การศึกษา / เปิดพิมพ์เขียว กฎหมายการศึกษา ‘เพื่อครู’ หรือมุ่งคุณภาพ!?

การศึกษา

 

เปิดพิมพ์เขียว

กฎหมายการศึกษา

‘เพื่อครู’ หรือมุ่งคุณภาพ!?

 

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรวาท ทองบุ เป็นประธาน เปิดร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาออกมา

โดยเป็นการปรับแก้สาระบางส่วนจากร่างเดิมของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ได้จัดทำไว้

ซึ่งสาระสำคัญบางส่วนของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ มีดังนี้

 

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … คงส่วนใหญ่ของสาระเดิมไว้ และแก้ไขข้อขัดแย้ง อาทิ ผู้ประกอบอาชีพครู จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชื่อตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ไม่มีนิยาม “ครูใหญ่” มีนิยาม “ผู้บริหารสถานศึกษา” แทน เป็นต้น

ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. สาระสำคัญ อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างของ ศธ.ใหม่ โดยการยกเลิกประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยกเลิกสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และมีสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดทุกจังหวัด ให้สำนักงานกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นสำนักงาน ก.ค. โอนองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มาเป็นหน่วยงานในกำกับของ ศธ. ชื่อใหม่ว่า องค์การค้า ศธ. เป็นต้น

ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู เปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู มีคณะกรรมการระบบพิทักษ์คุณธรรม มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครู (อ.ก.ค.) ส่วนราชการ สำนักในส่วนราชการเทียบเท่ากรม และให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครู (อ.ก.ค.) เปิดโอกาสให้ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ กำหนดมาตรฐานตำแหน่งบางตำแหน่งที่มีความจำเป็นพิเศษ เพื่อตอบสนองการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันไปตามภารกิจ เป็นต้น

ร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เปลี่ยนชื่อเป็น ร่าง พ.ร.บ.สภาครู ยกเลิกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) บัญญัติให้มีวิชาชีพทางการศึกษา 6 วิชาชีพ ประกอบด้วย วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริการศึกษาในระดับส่วนราชการ และนักพัฒนาการศึกษา เป็นต้น

 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจาะเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้คะแนน 6 เต็ม 10 เพราะไม่เห็นว่าเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้

แต่กลับเป็นกฎหมายที่ทำเพื่อครู ซึ่งไม่มีเรื่องคุณภาพการศึกษา แม้จะเห็นด้วยที่ควรเร่งผลักดันกฎหมาย แต่ก็อยากให้มีการนำมาประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอีกรอบ

โดยมองว่า ฉบับใหม่นำร่างของ กอปศ.มาเป็นหลักกว่า 80% อีก 20% มาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แซมเข้าไป มีการปรับลดกฎหมายเหลือ 97 มาตรา จากทั้งหมด 103 มาตรา

เชิงหลักการไม่เสียหาย แต่ภาพรวมทำให้กฎหมายดูอ่อน จืด และความมีน้ำหนักของเนื้อหา ความน่าเชื่อถือลดลงไปมาก

“สาเหตุที่บอกว่ากฎหมายดูอ่อนลง เพราะไปตัดมาตราที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ กอปศ.เน้น อาทิ มาตรา 8 เกี่ยวข้องกับพัฒนาการตามช่วงวัย จิตใจ ถูกตัดรายละเอียด เหลือเฉพาะช่วงวัยตามอายุ และยังตัดมาตรา 33 และมาตรา 35 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมาตรา 8 ที่กำหนดว่าครูควรมีคุณลักษณะแบบไหน เชื่อมโยงถึงพัฒนาการของเด็ก เมื่อตัดส่วนนี้ออกไป น้ำหนักของกฎหมายจึงหายไป รวมถึงยังตัดมาตราที่เกี่ยวข้องกับวิทยฐานะ ความก้าวหน้าที่สะท้อนถึงพัฒนาการของเด็ก เมื่อตัดออก ทำให้น้ำหนักของกฎหมายลดลง” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

มาตราที่สำคัญและถูกเปลี่ยนมากที่สุด คือมาตรา 82 เพิ่มคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็น 56 คน กลายเป็นคณะกรรมการที่ใหญ่โต เทอะทะ มีกรรมการที่มาจากองค์กรครูกว่า 20 คน จะกลายเป็นเรื่องการเมืองในการศึกษา ต้องระวังว่าคนจะมองว่าเข้าไปรักษาผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่

 

นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. ยอมรับว่า กรณีเสนอให้ยุบ ศธภ.เคยมีการพูดถึงหลายครั้ง แต่ยังมีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งต้องมาดูว่า งานซ้ำซ้อนกันอย่างไร ไม่ใช่พูดกันแต่เรื่อง “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” ส่วนข้อเสนอที่ให้เพิ่มอาชีวศึกษาประจำจังหวัดนั้นอาจมีความเป็นไปได้ เพราะขณะนี้อาชีวศึกษารัฐกับอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศรวมกันแล้วไม่เกิน 1,000 แห่ง หากเพิ่มอาชีวะจังหวัด ก็ถือว่าไม่มาก

แต่การเพิ่มหน่วยงาน หมายถึงการเพิ่มงบประมาณ ดังนั้น ก็ต้องมาพิจารณาความเหมาะสม ขณะที่การเพิ่ม สพม.ทุกจังหวัดนั้น คงต้องมาดูข้อดีข้อเสีย เพราะจากที่ได้ทำงานด้านโครงสร้าง ศธ.มากว่า 1 ปี ยังจับจุดไม่ได้ว่า การเพิ่ม สพม. จะมีข้อดีหรือไม่ดีอย่างไร

ส่วนตัวยังคิดว่า ผู้อำนวยการ สพท. 1 คน มีศักยภาพที่จะดูแลการจัดการศึกษาในภาพรวมได้ โดยไม่ต้องแยกเป็นประถมหรือมัธยม

 

ขณะที่นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เห็นด้วย อยากเห็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้การทำงานในหลายๆ เรื่องมีความคล่องตัว

ส่วนในรายละเอียดใด หากมีปัญหา ค่อยหาทางแก้ไขระหว่างทางได้ อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วการศึกษาต้องคิดภาพรวม จังหวัดต้องรับผิดชอบ ลงมาดูภาพรวมการศึกษาของจังหวัด ซึ่งเท่าที่ดูในร่าง พ.ร.บ.ของ กมธ. ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่พยายามจะนำทุกอย่างไปลง สพท. ยังอิงกับอำนาจเดิม เห็นได้จากเสนอให้เพิ่ม สพม.ทุกจังหวัด

ส่วนที่ร่าง พ.ร.บ.สภาครูฯ เสนอให้ยุบ กมว.นั้น ซึ่ง กมว.มีหน้าที่กลั่นกรองดูแลงานจรรยาบรรณครูในเบื้องต้น การจะยุบและตั้งเป็นคณะอนุกรรมการ ทำหน้าที่แทน กมว.

ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้กำกับดูแล จรรยาบรรณวิชาชีพครูซึ่งเป็นงานสำคัญลดน้อยลง

 

ขณะที่ข้อเสนอให้แยกองค์การค้าออกจาก สกสค. มาเป็นองค์การค้าของ ศธ.นั้น

ได้รับการสนับสนุนจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ อย่างนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ และนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) อดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.

โดยเห็นพ้องกันว่า องค์การค้าฯ ควรแยกจาก สกสค. เป็นนิติบุคคล เพื่อการบริหารงานที่คล่องตัว

ไม่ใช่เหมือนทุกวันนี้ ที่อยู่ภายในการกำกับดูแลของ สกสค. ซึ่งเป็นนิติบุคคลเหมือนกัน เวลายืมเงินก็หมุนอยู่ภายในนิติบุคคลเดียว บริหารจัดการยาก ไม่คล่องตัว

ส่วนเรื่องปัญหาการทุจริตนั้น เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข และว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะขององค์การค้าฯ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งของคนในแวดวงการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เชื่อว่ากว่าจะเห็นหน้าตาของกฎหมายด้านการศึกษา คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร หวังว่าผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจะจัดทำร่างกฎหมายทุกอย่างโดยคำนึงถึงคุณภาพเด็กและคุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ

            มากกว่าลดความขัดแย้ง และเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเท่านั้น…!!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่