รักษาอำนาจไว้ได้อย่าง “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน”

โอกาสของ “กระแสประชาชน”

อย่างที่เคยมีผู้กล่าวถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไว้ในความหมายที่ว่า “แม้จะดูไม่มีฝืมือความสามารถที่จะสร้างผลงานการพัฒนาประเทศ หรือกระทั่งบริหารให้เอาตัวรอดได้จากปัญหาใหญ่น้อยต่างๆ แต่การบริหารอำนาจถือได้ว่าเก่งกาจชนิดที่หาใครเทียบได้ยาก”

เป็นรัฐบาลที่มีฐานอำนาจจากข้าราชการ มีกองทัพเป็นแกนนำที่สามารถสืบเนื่องอำนาจไว้ได้ยาวนาน

จะยังเป็นรองก็แค่ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ที่ยืนยงอยู่ในอำนาจได้ถึง 8 ปี สถานการณ์ถึงได้กดดันให้ประกาศ “ผมพอแล้ว” ลงจากหลังเสือได้อย่างราบรื่น

ทว่าถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจมาได้ถึง 6 ปี ซึ่งหากดูความเป็นไปได้ว่าจะอยู่ต่อไปแล้ว การที่จะอยู่อีก 2 ปีเพื่อลบสถิติ พล.อ.เปรมใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

การเมืองไทยที่รัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือนสลับกันขึ้นมาครองอำนาจ

คราวที่จะเป็นรัฐบาลพลเรือนได้ จะต้องมี 2 องค์ประกอบสำคัญคือ รัฐบาลทหารไม่สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประทับใจได้ และพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งเป็นเอกภาพในการตรวจสอบ

สมัย พล.อ.เปรม ความมั่นคงอยู่ที่การสร้างผลงานแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างโดดเด่น จนพรรคการเมืองไม่ว่าจะเข้มแข็ง และเป็นเอกภาพแค่ไหน ก็สร้างความชอบธรรมในการที่จะล้มรัฐบาลได้ลำบาก

แต่ในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ต่างออกไป

แม้ไม่มีผลงานอะไรที่จะทำให้ประชาชนเกิดความชื่นชมได้ หนำซ้ำยังสร้างความกังวลว่าหากบริหารกันเช่นนี้ โอกาสที่ประเทศจะหนีจากหายนะไม่พ้นมีสูงมาก

แต่กลับเป็นรัฐบาลที่รักษาอำนาจไว้ได้อย่าง “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ด้วยองค์ประกอบที่ว่าด้วย “พรรคการเมือง” ที่เข้มแข็ง และเป็นเอกภาพไม่มี

ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคฝ่ายรัฐบาล ชั่วโมงนี้ล้วนแต่ตกอยู่ในสภาพมีปัญหากันถ้วนทั่ว

และนี่เองที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจไว้ได้อย่างไม่สะดุ้งสะเทือนนัก ทั้งที่ไม่ได้สร้างผลงานอะไรเลย

และถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว กระแสประชาชนจะมีความสำคัญต่อการคงอยู่ในอำนาจ แต่ระบบการจัดการกระแสประชาชนถูกออกแบบและควบคุมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดความสามารถในการใช้ทุกอย่างมาเป็นเครื่องมืออำนาจได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลใหญ่หลวงต่อการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สลายหายไป ทั้งที่กำลังจะเป็นกระแสที่จุดติด

ความน่าสนใจอยู่ที่ถึงวันนี้ ความกลัวต่อโควิด-19 ลดลงแล้วมากมาย

ผลสำรวจล่าสุดของนิด้าโพล เรื่อง “พร้อมหรือยัง สำหรับกิจการ/กิจกรรมผ่อนปรนระยะ 4”

ในคำถาม “วันนี้ท่านมีความกลัวที่จะติดเชื้อโควิด-19 แค่ไหน” คำตอบที่บอกว่ากลัวมากมีร้อยละ 12.91 ที่ค่อนข้างกลัวร้อยละ 33.39

แต่ร้อยละ 32.83 บอกว่าไม่ค่อยมีความกลัว และร้อยละ 19.93 ไม่มีความกลัวเลย

ด้วยอารมณ์หมดกลัวของประชาชนนี้

ทำให้แม้จะมีความเชี่ยวชาญในการรักษาเครื่องมืออำนาจมากมายเพียงใด

แต่เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทางกลับกันเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากต่อการทำมาหากินของประชาชน และส่งผลต่อวิกฤตเศรษฐกิจในภาพรวม

การจะยื้อยุดไว้ด้วยความเชี่ยวชาญใช้เครื่องมืออำนาจย่อมต้องถูกตั้งคำถามไม่น้อย

และนั่นหมายถึง ฝีมือความสามารถในการบริหารให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้อย่าง “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” เริ่มมีแรงกดดันขึ้นมาแล้ว

การสร้างผลงานเพื่อประคับประคองตัวเองนั้นไม่เป็นปัจจัยที่พอจะหวังได้อยู่แล้ว

จึงเหลือเพียงพรรคการเมืองจะกลับมาเข้มแข็งในการทำหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในแนวร่วมหรือไม่

นับว่าน่าสนใจยิ่ง


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่