในไร่นา และห้ามโดยสารไปบนกระบะรถนั้นอย่างเด็ดขาด เว้นแต่ขับอยู่ในไร่นานา หรือ ถนนเล็กๆในหมุ่บ้าน แถมที่นั่งข้างหน้านั้นก็ไม่อนุญาตให้มีผู้โดยสารมากกว่า 1 คน จะเอาลูกเต้ามานั่งตักก็ไมได้ ยิบย่อยไปกว่านั้นอันเกี่ยวกับการโดยสารรถก็ยังมีอีก เช่น รถกี่ที่นั่งก็ต้องนั่งตามนั้น ห้ามนั่งเกิน เช่น เขาออกแบบมาให้นั่ง แปดคนก็ห้ามนั่งแปดคนครึ่ง หรือเก้าคน – ไม่ได้

แท็กซี่ก็มีที่นั่งได้ สี่คนกับห้าคน – ราคาไม่เท่านั้น จะมานั่งเบียดๆ นั่งตัก ก็ไม่ได้อีกนั่นแหละ ทั้งหมดนี้ก็ตั้งอยู่บนเหตุผลของความปลอดภัย

และสิ่งที่ทำให้ฉันตกใจมากขึ้นก็เมื่อรู้ว่าเพื่อนๆญี่ปุ่น “ตกใจ” เวลามาเมืองไทยแล้วเจอกับ “วัฒนะรรมรถกระบะ” พวกเขาตื่นเต้นอะเมซซิ่งกันมากว่า เฮ้ยยย มันน่ากลัวนะ มันอันตรายนะ แต่ขณะเดียวกันก็มีความกระตือรือล้นอยากกระโดดไปนั่งบนกระบะรถบ้าง สำหรับคนที่อยู่ในวัฒนธรรมที่บูชา ระเบียบ วินัย ความปลอดภัย ความเกรงใจ ความระมัดระวังในทุกย่างก้าวของชีวิตแบบญี่ปุ่น การกระโดดขึ้นไปนั่งบนรถกระบะ ถือเป็นความผจญภัย ถือเป็นการปลดปล่อย ถือเป็นการสัมผัสเสรีภาพอันไร้ขอบเขต ได้อยู่เหมือนกัน

ตัวฉันเองที่เกิดในเมืองไทยเมื่อ 45 ปีที่แล้ว มีชีวิตผูกพันกับรถกระบะมาโดยตลอด

จำได้ว่า รถทุกคันของที่บ้านเป็นรถกระบะ เพราะเราใช้รถนั้นในการขนหมู ขนเนื้อหมู ขนวัสดุก่อสร้าง ขนข้าวสาร ขนโต๊ะ เก้าอี้เวลามีงานบุญ ยิ่งไปกว่านั้นรถกระบะเป็นสัญลักษณ์ของความมี “น้ำใจ” ด้วย เพราะเวลาที่มีงานบุญ งานบวช รถกระบะไม่กี่คันในหมู่บ้านก็จะกลายเป็นรถส่วนกลาง แวะรับคนนั้นคนนี้จนเต็มรถแล้วก็ออกเดินทางไปพร้อมๆกัน

ในสมัยที่ฉันยังเด็ก รถกระบะ จึงมีหน้าที่เหมือนเป็นสวัสดิการชุมชนไปในตัว-บ้านไหนมีรถกระบะ ก็ถือว่ามีสตุ้งสตางค์ ดังนั้นเมื่อหมู่บ้านมีงาน หรือ เพื่อนบ้านมีศพ งานแต่ง ก็มีหน้าที่แสดงน้ำใจอาสาเอา “รถ” ไปช่วยงานด้วย ทั้งเอาไปซื้อของไปรับ-ส่งคนอย่างที่ว่า

ไม่เพียงแต่มีรถกระบะทำสำหรับทำมาค้าขาย ไปจ่ายตลาด ที่บ้านยังมีรถที่เรียกว่า “รถคอกหมู” เป็นกระบะคันใหญ่หน่อย เกือบเป็นรถบรรทุก นำมาดัดแปลงมีที่นั่งสองแถว เพื่อใช้เป็นรถโดยสารประจำอำเภอ และจนถึงทุกวันนี้ที่ไม่มีรถ “คอกหมู” แล้ว รถสองแถวที่วิ่งประจำอำเภอต่างๆในเชียงใหม่ ที่เรารู้กันว่า รถสีเขียวคือสันทราย รถสีขาวคือสันกำแพง รถสีเหลืองคือดอยสะเก็ดนั้น ล้วนแต่เป็นรถสองแถวที่ดัดแปลงมาจากรถกระบะทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ “รถแดง” ที่วิ่งในตัวเมืองก็คือ รถกระบะ

รถรับ – ส่งนักเรียนจาก อำเภอต่างๆ เข้าไปเรียนในอ. เมือง ที่เรียกกันว่า “รถเดือน” นั้นก็ล้วนแต่เป็นรถกระบะดัดแปลงให้เป็นสองแถวทั้งสิ้น

ความทรงจำที่แจ่มชัดมากของวัยเด็กอีกประการหนึ่งคือ การนั่งรถกระบะจากเชียงใหม่มาเที่ยวบางแสน -และทะเลก็ดูไกลแสนไกลสำหรับเด็กเล็ก วิธีนั่งรถกระบะมาเที่ยวทะเลของบ้านฉัน -อันที่จริงคือสอง-สามบ้าน ญาติมิตรมาด้วยกัน มีผู้ใหญ่สี่-ห้าคน เด็กอีกห้า-หก คนก็ชักจะลืมเลือน แต่ที่ไม่ลืมคือ รถกระบะของที่บ้านที่ปกติเอาไว้ขนหมูเป็นๆ ไปฆ่ากับขนเนื้อหมูไปขายที่ตลาด จะถูกนำไปล้าง ทำความสะอาด สำหรับทริปเที่ยวทะเลประจำปี จากนั้นก็เอาไปใส่หลังคา จากนั้นก็เอาเสื่อจันทรบูรณ์มาปู มีหมอน มีผ้าห่ม แม่ๆ ป้า จะตำน้ำพริกตาแดงกาละมังหนึ่ง มีข้าวเหนียวใส่กระติก (กระติกพลาสติกนะ ไม่ใช่กระติ๊บ)

แล้วการเดินทางที่น่าตื่นเต้นก็เริ่มขึ้น ลุงเป็นคนขับรถ เรานั่งข้างหลังก็เหมือนปิกนิกเคลื่อนที่ -อารมณ์คล้ายๆ นั่งรถบ้านเป็น road trip เก๋ๆ เว้นแต่ว่ารถของเราเป็นรถกระบะรถขนหมูไง แต่สนุกมาก

ผ่านจังหวัดไหนก็วะซื้อของกินข้างทางของจังหวัดนั้น เจอที่แวะปูเสื่อกินข้าวข้างทางได้ก็แวะ แวะไม่ได้ก็นั่งกินในรถ สิ่งที่จำได้ไม่ลืมคือการแวะซื้อมะม่วงเฉาะทั้งรูปเป็นรูปดอกไม้บานๆ ที่ขายตามสี่แยกในกรุงเทพฯ หรือการแวะซื้อฝักบัวกำใหญ่ๆ เวลาผ่านอยุธยา เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีที่บ้านเรา ส่วนหนึ่งที่ฉันหลงไหลอาหารที่ตามข้างถนนในจังหวัดต่างๆ ก็อาจเป็น กลิ่นเป็นสีของความทรงจำวัยเด็ก

รถกระบะยังหมายถึงขบวนแห่ ตั้งแต่แห่นางสงกรานต์ แห่งกลองหลวง แห่พระ ขบวนนางงาม นางนพมาส นางงามบุปผาชาติ ก็ล้วนแต่เป็นรถกระบะ มองในแง่นี้ รถกระบะคือความทันสมัยคือเทคโนโลยีที่เนียนๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนะรรมพื้นบ้านของมวลชนอย่างไม่ประดักประเดิดเลย สมัยก่อนเราเคยใช้เรือใช้เกวียนกันอย่างไร รถกระบะก็เข้ามาทำหน้าแทนเกวียนแทนเรือได้อย่างสนิทสนมปราศจากความแปลกแยกใดๆทั้งสิ้น

รถกระบะคือการยืนยันความเป็นโลกภิวัฒน์ และการเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมของชนบทไทย อันขัดแย้งกับภาพเหมารวมเกี่ยวกับชนบทของชนชั้นกลางไทยที่เห็นชนบทเพียงสองมิติ คือ มิติแห่งความเป็นพื้นบ้านอันสวยงาม ไร้เดียงสา กับมิติของความความรุ่มร่ามไม่ประสีประสากับเทคโนโลยีหรือความทันสมัย

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ชนบทไทยมีพลวัตรและมีความ “รวดเร็ว” ในการรับเทคโนโลยีและความทันสมัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และกลืนกินมันให้กลายเป้นส่วนหนึ่งของความเป็น “บ้านนอก” จนคนในเมืองไม่สามารถที่จะสังเกตุเห็น

สมมุติ เราไปดูขบวนแห่ลูกแก้วของชนบทแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ขบวนแห่ลูกแก้ว (เด็กที่กำลังจะบวชเป็นเณร) มองอย่างผิวเผิน ที่คือ ประเพณี ซึ่งจะถูกนำไปจับคู่กับ ความเก่าแก่ ความเป็นพื้นบ้าน ท้องถิ่น และความเป็น ชนบท แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ส่วนประกอบของการแห่ลูกแก้ว มีทั้งแว่นตาเรย์แบน (ของปลอม) เครื่องสำอางสมัยใหม่ที่ใช้แต่งหน้าลูกแก้ว เพลงในขบวนแห่ที่ประยุกต์เอาจังหวะเพลงตะวันตกอันแสนเร้าใจมาไว้ในวงดนตรีพื้นเมือง การใช้ลำโพง เครื่องกระจายเสียงที่ทันสมัย ไมโครโฟน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นประจักษ์พยานของการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม “โลก” ที่ไม่ใช่วัมนธรรมไทยด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับรถกระบะ สำหรับคนต่างจังหวัด นี่คือ อัตลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของพวกเขา

และไม่รู้ว่าครอบครัวอื่นคิดอย่างไร แต่ในครอบครัวของฉันเอง ที่ต่อให้เรามีเงินซื้อรถที่คนบ้านนอกเรียกว่า “รถเก๋ง” เราก็จะไม่ซื้อ เพราะเรารู้สึกว่า “รถเก๋ง” คือยานพาหนะของพวก “สำรวยสวยกราก” นั่งก็ได้ไม่กี่คน ขนของก็ไม่ได้ สมบุกสมบันก็ไม่ได้ เป็นแค่ยานพาหนะที่ไว้โชว์ความโก้เก๋ ที่ดูน่าขบขันสำหรับพวกเรา และตาฉันมักจะพูดอย่างเย้ยหยันเสมอว่า

“รถเก๋งมันเป็นรถของหมู่ข้าราชการ นายอำเภอ คนทำงานธนาคาร บ่ใช่ของคนอย่างหมู่เฮา” และในประโยคนี้ ฉันสัมผัสได้ว่า ไม่ได้มีน้ำเสียงอิจฉา หรือน้อยเนื้อต่ำใจ แต่เป็นนำเสียงเกือบจะดูถูก และในน้ำเสียงดูถูกนี้ มีนัยของการสื่อสารว่า คนที่ซื้อรถเก๋ง เป็นพวกเห็นแก่ตัว

เพราะรถเก๋งนั้น เป็นรถที่ไม่มีประโยชน์ต่อชุมชน เอาไปช่วยงานศพ งานแต่ง งานปอย งานวัด อะไรก็ไม่ได้ – สำหรับชนบท งานขนของ ขนคน เป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญมาก – และถ้าไปโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเราจะเห็นภาพที่คนในหมู่บ้านนั่งหลังรถกระบะกันเป็นสิบคนเพื่อไปเยี่ยมใครสักคนในหมู่บ้านที่ป่วยนอนโรงพยาบาล

กิจกรรมอะไรอย่างนี้เป็นต้นที่ทำให้รถกระบะสำหรับคนชนบทและคนต่างจังหวัด มี “สัญญะ” ทางวัฒนธรรมที่มากกว่าการเป็นแค่ “รถ” และมากกว่านั้นในความเป็นรถกระบะของมันแปลว่า นี่ไม่ใช่ “รถส่วนตัว” เท่านั้น แต่พร้อมจะแปรสภาพเป็นรถ “ส่วนกลาง” เมือ่ไหร่ก็ได้ที่จำเป็น ซึ่งสะท้อนถึงการจัดการความเหลื่อมล้ำในชุมชน นั่นคือ ถาคุณมีเงินซื้อรถ คุณต้องจ่ายคืนชุมชนด้วยการเฉลี่ยทรัพยากรนี้สู่คนอื่นด้วยการอุทิศรถให้ชุมชนเรียกใช้งานได้เมื่อจำเป็น

การซื้อหรือครอบครอง “รถเก๋ง” จึงมีนัยของการเอาตัวออกห่างจากชุมชนและคือความเห็นแก่ตัว และส่งสัญญาณว่าต่อไปนี้เราไม่ใช่ “พวกเดียวกัน” จากนั้นคนที่ซื้อรถเก๋งมาขับก็จะถูกกระแนะกระแหนว่า

“บ่าเดี่ยวนี้เปิ้นนั่งรถเก๋ง เอ็นขนาด” แปลว่า “เดี่ยวนี้เขานั่งรถเก๋งแล้ว หยิ่งน่าดู” เมือ่ไหร่ก็ตามที่โดนนินทาแบบนี้ ก็เท่ากับถูกสังคมหมู่บ้านบ้านบอยคอตไปครึ่งตัวแล้ว หรืออีกทีก็จะถูกล้อจนต้องไปขายรถเก๋งแล้วซื้อรถกระบะใหม่

หรือบางครั้งการมีรถเก๋งก็หมายถึงการขยับชนชั้นทางสังคมด้วย เช่นบอกว่า ลูกบ้านนั้น เรียบจบแล้วทำงานในเมือง ขับรถเก๋ง – แต่การขยับชนชั้นเช่นนี้ก็มีนัยอีกว่า – ต่อไปนี้เขาไม่ใช่ชาวบ้านแบบพวกเราอีกต่อไปแล้ว – ดังนั้น เขาจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชุมชนอีกต่ไป จึงไม่มีความคาดหวังคนๆนั้นจะมาช่วยงานวัดงานบุญอะไรอีก

เมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง ฉันพาเพื่อญี่ปุ่นไปลงพื้นที่สัมภาษณ์กลุ่มแม่บ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เชียงราย เราเช่า “รถเก๋ง” ขับกันไป เราแวะรับสมาชิกกลุ่มแม่บ้านหนึ่ง ก่อนจะขับไปหาสมาชิกแม่บ้านคนอื่นๆ ระหว่างทางนั้น สมาชิกแม่บ้านสองคนในรถเรา เปิดกระจก แล้ว ตะโกนทักเพื่อนทุกคนที่เดินผ่านว่า “หันก่ๆๆ วันนี้กูนั่งรถเก๋ง” แล้ว เรื่องนั่งรถเก๋งก็เป็นเรื่องที่ทุกคนตลกขบขันกันมาก

การที่เขาตะโกนบอกเพื่อและให้เพื่อนทุกคนหันมาดูว่าเขานั่งรถเก๋ง ไม่ใช่การอวดหรือโชว์ แต่เป็นการ “ล้อเลียนตัวเอง” ที่จ้องชิงทำก่อนจะโดนคนอื่นล้อ

และไม่ใช่ว่าหมู่บ้านนี้ยากจน – ไม่ใช่เลย – แต่ทุกคนมีรถกระบะ ใช้รถกระบะต่างหาก การนั่งรถเก๋งจึงเป็นสิ่งที่ตลกมาก ดูดัดจริตมาก

ถ้าเราเข้าใจความหมายของรถกระบะเช่นนี้ เราจะเข้าใจได้ว่า ทำไม การออกกฎห้ามนั่งกระบะ ห้ามนั่งแคป มันจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องที่คนออกมาโวยวายกันมาก และน่าสนใจด้วยว่าเวลาออกมาโวยคนที่โวยมักอ้างเรื่อการเป็นยานพาหนะ “คนจน” หรือ ออกมาในทำนอง ไม่เข้าใจ ไม่เห็นใจคนจน แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว มันไม่ใช่เรื่องความยากจนเท่านั้น (ไม่ได้แปลว่าไม่เกี่ยวกับความจนโดยสิ้นเชิง”

แต่เป็นเรื่องฟังก์ชั่นหรือหน้าที่ของรถกระบะในฐานะสิ่งที่ใช้ยืนยัน solidarity มิตรภาพ ความเป็นพวกเดียวกัน และสภาวะของสังคมที่ความเป็น collectivity (ความเป็นหมุ่คณะ) ยังเข้มแข้งมาก 

และนั่นคือเหตุที่ มันจะไม่มีวัฒนธรรม “รถกระบะ” ในสังคมที่มีความเป็นปัจเจกสูง หรือสังคมที่มี หน่วยงานอื่นๆ มาทำหน้าที่ “บริการ” ชุมชน แทน “รถกระบะ” เช่น สังคมญี่ปุ่น ที่ระบบขนส่งมวลชนดีเยี่ยม และมีความหวงแหนความเป็นส่วนตัวจนไม่มีใครอยากเดินทางเป็นหมู่คณะเพื่อไปเยี่ยมญาติที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล

ดังนั้น เมื่อเอาวิธีคิดเรื่อง “ความปลอดภัย” แบบสังคมที่มีบริการขนส่งมวลชนสาธารณะ และเป็นสังคมสมัยใหม่เต็มรูปแบบที่ต้องแยกพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัวออกจากกัน (รถส่วนตัวก็คือรถส่วนตัวไม่ใช่รถเพื่อบริการชุมชน) มาใช้กับสังคมไทยที่ยังไม่เป็นสังคมสมัยใหม่อย่างทั่วถึงกัน จึงเป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อย เข้าใจไม่ได้ เพราะสำรับเขาการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สำคัยกว่าความปลอดภัย และถึงที่สุดการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคือ ความปลอดภัยอย่างหนึ่งในชีวิต

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้อยากให้เรากลับไปโรแมนติกกับชุมชนหรือโรแมนติกกับรถกระบะ แต่เพื่อจะบอกว่า กฎระเบียบที่ละเลยมิติทางวัฒนธรรม มักจะเป็นกฎที่ถูกละเมิดหรือถูกต้านอยู่เรื่อย

วิธีที่เราจะให้คนไทยออกจากวัฒนธรรมรถกระบะ ไม่ใช่การสั่งห้ามไม่ให้นั่งรถกระบะ แต่ต้องสร้างสังคมที่ไม่จำเป็นต้องพึ่ง “น้ำใจของรถกระบะจากเพื่อนบ้าน” เสียก่อน นั่นแปลว่า สังคมนั้นต้องมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและระบบการขนส่งมวลชนที่ “ทำงาน” สำหรับคนทุกคนในประเทศไทยจริงๆ และต้องสร้างสังคมสมัยใหม่ สร้างวัฒนธรรมปัจเจกบุคคลมาแทนที่วัฒนธรรมที่เน้นความอบอุ่นของชุมชน เครือญาติ

ทำได้เมื่อไหร่ วัฒนธรรมรถกระบะก็จะหายไปเอง และคนก็จะหันไปยึดถือความปลอดภัยของการไม่โดยสารรถกระบะไปเองตามครรลองของมัน

ถึงเวลานั้น รถกระบะ อาจเหลือสัญลักษณ์และหน้าที่ของมันจนเหลือเพียงการเป็นสัญลักษณ์ของงานเทศกาลรื่นเริง ความสนุกสานของงานพาเหรด หรือความคึกคะนอง และเสรีภาพแบบเอาหน้าโต้ลมยามนั่งอยู่ท้ายรถกระบะที่ขับอยู่ริมทะเล เท่านั้นก็เป็นได้