มนัส สัตยารักษ์ | มีเงินแล้วขยัน

เป็นแค่ผู้เสพข่าว จึงไม่แน่ใจว่าข่าว “ไม่มีงบประมาณจัดเลือกตั้งท้องถิ่น” เริ่มมาจากไหน ใครพูดก่อน และเมื่อไร

คลับคล้ายคลับคลาว่าอ่านพบหนแรก เป็นข่าวนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถึงความคืบหน้าของการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ว่าให้ไปถามรายละเอียดกระทรวงมหาดไทย

ใจความน่าสนใจของคำสัมภาษณ์อยู่ตรงที่ว่า งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้านี้พร้อมอยู่แล้ว แต่มีการดึงไปใช้ในเรื่องของโควิด-19 ขณะนี้จึงไม่แน่ใจว่าพร้อมหรือไม่ อาจจะส่งผลต้องเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นไปถึงปี 2564!

วินาทีแรกที่สัมผัสข่าว สมองของเราก็คิดได้อย่างอัตโนมัติว่า

“ไม่มีงบ (ประมาณ) นี่ก็ดีเหมือนกันว่ะ…ไม่ต้องทำงาน!”

วันถัดมาผู้สื่อข่าวไปถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงความคืบหน้าการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น มท.1 ตอบเลี่ยงไปว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ต้องดูก่อนว่างบประมาณเป็นอย่างไร แล้วเสนอมาให้รัฐบาลพิจารณา

มท.1 ไม่ตอบคำถามเรื่องงบประมาณโดยตรง กล่าวเพียงว่า นอกจากเรื่องงบประมาณ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วรัฐบาลจะหารือกับ กกต.ถึงกำหนดการเลือกตั้งต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงความชัดเจนของการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

ที่ กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กล่าวถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลจะเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นเพราะงบประมาณถูกนำไปช่วยวิกฤตโควิด-19 ว่า ในส่วนการเตรียมการเลือกตั้ง ถือว่าพร้อมระดับหนึ่ง กฎข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังจัดอบรมเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องการแบ่งเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับ เหลือเพียงขั้นตอนการตรวจทานและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

งบประมาณการเลือกตั้งอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก กกต.เป็นแค่กำกับดูแลได้รับการจัดสรร 800 ล้านบาท เลขาธิการ กกต.แจ้งว่ายังอยู่ ดังนั้น จึงพร้อมที่จะดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้ง

สรุปได้ว่าไปคนคนละทาง-สองทาง-สามทาง

กระแสข่าว “เลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น” อันสับสนไปคนละทาง-สองทาง-สามทาง (ทางที่ 3 คือไม่พูด) จากผู้บริหารประเทศระดับสูงสุดและผู้เกี่ยวข้องข้างต้น ทำให้มองเห็นชัดว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจ พูดคุย ปรึกษาหารือ เตรียมการ หรือแม้แต่จะพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้เลย

ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของการเมืองยุคใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบใหม่ที่ทุกฝ่ายต่างรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมที่แอบแฝงอยู่ รวมทั้งได้รับผลกรรมมาโดยทั่วกัน

รัฐบาลคงตีขลุมว่า เงินกู้ที่ได้มาจาก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 พ.ร.ก.นั้น เป็นฝีมือหรือความสามารถ (ส่วนบุคคล) ของรัฐบาล รัฐบาลจะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ให้ได้ชื่อว่าอยู่ในกรอบของการแก้ปัญหาโควิด-19 และฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจของชาติที่เสื่อมทรุด-ก็แล้วกัน

รัฐบาลยังยอมตัดงบฯ อื่นๆ ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.มาแล้วด้วย ไม่เว้นแม้แต่งบฯ จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม (ประมาณ 17,000 ล้านบาท) หลังจากนั้นไม่นานก็มี พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ผ่านการพิจารณาไปตามระเบียบ ทั้งนี้ เพื่อเป็น “แซมเปิล” แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาอันเป็นวิกฤตอย่างแท้จริง

กล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นหรือปัญหาอื่นๆ ตลอดจนปัญหาการโอนงบประมาณรายจ่ายที่ถูกโจมตีอย่างหนักทั้งในและนอกสภาเท่าไรนัก

ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือ เรื่อง “เงิน” ที่ได้มาตาม พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับนั่นแหละ

เนื่องจาก “ทำใจ” ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เราต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อรองรับวิกฤต และเราจะไม่สามารถชำระได้ในเวลาอันสั้น ต้องตกอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้อย่างเกือบถาวร

พยายามปลอบใจตัวเองตามคำสอน (ของใคร-จำไม่ได้เสียแล้ว) ว่า “เป็นหนี้เท่าไรไม่สำคัญ ที่สำคัญคือบริหารหนี้ให้เป็นก็แล้วกัน”

แต่แล้วก็เริ่มเป็นกังวล เมื่อได้ฟังข่าวการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนถามอย่างสงสัยถึง “หลักเกณฑ์” ในการจัดสรรงบฯ ให้หลายโครงการที่ไม่น่าจะอยู่ในข่ายให้จัดสรร มีผู้เสนอให้มี “คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการจากเงินกู้” แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก

ความกังวลใจทวีขึ้น เมื่อได้ข่าว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับที่มีผู้เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ “ติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน แก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19”

นายกรัฐมนตรีเองเห็นว่ามีกลไกการตรวจสอบอยู่แล้ว เช่น สตง. ป.ป.ช. หรือ ปปง.

แต่ความจริงแล้วการตรวจสอบโดยรัฐสภา (หรือ กมธ.) กับการตรวจสอบโดยองค์กรที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนั้นเป็นคนละเรื่อง คนละงานกัน

ความกังวลใจเพิ่มขึ้นอีกเมื่อไปเจอพาดหัวข่าว “กู้ 4 แสนล้านบาท อย่าให้เกิดทำผิดอย่างถูกต้อง”

เนื้อข่าวมาจากการกล่าวของนายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชป. ที่กล่าวถึงกระบวนการกลั่นกรองโครงการจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาทว่า “ต้องเปิดเผยข้อมูลของโครงการให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง การตรวจสอบควรใช้กลไกของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจไว้อย่างเต็มที่…

“…ที่น่ากังวลคือ การทำผิดอย่างถูกต้อง หมายความว่า เงินกู้ที่ใช้ไปมากมายไม่ตรงกับปัญหาของประชาชน แต่ถูกกฎระเบียบของทางราชการทุกประการ”

วาทกรรม “การทำผิดอย่างถูกต้อง” ฟังดูจะเป็นทำนองเดียวกับวลีดัง “บกพร่องโดยสุจริต” หรือ “ยืมทรัพย์คงรูป” กล่าวคือ ผิดแต่เอาผิดไม่ได้ หรือนัยหนึ่งก็คือ “ลอยนวล” นั่นเอง

ฟังจากฟากฝั่งรัฐบาลก็ชวนให้ขนลุกและกังวลมากเหมือนกัน

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แฉในการ “เสวนาการตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท” ว่าปมร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ช่วงโควิด-19 มี 23 เรื่อง 10 ข้อหา รูปแบบการทุจริตไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม คือทุจริตในกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อของไม่มีคุณภาพ แพงเกินจริง มีเงินทอนและเรียกรับเงิน

ไปที่สภาพัฒนาการเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แถลงข่าวว่า ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 มีหน่วยงานทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมหาชน ได้จัดทำข้อเสนอโครงการเบื้องต้นให้ สศช.พิจารณา รวมทั้งสิ้นประมาณ 28,425 โครงการ วงเงินข้อเสนอรวมประมาณ 5.9 แสนล้านบาท!

อีกข่าวที่ชวนขนหัวลุก คือข่าว ส.ว.นายหนึ่งโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “กระตุ้นรัฐบาล จับมือวุฒิสภาเร่งปฏิรูปประเทศแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน”

แปลว่า “เห็นเงินแล้วฟิต อยากจะขยัน” ว่างั้นเถอะ