ม.44-สภาวะทับซ้อน รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ บทสรุป “เขาอยากอยู่ยาว” ตามหลอนนักการเมือง

ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้ง

หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

ถึงยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนตามระยะเวลากำหนดในโรดแม็ป โดยเฉพาะการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก จำนวน 10 ฉบับ

แต่การมาของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ส่งผลให้การเมืองที่ “เนือยนิ่ง” มาเกือบ 3 ปี กลับมามีสีสันคึกคัก

กระนั้นสิ่งที่ตามมาหลังวันที่ 6 เมษายน มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเรียกร้องและแสดงข้อห่วงใย จากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ นักประชาธิปไตย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ส่งตรงไปถึง คสช. และรัฐบาล ในหลายประเด็น

ที่พูดถึงกันมาก และเป็นประเด็นที่สื่อนำเสนอต่อเนื่อง อย่างเช่น การเรียกร้องให้งดใช้อำนาจมาตรา 44 เรียกร้องให้ปลดล็อกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

รวมถึงความหวาดระแวงว่า อาจมีการใช้อภินิหาร “คว่ำ” ร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในชั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ที่อาจเป็นเหตุให้กระบวนการคืนประชาธิปไตยต้อง “ต่ออายุ” ยืดยาวออกไป

เหมือนกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558 จนเป็นที่มาของบทสรุปอันลือลั่น

“เขาอยากอยู่ยาว”

 

เป็นที่รับรู้กันว่ามาตรา 44 คือมรดกจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ถ่ายโอนมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีมาตรา 265 เป็นเครื่องรองรับ

พรรคชาติไทยพัฒนาแสดงความเห็นต่ออำนาจตามมาตรา 44 ในเชิงลบ มองว่าเป็นสัญลักษณ์สวนทางกับระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นการนำพาประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแล้ว มาตรา 44 จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป

หรือหากยังนำมาใช้ก็ควรกระทำอย่างรอบคอบ ไม่พร่ำเพรื่อ ไม่เช่นนั้นจะทำลายความน่าเชื่อถือของนานาอารยประเทศต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย

“เมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย บรรยากาศก็ควรเป็นประชาธิปไตย มาตรา 44 หากไม่นำมาใช้เลยจะดีกว่า เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ควรยึดรัฐธรรมนูญเป็นแม่บท ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญจะไม่ศักดิ์สิทธิ์” นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคระบุ

เช่นเดียวกับแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยข้อ 2 ที่ว่า

รัฐบาลและ คสช. ไม่สมควรใช้ “อำนาจพิเศษ” ใดๆ ในฐานะที่อ้างว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” โดยไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เพราะเป็นการไม่เคารพพระราชอำนาจ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

รวมทั้งควรพิจารณายกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช. และหัวหน้า คสช. ที่ไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ

ข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมือง สอดคล้องกับความเห็นของ นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่มองว่า

การคงมาตรา 44 ไว้ตามมาตรา 265 เท่ากับว่าถึงแม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แล้ว แต่ “ฟังก์ชั่น” จริงๆ ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ทำให้เกิดสภาวะ

รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับซ้อนกันอยู่

เหตุผลตามที่ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ชี้แจงความจำเป็นในการคงมาตรา 44 เอาไว้ ก็เพราะ “สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ยืนยันจะไม่ยกเลิกมาตรา 44 หรือประกาศคำสั่ง คสช. ใดๆ ถึงแม้ศักดิ์รัฐธรรมนูญจะสูงกว่า แต่มาตรา 44 ที่ออกมาก็ถือเป็นกฎหมาย

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวตอบโต้ดุดันตามสไตล์

“ทำไมไม่อยากให้ใช้ ผมใช้แก้ปัญหาไม่ใช่หรือ ถ้าไม่มีปัญหาจะใช้ทำไม แล้วไปกลัวมาตรา 44 กันทำไม คนทั่วไปเดือดร้อนอะไรหรือไม่ ไม่ได้เดือดร้อนเลย เห็นมีแต่นักการเมืองที่เดือดร้อน”

สรุปว่าเป็นอัน “จบข่าว”

 

ประเด็นเรียกร้องให้ “ปลดล็อก” คำสั่ง คสช. 57/2557 ให้พรรคการเมืองประชุมเคลื่อนไหวทำกิจกรรมได้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็ดังกระหึ่มไม่แพ้กัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมาย จึงหวังว่า คสช. จะผ่อนคลาย ยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม

เป็นความหวังเหมือนกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

“พรรคการเมืองก็ต้องรอดูว่าจะมีการอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างไร เมื่อไหร่ รูปแบบใด แต่เราได้เห็นเจตนาดีของผู้บริหารประเทศที่พยายามคืนประชาธิปไตย คงไม่ทำให้กระบวนการเหล่านี้ช้าลงหรือมีปัญหา”

นายสมศักดิ์ ปริศนานันกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันความจำเป็นต้องปลดล็อกพรรคการเมืองตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง หลังจากร้างลาไปนานนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554

รวมถึงต้องมีเวลาให้พรรคการเมืองเตรียมพร้อมตั้งรับกติกาใหม่ๆ ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจัดทำอยู่

“ไม่ใช่รอให้ทุกอย่างประกาศใช้ก่อน แล้วค่อยไปเตรียมตัว”

สำหรับพรรคเพื่อไทย เคยเรียกร้องให้ปลดล็อก ตั้งแต่เมื่อครั้งการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ครั้งนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะซ้ำรอยเดิม

ถึงแม้ผลสำรวจโพลมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะพบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.32 เห็นว่าควรปลดล็อกพรรคการเมืองทันทีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ที่ว่าข้อเรียกร้องปลดล็อกไม่น่าจะสำเร็จ เช่นเดียวกับการเรียกร้องให้ยุติการใช้อำนาจมาตรา 44

ไม่ใช่แค่เพราะทีมโฆษก คสช. ขอร้องให้พรรคการเมืองอดทนและใจเย็นๆ

แต่อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำว่า การปลดล็อกพรรคการเมืองให้หาเสียงได้ ควรเริ่มหลังจากประเทศไทยผ่านพ้น 2 พระราชพิธีสำคัญช่วงปลายปีนี้แล้ว

ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเสร็จสิ้นการจัดทำกฎหมายลูกตามกำหนด 240 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

 

การจะมองว่าข้อเรียกร้องปลดล็อกพรรคการเมือง สมเหตุสมผลหรือไม่

ด้านหนึ่ง อาจต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด ต้นปี กลางปี หรือปลายปี 2561

หากคำนวณตามปฏิทินโรดแม็ปของ คสช. ที่ขึ้นอยู่กับ “อัตราเร่ง” ในการจัดทำร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ

การเลือกตั้งอาจมีขึ้นได้อย่างเร็วในเดือนสิงหาคม 2561 หรืออย่างช้าเดือนพฤศจิกายน 2561

ส่วนที่มีฝ่ายการเมือง และอาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่าน มองว่าหาก “บีบเวลา” จัดทำร่างกฎหมายลูกลดลงได้ การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ช่วงกลางปี 2561 หรือช่วงต้นปีด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองจะไม่ค่อยกังวลเท่าใดนัก ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นช้าหรือเร็ว หากทุกอย่างยังอยู่ในกรอบเวลาตามโรดแม็ป

สิ่งที่ฝ่ายการเมือง นักวิชาการและเครือข่ายฝ่ายประชาธิปไตย ห่วงมากกว่าก็คือ อาจมีการ “คว่ำ” ร่างกฎหมายลูกในชั้นของ สนช. จนทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งต้องขยับเลื่อนออกไป

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงข้อกังวลว่ากฎหมายลูกอาจถูก “คว่ำ” หรือ “ตีตก” ในขั้นการพิจารณาของ สนช. เป็นแค่การ “มโน” ไปเองของคนบางกลุ่ม

ถึงกระนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ยืนยัน กรธ. พร้อมจบภารกิจจัดทำร่างกฎหมายลูกภายใน 240 วันหรือ 8 เดือนตามกำหนด แต่หลังจากนั้น การไปรับประกันว่าจะไม่เกิดอะไรนั้น เป็นเรื่องยาก

ตรงนี้เองทำให้บทสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต่อชะตากรรมร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

กลับมาหลอกหลอนฝ่ายการเมืองอีกครั้ง