เกษียร เตชะพีระ | เผด็จการอำนาจนิยมรับมือโควิด-19 ระบาด ได้เหนือกว่าเสรีประชาธิปไตยจริงหรือ? ศึกษากรณีจีน

เกษียร เตชะพีระ


ตัวเลขสถิติเปรียบเทียบที่แตกต่างราวฟ้ากับเหวของสองอภิมหาอำนาจโลกคือจีนกับอเมริกาในการรับมือโควิด-19 ระบาดข้างต้นนำไปสู่ข้อสรุปของผู้คนจำนวนไม่น้อยว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (ที่มีจีนเป็นตัวแทน) รับมือภัยโรคระบาดทั่วได้เหนือกว่าระบอบเสรีประชาธิปไตย (ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแทน)

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยและการเมืองเปรียบเทียบแห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตติติงไว้ในงานเสวนาเรื่อง “A New Era of Nation-States นิยามใหม่ของรัฐชาติหลังโควิด-19” ของเดอะสแตนดาร์ดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ว่านี่ออกจะด่วนสรุปเกินไป

อ.ประจักษ์ชี้ว่าจีนรับมือโควิด-19 ได้ดีกว่าอเมริกาจริง แต่มิได้หมายความว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมโดยทั่วไป (authoritarian regimes) จะรับมือโควิด-19 ได้ดีกว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยโดยทั่วไป (liberal democracies) ด้วย ดังจะเห็นได้ว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างรัสเซียและอิหร่านก็จัดการกับโควิด-19 ระบาดได้ย่ำแย่ ขณะที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างไต้หวัน เกาหลีใต้และนิวซีแลนด์ กลับจัดการได้ดียิ่ง

ความสำเร็จในการจัดการโควิด-19 ระบาดของจีนเมื่อเทียบกับอเมริกาจึงเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ หลายอย่างในจีนอันซับซ้อนกว่าแค่ลักษณะของระบอบการเมืองการปกครองมากนัก เช่น สมรรถภาพของรัฐ เป็นต้น

จึงมิควรที่ผู้ปลาบปลื้มระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในเมืองไทยและที่อื่นๆ จะรีบลักไก่ดึงเอาปัจจัยระบอบการเมืองหนึ่งเดียวนี้มาให้เครดิตเฉลิมฉลองสดุดี

ถ้ากระนั้นแล้ว จีนเอาโควิด-19 อยู่ได้อย่างไรเล่า?

เผอิญหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสฉบับวันที่ 2 มิถุนายนศกนี้ได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ศึกษาเรื่องดังกล่าวออกมาพอดี ภายใต้ชื่อว่า “La gestion chinoise de la pand?mie est ambivalente” (“การบริหารจัดการโควิด-19 ของจีนนั้นกำกวม”) ซึ่งร่วมกันเขียนโดยนักรัฐศาสตร์ 3 คนได้แก่ เอมิลี เฟรงเกล อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีสตะวันออก, อีฟส์ แซงโตแมร์ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส-แปด แซงต์-เดนิส และโจวหยุนหยุน (ด๊อกเตอร์ด้านจีนศึกษาร่วมสมัย มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด) https://www.lemonde.fr/idees/article/2020/06/02/la-gestion-chinoise-de-la-pandemie-est-ambivalente_6041461_3232.html)

ผมจึงใคร่ถ่ายทอดข้อวิเคราะห์ของพวกเขาเกี่ยวกับเหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จของจีนสู่ท่านผู้อ่านดังนี้ :

คำคุณศัพท์ว่า “อำนาจนิยม” ครอบงำคำบรรยายของโลกตะวันตกเกี่ยวกับท่าทีของทางการปักกิ่งในการบริหารจัดการโควิด-19 ทว่านั่นเป็นการอ่านความเป็นจริงที่ซับซ้อนอย่างง่ายดายเกินไป

คำบรรยายการตอบโต้รับมือของจีนต่อไวรัสโคโรนานั้นแยกขั้วกันอย่างรุนแรง กล่าวคือ รัฐจีนยกย่องความสำเร็จของตนซึ่งองค์การอนามัยโลกตระหนักรับรองด้วยส่วนหนึ่ง

ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐถือว่าทางการอำนาจนิยมของจีนต้องรับผิดชอบต่อโรคระบาดทั่วนี้ เราจำต้องมีการวิเคราะห์ที่เนียนละเมียดกว่านี้ เพราะบทเรียนจากประสบการณ์ของจีนนั้นกำกวมและบ่งชี้ว่าลำพังแค่ลักษณะของระบอบที่เป็นอำนาจนิยมหรือประชาธิปไตยไม่อนุญาตให้เราจำแนกแยกแยะการบริหารจัดการโรคระบาดทั่วไปอย่างน่าเชื่อถือพอ

ปฏิกิริยาของทางการนครอู่ฮั่นตอนเริ่มแรกนั้นถือว่าเป็นหายนะโดยแท้ กลไกเตือนภัยอันประณีตพิสดารที่ติดตั้งไว้หลังโรคระบาดทั่วซาร์สกลับไม่ทำงาน ทำให้สูญเสียเวลาอันมีค่าไป ทว่าไม่มีอะไรผิดปกติเป็นพิเศษในความล่าช้านี้

กล่าวคือ ถ้าหากจะว่าเกาหลีใต้หรือไต้หวันดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ก็แสดงปฏิกิริยาตอบรับอย่างล่าช้าชนิดที่หาข้ออ้างแก้ตัวได้น้อยกว่าจีนเสียอีกค่าที่ประเทศเหล่านี้ได้เปรียบจากเวลาที่ถ่วงหน่วงออกไปหลายสัปดาห์เมื่อเทียบกับจีน

การปราบปรามผู้ร้องเตือนภัย

การปราบปรามผู้ร้องเตือนภัยแต่แรกเริ่มเป็นตัวบ่งชี้การขาดความโปร่งใสของทางการโดยเฉพาะในกรณีจีน

มรณกรรมของนายแพทย์หลี่เหวินเหลียงทำให้มหาชนจีนโกรธแค้นอยู่ยาวนาน และการฟื้นเกียรติของเขาหลังถึงแก่มรณกรรมไปแล้วก็ชดเชยความเสียหายได้น้อยยิ่ง

การกดปราบคำวิจารณ์และการตั้งคำถามยังคงดำเนินสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

นี่คือหลักฐานความอ่อนแออย่างใหญ่หลวงที่สุดของระบอบจีนทั้งในแง่การเมืองและสุขอนามัย

หลังจากนั้นจีนได้นำมาตรการที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคระบาดมาใช้

ความสำเร็จของจีนยิ่งเด่นถนัดชัดเจนหากเราเปรียบเทียบดูเป็นรายประเทศ

กล่าวคือ หากคำนึงถึงขนาดประชากร เราต้องเปรียบเทียบเมืองอู่ฮั่นกับนิวยอร์ก มณฑลหูเป่ยกับประเทศอิตาลีหรือสเปน และจีนทั้งประเทศกับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาหรืออินเดีย ตัวเลขสถิติโรคระบาดยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ชัด แน่ละว่าตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตในมณฑลหูเป่ยอาจถูกประเมินต่ำไป แต่ไม่มีสิ่งใดที่อนุญาตให้เราคิดไปได้ว่าการประเมินต่ำในระดับของจีนนั้นจะหนักข้อกว่าการประเมินต่ำที่เราค่อยๆ ค้นพบว่ามีเหมือนกันในโลกตะวันตก

มาตรการสามเกลออันได้แก่ [ตรวจสอบ/ตามรอย/โดดเดี่ยว] ซึ่งเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์จีนนั้นถูกนำไปใช้เป็นส่วนใหญ่ในนานาประเทศทุกวันนี้แม้ว่ามันยังห่างไกลจากการประยุกต์ใช้อย่างเป็นปึกแผ่นทุกแห่งหน อีกทั้งการที่องค์การอนามัยโลกชื่นชมจีนในแง่บวกก็ช่วยทำให้จีนชอบธรรมขึ้นมา

ความสำเร็จนี้อธิบายได้ด้วยหลายปัจจัย

ก่อนอื่นคือการตระหนักรู้อย่างใหญ่หลวงที่สุดในหมู่ประชากรจีนถึงความเสี่ยงภยันตรายของโรคระบาดทั่วนับแต่เผชิญกับโรคซาร์สเป็นต้นมา

รวมทั้งตระหนักถึงความจำเป็นของมาตรการป้องกันโรคต่างๆ อาทิ การใส่หน้ากากอนามัยซึ่งประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ก็ร่วมตระหนักรู้เช่นนั้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐจีนยังเป็นรัฐเพื่อการพัฒนา กล่าวคือ เป็นรัฐที่เข้มแข็งและเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจสังคม ดำเนินโครงการระยะยาวขนาดใหญ่ต่างๆ ด้วยประสิทธิภาพที่รับรู้กันทั่วไปในด้านที่เกี่ยวกับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของจีน การเร่งรัดสร้างเศรษฐกิจ หรือการต่อสู้กับความยากจน

สมรรถภาพเหล่านี้ช่วยรัฐจีนอย่างมากในการบริหารจัดการโรคระบาดนับแต่กลางเดือนมกราคมศกนี้เป็นต้นมา

รัฐเพื่อการพัฒนาดังกล่าวนี้โดยตัวมันเองก็ไม่จำต้องเป็นรัฐอำนาจนิยม อาทิ รัฐเกาหลีใต้กับรัฐไต้หวันก็คล้ายคลึงกันพอสมควรในแง่นี้

ในทางกลับกัน รัฐอำนาจนิยมจำนวนมากก็หาใช่รัฐเพื่อการพัฒนาไม่

ประสิทธิภาพในการรับมือของจีนยังตั้งอยู่บนฐานทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นแข็งแกร่งยิ่งด้วย

ฐานดังกล่าวทำให้จีนสามารถถอดรหัสลำดับทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาได้ในเวลาอันรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

ผลิตชุดตรวจสอบโรคโควิด-19 ออกมาใช้ขนานใหญ่

และสร้างโรงพยาบาลเสริมแห่งต่างๆ ได้ในไม่กี่วัน นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีบทบาทด้วยได้แก่ ตลาดอันทรงพลวัตซึ่งกำกับควบคุมโดยรัฐอย่างแข็งขัน

ทว่าสามารถตอบสนองการหันเหการผลิตไปสู่ความต้องการผลิตภัณฑ์สุขอนามัยเร่งด่วนอย่างขนานใหญ่ได้ ระบอบ “ทุนนิยมร่วมสมคบ” แบบจีนซึ่งโลกตะวันตกดูเบาได้แสดงให้เห็นว่ารับมือกับสถานการณ์ได้อย่างคู่ควร

ยิ่งไปกว่านั้น สมรรถภาพของรัฐจีนในปฏิบัติการระดับอนุทวีปก็เหนือกว่าของสหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาอย่างแจ้งชัด

ขอให้ลองจินตนาการดูว่าโรคระบาดทั่วโควิด-19 จะคลี่คลายขยายตัวแตกต่างออกไปอย่างไรในสหภาพยุโรปถ้าหากสหภาพยุโรปสามารถส่งแพทย์และพยาบาลอาสา 40,000 คน จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคที่จำเป็นมาสนองให้ และช่วยเหลือเกื้อหนุนระบบสาธารณสุขของอิตาลีและสเปนในสภาวะที่มันแบกรับภาระไม่ไหวจนยุบตัวลงกะทันหันได้

สำนึกพลเมืองอันแรงกล้า

สื่อสิ่งพิมพ์ตะวันตกละเลยที่จะมองระดับจุลภาคไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ทว่าเอาเข้าจริงผู้ปฏิบัติงานระดับท้องถิ่นของจีนมีบทบาทชี้ขาดในการตามรอยการคลี่คลายขยายตัวของโรคระบาด ต่อสู้กับมันและนำเอาการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพมาให้ประชากรผู้ถูกกักกันตัว

พวกเขาต้องประยุกต์คำชี้แนะจากเบื้องบนพร้อมกับตอบสนองความจำเป็นของชาวบ้านในขณะเดียวกัน

การบริหารจัดการแบบเกาะติดใกล้ชิดนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสื่อประสานระหว่างรัฐกับประชากร มันต้องพึ่งพาอาศัยคณะกรรมการผู้อยู่อาศัยหรือคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งแข็งขันเอาการเอางานยิ่งในการระบุตัวบุคคลผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง กำกับให้ผู้คนปฏิบัติตาม มาตการกักกันตัว รวมทั้งจัดระเบียบชีวิตประจำวันในช่วงการกักกันและดูแลเรื่องเสบียงอาหารให้กับบรรดาคนที่มีความจำเป็น

คณะกรรมการซึ่งดำเนินการกำกับควบคุมทางสังคมอย่างแข็งขันเหล่านี้ในบางกรณีก็เป็นเวทีประยุกต์ใช้สิ่งที่โลกตะวันตกเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”

ในเวลาเดียวกัน สังคมที่จัดตั้งของจีนได้อุทิศคุณูปการอย่างแข็งขันให้แก่การบริหารจัดการโรคระบาดทั่วโดยอาศัยการร่วมส่วนของพลเมืองจีนหลายแสนคนภายใต้การจัดตั้งและชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และด้วยแรงดลใจจากสำนึกพลเมืองและสมานฉันท์อันแรงกล้า

ท้ายที่สุด การพัฒนาที่มีพลวัตยิ่งของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในจีนก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน มีการถกเถียงกันเรื่องทางเลือกอันหลากหลายเกี่ยวกับความเข้มข้นหนักหน่วงของการกักกันตัวหรือตามรอยโดยผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ถ้าหากการตามรอยอาจนำมาซึ่งภยันตรายได้ ก็เป็นที่เห็นพ้องกันว่าไม่ควรทำเป็นเล่นกับมัน

การบริหารจัดการโควิด-19 ในไต้หวันจึงได้รับการยกย่องชื่นชมในเมื่อแฮ็กเกอร์มือดีที่สุดของไต้หวันได้พัฒนาทางออกให้แก่การกำหนดรู้ตำแหน่งและตามรอยบุคคลที่ติดเชื้อซึ่งทางการไต้หวันนำไปใช้ การปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลในแบบปัจเจกนิยมล้วนๆ หลงลืมไปว่าเสรีภาพของคนคนหนึ่งสิ้นสุดลงตรงที่เสรีภาพของคนอื่นเริ่มต้นขึ้น – และพึงต้องคำนึงถึงสิทธิในชีวิตของคนอื่นๆ ด้วย

คำคุณศัพท์ว่า “อำนาจนิยม” ซึ่งครอบงำเรื่องเล่าของโลกตะวันตกเกี่ยวกับการรับมือโควิด-19 ในจีนโน้มเอียงจะทำให้ความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนดูง่ายดายเกินไป

ประสบการณ์ของจีนมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนเช่นกัน

ขณะเดียวกันข้อได้เปรียบที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาก็หาได้แสดงออกมาอย่างประจักษ์ชัดในการบริหารจัดการโรคระบาดทั่วครั้งนี้ไม่