วิธีเบี้ยวหนี้แบบ ‘ฮุน เซน’

AFP PHOTO / WANG ZHAO

ตอนแรก : เมื่อ “ทรัมป์” ทวงหนี้ “ฮุน เซน”

รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา เจอทวงหนี้ซึ่งทำกันตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม สมัยจอมพล ลอน นอล เป็นนายกรัฐมนตรี 274 ล้านดอลลาร์ ที่กู้มาเพื่อ “เยียวยา” ชาวบ้านร้านช่องที่กระเจิดกระเจิง พลัดที่นาคาที่อยู่ ก็เพราะเหตุที่อเมริกาแห่ใช้ บี-52 ขนระเบิดนับแสนๆ ตันมาทิ้งถล่ม “เส้นทางโฮจิมินห์”

อเมริกาทวงหนี้ก้อนนี้ครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ในทันทีที่กัมพูชาหลุดพ้นจากบ่วงสงครามที่กินเวลายาวนานหลายทศวรรษ ผู้คนล้มตายไปไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน

ถึงตอนนี้ เมื่อรวมทั้งดอกเบี้ยและค่าปรับจากการไม่ชำระตามกำหนด หนี้ก้อนเดียวกันนั้น เพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 506 ล้านดอลลาร์

วิวาทะว่าด้วยหนี้ก้อนนี้เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

เจย์ เรแมน โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำกรุงพนมเปญ ให้เหตุผลที่เป็นข้ออ้างของฝ่ายอเมริกันมาตั้งแต่แรกเอาไว้ว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการยกเลิกหนี้ให้ประเทศใดๆ ก็ตาม ที่มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้

หมายความว่าตามตัวบทกฎหมายอเมริกัน หนี้ก็ต้องเป็นหนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาล ตราบเท่าที่รัฐสภายังไม่มีมติเป็นอย่างอื่น

ฝ่ายกัมพูชา ยกข้อเท็จจริงมาแย้งว่า หนี้ก้อนที่ว่านี้ถือเป็นโมฆะ เนื่องจากรัฐบาล ลอน นอล เป็นรัฐบาลที่มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาจากการรัฐประหารเมื่อปี 1970

ฝ่ายอเมริกันไม่แย้งข้อเท็จจริงที่ว่านั้น แต่ยืนกรานว่า ถ้าหากรัฐบาลที่มีอำนาจในเวลาต่อมา ไม่ยอมรับผิดชอบหนี้จากรัฐบาลก่อนหน้า ระบบการเงินระหว่างประเทศมีหวังปั่นป่วนถึงขั้นพังทลายทั้งระบบเอา

กัมพูชาบอกว่า ประเทศนี้ยังยากจนอยู่นะ ไม่มีเงินจะมาชำระหนี้

ตรงนี้ฝ่ายอเมริกันไม่เห็นด้วย ชี้ข้อเท็จจริงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งกัมพูชาเคยเป็นประเทศยากจนที่สุดชาติหนึ่งของโลกก็จริง แต่เมื่อปีที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่งยกฐานะกัมพูชาขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ (โลเวอร์-มิดเดิล อินคัม คันทรี) เรียบร้อยแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีที่แล้วสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์

วิลเลียม ไฮดต์ (คนกลาง)

วิลเลียม ไฮดต์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำพนมเปญ บอกผู้สื่อข่าว มองไปรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะดูอีท่าไหนก็มองไม่ออกว่านี่คือประเทศที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ แล้วตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า นานๆ ทีรัฐบาลกัมพูชาก็จะรู้สึกขึ้นมาทีนึงว่าควรจะออกมา “วิพากษ์วิจารณ์” สหรัฐอเมริกาซะทีนึง ด้วยเหตุผลที่ “ผมไม่คิดว่าเราเข้าใจได้ถ่องแท้นัก”

แล้วสรุปความว่า “นั่นคงเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบฉบับกัมพูชา”

สิ่งที่ท่านทูตไฮดต์มองเห็นนั้น เซบาสเตียน สแตรนจิโอ เจ้าของหนังสือ “กัมพูชาของ ฮุน เซน” เรียกว่าเป็น “การทดสอบอุปนิสัย” จาก ฮุน เซน

ตัวอย่างเช่น หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ เพียงไม่กี่วัน รัฐบาล ฮุน เซน สร้างข่าวใหญ่ไปทั่วโลกด้วยการประกาศว่าต้องอพยพคนทั้งหมู่บ้าน เพื่อจัดการกู้ระเบิดอเมริกันที่ยังไม่ระเบิด 2 ลูก

นักข่าวตรวจสอบกันจ้าละหวั่น ก่อนพบในเวลาต่อมาว่า จริงๆ แล้วระเบิดที่ว่าพบกันมานานหลายปีแล้ว

หนึ่งเดือนถัดมา ก็มีอีก คราวนี้มีการกู้ระเบิดอีก 2 ลูกจากสระน้ำ พร้อมกับข่าวจากสื่อของรัฐ ต่อว่าต่อขานความ “เจ้าเล่ห์” ของรัฐบาลอเมริกันเรื่องหนี้

คราวนี้นักข่าวไม่ตกเป็นเหยื่ออีกแล้ว เพราะรู้กันดีว่าระเบิดในสระที่ว่านั้น พบมานานหลายสิบปีแล้ว

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

ครั้งหลังสุดเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฮุน เซน ออกโรงเอง ด้วยน้ำเสียงชวนเห็นอกเห็นใจ

“โอ อเมริกา ท่านประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นยังงี้ไปได้ยังไง ท่านโจมตีเราแล้วมาเรียกเงินจากเรา?”

นักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า ฮุน เซน พยายามทำให้สหรัฐอเมริกามองเห็นแล้วก็เอาตัวอย่างจีน ที่เพิ่งยกหนี้ 89 ล้านดอลลาร์ให้เมื่อปีกลาย หลังจากที่เมื่อหลายปีก่อนเคยยกหนี้เงินกู้ในยุคเขมรแดงอีกไม่รู้เท่าไหร่ให้กัมพูชา

แต่ โสพาล เอีย นักวิชาการอเมริกันเชื้อสายกัมพูชา เชื่อว่ารัฐบาลกัมพูชากำลังปากว่าตาขยิบ ทำเป็นจนเพื่อกลบความสนใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ แถมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คอร์รัปชั่นในประเทศนี้มีมูลค่าสูงถึงราว 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ปากว่าจนๆ แต่คนที่พูดน่ะขี่เบนท์ลีย์ กับเมอร์เซเดส เอส 600 กรุยกรายไปทั่วเมือง โสพาล เอีย สำทับไว้อย่างนั้น