Paul Gauguin ศิลปินผู้ถ่ายทอดความบริสุทธิ์ของธรรมชาติด้วยเส้นสีและรูปทรง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Tahitian Women on the Beach (1891)

ในวันที่ 7 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมาเป็นวาระครบรอบ 172 ปีชาตกาลของหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก ผู้อยู่ร่วมในกระแสเคลื่อนไหวศิลปะยุคหลังอิมเพรสชั่นนิสต์ (Post-Impressionism)

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ปอล โกแกง (Paul Gauguin)

ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้เป็นที่รู้จักจากการทดลองใช้ทฤษฎีสีสันและสไตล์การทำงานรูปแบบใหม่ที่แตกแขนงออกจากงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) ในยุคก่อนหน้า

ยูจีน อองรี ปอล โกแกง (Eugène Henri Paul Gauguin) เกิดในปี 1848 ที่กรุงปารีส

ในช่วงเยาว์วัย ปอล โกแกง และครอบครัวต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในเปรู บิดาของเขาเสียชีวิตระหว่างทาง เขากับมารดาและพี่สาวได้อาศัยอยู่ที่เมืองลิมา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาประทับใจ และถ่ายทอดลงในผลงานของเขาในเวลาต่อมา

ภายหลังเขาย้ายกลับสู่มาตุภูมิ หากแต่ความทรงจำในช่วงวัยเยาว์ก็ทำให้เขาเป็นคนที่โหยหาดินแดนอันห่างไกลไปตลอดชีวิต

ในช่วงวัยรุ่น โกแกงทำงานหลากหลายอาชีพ ทั้งเป็นลูกเรือเดินสมุทร เป็นทหารเรือ และจบลงด้วยการเป็นนักเล่นหุ้น แต่งงานมีครอบครัว โดยใช้เวลาว่างวาดรูป และสะสมงานศิลปะ

ชีวิตของเขาคงจะเป็นปกติสุขดี ถ้าไม่บังเอิญได้พานพบกับศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ชาวฝรั่งเศสอย่างคามิล ปิซาร์โร่ ซึ่งแนะนำให้เขาเอาดีกับการทำงานศิลปะและชักชวนให้เขารู้จักกับศิลปินคนอื่นๆ

Self-portrait (1888)

จนกระทั่งวันหนึ่งเขาตัดสินใจละทิ้งการงานที่มั่นคงและชีวิตครอบครัวที่ผาสุก ออกมาเป็นจิตรกรเต็มตัว เคียงคู่ไปกับศิลปินในกลุ่มอย่างคามิลล์ ปิซาร์โร (Camille Pissarro), ปอล เซซานน์ (Paul Cèzanne) และวินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh)

โกแกงเคยมีมิตรภาพอันแน่นแฟ้นกับวินเซนต์ แวน โก๊ะห์ และทำงานเคียงข้างเขาอย่างเปี่ยมสีสันในเมืองอาร์ล ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ในการทำงานศิลปะ จนโกแกงแยกตัวออกไปด้วยความบาดหมาง

ประจวบกับในช่วงนั้นศิลปะจากตะวันออกและแอฟริกันเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ยุโรป ทำให้เขาสนใจศึกษาค้นคว้า

และในที่สุดเขาก็ตัดสินใจหันหลังให้กับสังคมศิลปะตะวันตกอย่างสิ้นเชิง และปลีกตัวไปใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนอันห่างไกลผู้คน ด้วยการไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะตาฮีตี มหาสมุทรแปซิฟิกใต้

Nafea Faa Ipoipo (When Will You Marry?) (1892)

เขาตื่นตาตื่นใจไปกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองบนเกาะ ที่ชาวยุโรปอย่างเขาไม่คุ้นเคย แรงบันดาลใจจากสถานที่แห่งนี้ส่งผลให้เขาสร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นออกมาเป็นจำนวนมาก

Still Life with Profile of Laval (Charles Laval) (1886)

เขาวาดภาพที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชนพื้นเมืองออกมาอย่างอ่อนโยน ด้วยสีสันสดใสจัดจ้าน รูปทรงที่แบนราบ หยาบกระด้างบิดเบี้ยว หากแต่บริสุทธิ์ และซื่อตรง

ด้วยการใช้ทฤษฎีแสงสีของอิมเพรสชั่นนิสต์ ผนวกกับประสบการณ์ทางศาสนาจากชุมชนในชนบทของแคว้นบริตตานีในฝรั่งเศส และการสัมผัสกับภูมิทัศน์ในหมู่เกาะแคริบเบียน และทฤษฎีสีสันที่เขาศึกษาและทดลองด้วยตัวเองจากการเฝ้าสังเกตธรรมชาติ และความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งค้นพบในยุคสมัยนั้น

ในภายหลังการทำงานในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า Synthetism อันเป็นวิธีการทำงานศิลปะที่ศึกษาและวิเคราะห์วัตถุในธรรมชาติ ในฐานะที่มันเป็นส่วนประกอบของพื้นผิว เส้นสี และรูปทรงในเชิงสัญลักษณ์ จึงนิยมถ่ายทอดผลงานออกมาเป็นสองมิติแบนราบ มากกว่าจะแสดงให้เห็นมิติความลึกเพื่อเลียนแบบความเป็นจริงแบบตรงๆ

ด้วยการเสาะแสวงหาความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับโลกธรรมชาติที่เขาได้สัมผัสจากชุมชนต่างๆ ในเฟรนช์พอลินีเชีย และวัฒนธรรมนอกโลกตะวันตก โกแกงมองว่าภาพวาดของเขาเป็นปรัชญา การทำสมาธิ และการแสวงหาความหมายแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์

เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ในการเข้าถึงแก่นแท้ทางศาสนา และการเสาะหาคำตอบเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ โกแกงเป็นแบบอย่างของศิลปินพเนจรผู้แสวงหาความลึกลับแห่งธรรมชาติ

The Yellow Christ (Le Christ jaune) (1889)

โกแกงเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญแห่งช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 19 ผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวลัทธิสัญลักษณ์นิยม (Symbolism) เขาเป็นจิตรกร, ประติมากร, ศิลปินภาพพิมพ์, ศิลปินเซรามิก และนักเขียน

ผลงานศิลปะอันซื่อบริสุทธิ์ของเขาส่งแรงบันดาลใจต่องานศิลปะอนารยะ (Primitive art) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะของชนเผ่าในประเทศอันห่างไกลอย่างแอฟริกา เอเชีย และเฟรนช์พอลินีเชีย ที่มีความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณและใกล้ชิดกับพลังแห่งธรรมชาติและจักรวาล มากกว่าสังคมที่มุ่งแสวงหาแต่ความเจริญทางวัตถุอย่างยุโรปและอเมริกัน

Vision After the Sermon (Jacob wrestling with the angel) (1888

เขายังยกระดับงานศิลปะพื้นเมืองอย่างงานแกะสลักและภาพพิมพ์แกะไม้ให้กลายเป็นศิลปะที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

โกแกงเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งในกลุ่มโพสต์อิมเพรสชั่นนิสต์ที่ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่

เขาเป็นศิลปินหัวขบถที่ทุ่มเทและอุทิศทั้งชีวิตให้กับการทำงานศิลปะไม่น้อยหน้าศิลปินผู้เคยเป็นเพื่อนสนิทของเขาอย่างแวน โก๊ะห์เลย

Vahine no te tiare (Woman with a Flower (1891

ถึงแม้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ผลงานของเขายังไม่เป็นที่นิยมนัก

แต่ภายหลังจากที่เสียชีวิต ผลงานของเขากลับได้รับความนิยม

และส่งอิทธิพลต่อกระแสศิลปะหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ของฝรั่งเศส และศิลปินสมัยใหม่ทั่วโลกอย่างมากมาย

เช่น ปาโบล ปิกัสโซ่, อองรี มาตีส จากการผลักดันของนักค้างานศิลปะ แอมบรัวส์ โวลาร์ (Ambroise Vollard) ผู้จัดนิทรรศการแสดงผลงานชิ้นสำคัญในช่วงท้ายของชีวิตโกแกงที่ปารีส ในปี 1903 และ 1906

Where Do We Come From? What Are We? Where Are We Going? (1897)

ในปัจจุบัน ชื่อของโกแกงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพทางศิลปะและการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ให้ก้าวพ้นออกจากกรอบและขีดจำกัดทั้งปวง

ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/3dOtImq


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่