ต่างประเทศอินโดจีน : เมื่อ “ทรัมป์” ทวงหนี้ “ฮุน เซน”

ตอนจบ : วิธีเบี้ยวหนี้แบบ ฮุน เซน

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานของ จูเลีย วอลเลซ ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ส บอกว่า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา “ตามทวงหนี้” จากนายกรัฐมนตรีสมเด็จฯ ฮุน เซน แห่งกัมพูชา หนึ่งในผู้นำโลกที่ชื่นชมยกย่องทรัมป์นักหนา

ฟังดูน่าสนุก ทุกคนต้องตั้งคำถามตามมาโดยพลันว่า ฮุน เซน ไปทำสัญญากู้หนี้ยืมทรัพย์สินอเมริกามาตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

เอาเข้าจริง เรื่องเบื้องหลังหนี้ก้อนนี้ มีทั้งเลือด ทั้งน้ำตา พิลึกและเจ็บปวด ชนิดหัวร่อไม่ออก ร้องไห้ก็ไม่ได้เลยทีเดียว


หนี้ก้อนที่ว่าย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม

ระหว่างปี 1965 เรื่อยมาจนถึงปี 1973 กองทัพอเมริกันลอบ “ปฏิบัติการ” ทิ้งระเบิดตามเส้นทางลำเลียงเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญจากเวียดนามเหนือมาให้พวกเวียดกงในเวียดนามใต้ที่เรียกกันว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” เป้าหมายเพื่อตัดการสนับสนุนดังกล่าว

ที่ต้อง “ปิดลับ” ปฏิบัติการดังกล่าวเพราะ “โฮจิมินห์เทรล” นั้นจริงๆ แล้ววกอ้อมข้ามแดนเข้ามาทางตะวันออกของลาว เกาะติดแนวชายแดนเรื่อยเข้ามาทางตะวันออกของกัมพูชาที่ไม่ใช่ “คู่สงคราม” ด้วย

ปี 1969 ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ประธานาธิบดีอเมริกาในเวลานั้น สั่งขยายการทิ้งระเบิดสารพัดแบบปูพรมตามแนวเส้นทางดังกล่าวออกเป็นปฏิบัติการเต็มรูปแบบ

เพราะเป้าหมายในเวลานั้นเปลี่ยนไปจากการสกัดเส้นทางส่งกำลังบำรุง ไปเป็นการ “ซื้อเวลา” ทางหนึ่งเป็นการชะลอไม่ให้กองทัพเวียดมินห์รุกลงใต้ให้นานที่สุด เพื่อให้อเมริกันจีไอมีเวลาได้ถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ได้โดยสวัสดิภาพ อีกทางหนึ่งเป็นการถล่มช่วยรัฐบาลกัมพูชาที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่ ป้องกันไม่ให้เขมรแดงบุกเข้ายึดพนมเปญ

อเมริกาล้มเหลวทั้ง 2 อย่าง สำเร็จอยู่อย่างเดียวคือสามารถทิ้งระเบิดมหาศาลลงมาเท่านั้นเอง

เบ็ดเสร็จแล้วประเมินกันว่า จำเพาะระเบิดที่ถล่มลงในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกของกัมพูชา รวมน้ำหนักได้ราว 500,000 ตัน

 

ชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนาตามแนวชายแดนด้านตะวันออก ที่จู่ๆ ก็ถูกถล่มไม่รู้เนื้อรู้ตัว บ้านเรือนกลายเป็นกองไม้ เรือกสวนไร่นาไม่เป็นอันทำมาหากิน สุดท้ายก็ต้องหอบลูกจูงหลานหลบหนีมาพึ่งเมืองหลวง จำนวนไม่มากไม่น้อย แค่กว่า 2 ล้านคนเท่านั้นเอง

คนกว่า 2 ล้าน อยู่ในสภาพมีเสื้อผ้าชุดเดียวติดตัว กลายเป็นภาระเฉียบพลันของรัฐบาล

รัฐบาลกัมพูชาในเวลานั้น นำโดย นายพล ลอน นอล (ยศหลังสุดคือจอมพล) ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี (ต่อมาเป็นประธานาธิบดี คนที่ 7 ของประเทศ) ได้ด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ เป็นผู้นำกัมพูชาที่เดินตามนโยบายอเมริกาเดียะจนได้ฉายาว่าเป็นหุ่นเชิดของวอชิงตัน

หันรีหันขวางอยู่พักใหญ่ นายพลลอน นอล กับฝ่ายอเมริกาก็ตกลงกันทำโครงการ “ฟู้ด ฟอร์ พีซ” ขึ้นมาแก้ปัญหา โดยทางวอชิงตันปล่อยกู้ให้ 274 ล้านดอลลาร์ “เพื่อให้จัดซื้อข้าวอเมริกัน, ข้าวสาลีอเมริกัน น้ำมันและฝ้ายจากอเมริกา” มาจัดเตรียมเป็นอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้คนเหล่านั้น ก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตสังคมขึ้นมา

สถานการณ์ในเมืองหลวงดีขึ้น แต่สถานการณ์ความมั่นคงทั่วประเทศย่ำแย่ลงเรื่อยๆ สุดท้าย กองทัพอเมริกันก็ถอนตัวออกมาจากกัมพูชา

ทิ้งให้รัฐบาล ลอน นอล เผชิญหน้ากับเขมรแดงตามลำพังในเดือนเมษายนปี 1975

 

เรื่องราวหลังจากนั้น เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่เราคุ้นเคยกันดี เมื่อเขมรแดงบุกเข้าพนมเปญได้สำเร็จ ก่อเหตุการณ์ “ทุ่งสังหาร” อันเลื่องลือขึ้นตามมา

ต่อด้วยการที่เวียดนามส่งกำลังเข้ามาโค่นล้มเขมรแดง แล้วกลายเป็นยุคของเขมร 3 ฝ่าย บวกกับอีก 1 พวกคือ เฮง สัมริน ที่เวียดนามเลือกให้เป็นผู้นำรัฐบาลในพนมเปญ แตกแยก สู้รบกันนัวเนียจนสหประชาชาติต้องเข้าไปจัดการหย่าศึก จัดให้มีการเลือกตั้ง ผลักดันกัมพูชาเข้ามาสู่ยุคปัจจุบัน

แต่เงินกู้ 274 ล้านดอลลาร์ ไม่ได้หายไปไหน ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่นำมาใช้เพื่อช่วยคนที่เดือดร้อนจากอานุภาพการปูพรมของ บี-52 ของอเมริกาเองก็ตาม

สหรัฐอเมริกาออกมาทวงหนี้ก้อนนี้ตั้งแต่ราวทศวรรษ 1990 เรื่อยมาจนถึงยุคของทรัมป์ก็เริ่มทวงอีกครั้ง

สัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน จะตอบการทวงหนี้อย่างไร