“ชูวิทย์” แย้มงานเขียนเล่มใหม่ “เกร็ดข้อมูลลึกแต่ไม่รับ” หลัง “เหลี่ยมคุก” ทำคนราชทัณฑ์หนาวๆ ร้อนๆ

“สายรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เห็นแล้ว และรู้สึกไม่ค่อยปลื้มนัก มีการคุยกันยกใหญ่ตั้งแต่ระดับหัวหน้าส่วนเล็กๆ ไปจนถึงระดับใหญ่ๆ ภายหลังได้รู้ว่ามีการตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์และรวมเป็นหนังสือ “เหลี่ยมคุก อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้”” ฉบับสมบูรณ์

นี่คือฟีดแบ็กที่ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตเจ้าของสถานบริการชื่อดัง อดีตนักการเมือง-หัวหน้าพรรครักประเทศไทย และอดีตผู้ต้องขังชายในคดีรื้อบาร์เบียร์อันเป็นเหตุให้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำร่วมสามร้อยกว่าวัน เล่าให้ฟังหลังมีการวางแผงหนังสือ “เหลี่ยมคุก” สดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ชูวิทย์เล่าว่า ได้ใช้เวลาว่างในแต่ละวันตลอดช่วงที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ค่อยๆ เขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นเสมือนไดอารี่ บันทึกเหตุการณ์จริงและสิ่งที่เห็น รวมทั้งระบบภายในเรือนจำที่แออัดและ “สูญสิ้นอิสรภาพ” อย่างสิ้นเชิง

“สิ่งที่ผมเขียนเป็นประโยชน์กับสาธารณชน ซึ่งต้องบอกว่าผู้คุมหรือเจ้าหน้าที่พยายามจะดูว่าผมเขียนอะไรไว้ แต่ต้องบอกว่าลายมือผมมันอ่านยาก ได้แต่ตอบไปว่า เขียนสั่งงานลูกน้อง มีธุระต้องจัดการ”

 

จุดประสงค์หลักของการเขียน “เหลี่ยมคุก” เล่มนี้ มี 2 ส่วน

“ส่วนแรก ผมอยากจะบอกเลยว่าผมไม่อยากให้ใครต้องมาติดคุก ถ้าเขาอ่านอย่างนี้ คนเขาก็กลัว ว่ามีอย่างนี้ด้วยหรือ เฮ้ย! ไม่เอาแล้ว ไม่อยากทำผิดกฎหมาย ไม่อยากเจอสภาพภายในเรือนจำ ที่ต้องบอกว่าไม่ได้น่าอยู่ ไม่ได้มีสภาพดูพอรับได้เหมือนหนังฮอลลีวู้ดที่อยู่รวมกันไม่กี่คน

“เปล่าเลยของไทยห้องนิดเดียวอยู่รวมกันเป็น 10-20 คนในห้องแคบๆ สารพัดเชื้อโรค หรือบางคนที่สุขภาพปกติดีมาเจอสภาพแบบนี้ก็แย่ได้

“สภาพในห้องขังจะทำธุระส่วนตัวก็ต้องเดินข้ามกันไปแบบอย่าพลาดไปเหยียบใครเข้า งั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่สำคัญอย่าไปทำธุระนานๆ เพราะกลับมา ของท่านจะไม่อยู่แล้ว การที่คุณจะทำธุระส่วนตัวแบบเบาได้ก็ต้องนั่งยองลง อะไรอย่างนี้

“แล้วขอโทษนะครับ ถ้าไม่มีที่ปิดตามา เตรียมตัวนอนไม่หลับได้ เพราะที่นี่เขาไม่ประหยัดไฟ เขาเปิดไว้ทั้งคืน เพื่ออะไร? ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแทงกันรุมทำร้ายร่างกายกัน”

 

ชูวิทย์เล่าเพิ่มเติมถึงวิถีชีวิตประจำวันภายในคุกว่า ส่วนเรื่องกับข้าวกับปลา อาหารการกิน วิญญาณเนื้อสัตว์ ก็เป็นอีกเรื่องที่หนังสือเล่มนี้พูดถึง

นอกจากอาหารที่กรมราชทัณฑ์จัดเตรียมไว้ให้ผู้ต้องขังแบบสามมื้อชิดติดกัน มื้อแรก 07.30 น. มื้อเที่ยง 10.30 น. มื้อเย็น 14.00 น. หลังจากนี้ต้องรอไปถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ถึงจะได้รับประทานอาหารอีกครั้ง

เช่นเดียวกับตารางชีวิตในแต่ละวัน ที่หลัง 15.00 น. ตะวันยังไม่ลับฟ้า นักโทษต้องกลับเข้าเรือนนอน แม้จะไม่มีใครทนร้อนและหลับลง พวกเขาต้องรอเช้าวันใหม่ ถึงจะได้ออกนอกบริเวณห้องขัง

นี่เป็นอีกหนึ่งสภาพที่ชูวิทย์ถ่ายทอด และ “ฉายให้เห็นภาพ” ของระบบบางอย่างภายในเรือนจำของไทย ที่หากผู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่าน ก็อาจจะมีอาการร้อนๆ หนาวๆ บ้าง

 

“มีคนบอกว่า ผมน่าจะเขียนให้มันสนุก ตลก มันจะเขียนได้ยังไงครับ ก็มันเป็นเรื่องจริงทั้งนั้น ประการแรกเลย ผมไม่อยากให้ใครติดคุก ดังนั้น ที่ผมเขียนไว้นั้นเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในเรือนจำ ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพข้างในเป็นยังไง

“เรื่องของนักโทษคดียาเสพติดที่เป็นที่มาของปัญหานักโทษล้นคุกที่ผมได้สะท้อนให้เห็น ตั้งแต่ผู้ที่มีฐานะดีครอบครัวดี แต่ก้าวผิดไปคบกลุ่มเพื่อนหรือคบแฟนทำให้เสียอนาคตไปตลอดกาล เมื่อพ้นโทษออกมาก็ไม่มีเวลาทำอะไรได้แล้ว

“หรือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่ต้องบอกว่ามีเรื่องราวเกิดขึ้นที่นั่นมากมาย ผมได้ไปเก็บศพ 80 กว่าศพ ซึ่งได้เห็นชีวิตของคนที่มีสุขภาพดี แต่ต้องมาอยู่ในสภาพที่รวมกันมีเชื้อโรค มีคนเป็นโรคหิดอย่างรุนแรง วัณโรค โรคเอดส์ ซึ่งผมเก็บศพมาหมดแล้ว”

“(หรือ) การเยี่ยมญาติ จากคนที่ทั้งมีญาติห่วงใยและญาติค่อยๆ ตีตัวออกห่างไป บางคนลูกมาเยี่ยมแล้วบอกว่า แม่มีแฟนใหม่แล้ว ทั้งหมดนี้จะสอดแทรกอยู่ในแต่ละบท ซึ่งถ่ายทอดจากเรื่องจริงทั้งนั้น

“ยังมีเรื่องของ “ซามูไร” หัวหน้าแก๊งในคุกที่คอยเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ หรือกระทั่งคนที่ไม่มีญาติแล้วพร้อมจะรับแทนในทุกเรื่อง หรือเรื่องกะเทยในคุกเป็นยังไง คิดเรตราคายังไง มีการแต่งงานจัดงานเลี้ยงในแบบฉบับคนในเรือนจำ ให้สินสอดเลี้ยงดูกันอย่างไร ในนี้มีคำตอบ

“มีทั้งการเรียนรู้คุกและบทสรุปในคุก ถ้าอยู่ในคุกนั้น อยู่ไม่เป็นก็แย่”

 

สําหรับจุดประสงค์ประการที่ 2 ของการเขียนหนังสือ “เหลี่ยมคุก” ชูวิทย์บอกว่าเขาเขียนให้บรรดาเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์

“อย่าไปห่วงนะครับเจ้าหน้าที่เล็กๆ ว่าชูวิทย์เขียนด่าหรือเปล่า แฉอะไรอีก เพราะผมเขียนถึง “ระบบ” ครับ ผมทราบดีว่าทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จับตา

“ซึ่งเรียนบอกตรงนี้ไว้เลยนะครับว่าเจ้าหน้าที่ดีๆ มีเยอะ ไม่ดีก็มีบ้างนะครับ จะไปดีร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ยังไง ที่ไม่ดีก็ต้องมาดูมาพิจารณาเหมือนกันว่าควรจะปรับปรุงแก้ไขพัฒนาระบบอย่างไร ซึ่งถ้ากรมราชทัณฑ์ได้อ่านจะเป็นประโยชน์

“ถ้าไม่มีใครเขียน ไม่มีใครติก็ไม่มีกระจก แล้วกระจกที่ไหนครับจะไปส่องได้ดีเท่าชูวิทย์ ผมพูดตรงๆ ครับ เราลองไปดูกระจกพวกที่เลียแข้งเลียขามันเยอะ นายครับ นายชูวิทย์มันเขียนอย่างนี้ มันต้องเป็นนักโทษชั้นเลวมากๆ

“ผมบอกว่าผมก็ต้องปฏิบัติตามกฎ ถูกไหมครับ ท่านมีหน้าที่ดูกฎระเบียบ ท่านต้องปฎิบัติตามกฎหมาย ผมก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ท่านเหนือกฎหมาย ไปให้ใครเลวยังไง มันให้ไม่ได้หรอกครับ มันมีระเบียบปฏิบัติอยู่

“หัวใจมันอยู่ในปกหลัง-คำนำ ผมเขียนไว้ชัดเจนว่า ชีวิตของผมนั้นเคยอยู่ในธุรกิจสีเทาที่แวดล้อมไปด้วยหญิงสาวทุกค่ำคืน มอบความสุขสมให้กับชายทั้งหลาย พลิกผันโลดแล่นขึ้นไปสู่จุดสูงสุด เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มีประชาชนทั่วประเทศลงคะแนนให้เป็นล้านเสียง ได้เป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ อันทรงเกียรติ

“กระทั่งชีวิตตกต่ำถึงขนาดติดคุกติดตะราง กลายเป็นนักโทษเด็ดขาดชายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และได้ทำงานเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนคุก แวดล้อมไปด้วยนักโทษที่ตายด้วยโรคเอดส์ หน้าที่ของผมคือปลดปล่อยศพนักโทษเหล่านั้นกลับออกไปสู่โลกภายนอก

“ชีวิตที่พลิกผันของผมยังมีเรื่องราวอีกมากมายเกินกว่าจะคาดเดา ให้นำมาเล่าสู่กันฟังจนกว่าผมจะหมดลมหายใจ นี่คือสิ่งที่ผมเขียนไว้หลังปกเล่มนี้ หลังสือเล่มนี้ผมบอกท่านเลยว่าผมรักมากและผมพิถีพิถันมาก

“และผมเป็นคนที่ชอบใช้ประสบการณ์มาเขียนเรื่องจริง ให้คนที่อ่านได้มีความรู้เท่าทัน ผมไม่ได้หมายถึงว่าให้ท่านไปติดคุก คงไม่ใช่ครับ แต่ในนี้นอกจากผมเขียนเรื่องคุก ผมยังเขียนเรื่องต่างๆ เปรียบเทียบจุดสูงสุดและต่ำสุดในชีวิตผสมผสานกันไป ด้วยสไตล์การเขียนของผมเอง

“นอกจากสาระความรู้ ท่านคงได้ความบันเทิง ได้ความสนุกสนานด้วย”

 

ท้ายสุด ชูวิทย์ได้เกริ่นนำถึง “เกร็ดข้อมูลระดับลึกแต่ไม่ลับ” ที่เขาพบในเรือนจำ และนำมาเขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือเล่มใหม่

อาทิ ปัญหาโลกแตกของเรือนจำ นั่นคือ “โทรศัพท์มือถือ” ที่กี่ทีกี่ครั้งที่มีการตรวจสอบเรือนจำ ก็มักเจออุปกรณ์สื่อสารประเภทนี้เสมอ ซึ่งไม่รู้ว่ามันหลุดเข้ามาได้อย่างไร ถ้าไม่มี “คน” หิ้วเข้ามา แล้วถามว่าใครที่หิ้วเข้ามาได้?

ชูวิทย์โฆษณาว่าในหนังสือเล่มนี้จะมีคำตอบ พร้อมการเผยแพร่ “เรตราคาค่าเครื่อง” ตั้งแต่อดีตยันยุคปัจจุบัน ที่พุ่งพรวดจนน่าตกใจ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการใช้เงินในเรือนจำ ที่ใครๆ ต่างทราบดีว่านักโทษไม่สามารถพกเงินสดได้ ต่อให้เป็นอดีตเจ้าของธุรกิจ นักการเมือง ตำรวจ รัฐมนตรีมีชื่อเสียงขนาดไหนก็ไม่ได้ใช้เงิน

แต่พวกเขาจะใช้ “บุหรี่” แทน “เงิน” โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกับบริการต่างๆ เอาไว้

ที่สำคัญหลายคนสงสัยว่าในคุกมี “นักโทษวีไอพี” หรือเปล่า? ในหนังสือเล่มนี้ก็จะมีคำตอบเรื่องนี้ให้ แบบฉายให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่าง “นักโทษไร้เส้นทั่วไป” กับ “นักโทษเส้นใหญ่”

ความไม่เท่าเทียมจึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภายนอกคุกเท่านั้น เพราะภายในคุก คุณก็จะเห็นภาพของความแตกต่างในความเป็นอยู่ หากคุณไม่มีบารมีพอ

ต้องบอกว่า “เหลี่ยมคุก” เป็นผลงานที่น่าจับตา เพราะคล้ายจะไม่เคยมีอดีตนักโทษคนใดที่เขียนหนังสือในมุมนี้มาก่อน

และอย่างที่บอกไปตอนต้นแล้วว่า งานนี้มีคนร้อนๆ หนาวๆ แน่ๆ!!