สุจิตต์ วงษ์เทศ / ‘มโหระทึก’ กลองอินเดีย เครื่องประโคมในราชสำนักอยุธยา

กลองตะโพน สมัยอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีสายคล้องคอให้คนเดินตีได้ (ลายเส้นได้จากบันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘มโหระทึก’ กลองอินเดีย

เครื่องประโคมในราชสำนักอยุธยา

 

“มโหระทึก” ชื่อที่พบในกฎมณเฑียรบาล (สมัยอยุธยาตอนต้น) คือกลองขึงหนังจากอินเดีย เป็นเครื่องประโคมในพิธีกรรมราชสำนัก

ส่วน “มโหระทึก” ที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักวิชาการไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มโบราณคดี มีความหมายเพิ่งสร้างใหม่ว่ากลองสำริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์

มโหระทึกในกฎมณเฑียรบาลเป็นกลองอินเดียแบบหนึ่ง ถูกนำเข้าสู่ราชสำนักก่อนสมัยอยุธยาจากทมิฬอินเดียใต้ เพื่อประโคมในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลังจากนั้นผสมกับเครื่องประโคมพื้นเมืองอุษาคเนย์ เช่น ฆ้อง ฯลฯ แล้วถูกยกเป็นเครื่องประโคมในราชสำนักรัฐโบราณก่อนสมัยอยุธยา กระทั่งสืบเนื่องถึงราชสำนักอยุธยา

ภาษาทมิฬเรียกกลองแบบนี้ว่า “อึฎึกกิ” (Udukki หรือบางเมืองเรียก Idakka) เป็นกลองสองหน้า ขึงหนังรอบตัว มีเอวคอด บรรเลงโดยใช้ไม้ตีหรือใช้มือตีก็ได้ [ข้อมูลเหล่านี้ได้จากไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ในศิลปวัฒนธรรมหลายปีก่อน พ.ศ.2540 (จำไม่ได้ปีไหน? ต่อมาเขียนอธิบายเพิ่มอีกครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ.2540]

 

ประโคมเครื่อง 5

พิธีพราหมณ์ในอินเดียต้องบรรเลงประโคมเครื่อง 5 นำโดยพราหมณ์เป่าสังข์ แล้วตามด้วยพราหมณ์ตีกลองพร้อมกัน 4 ใบ เรียก “ปัญจวาทยะ” แต่บางแห่งเรียก “ปัญจตุริยะ” ในบรรดากลองเหล่านั้นมี “อึฎึกกิ” อยู่ด้วย เมื่อตีด้วยไม้จะมีเสียงดังมากกว่ากลองใบอื่น

ครั้นอยู่ในราชสำนักอยุธยานานไป (ชวนให้เดาว่า) ก็หล่อหลอมคำทมิฬ “อึฎึกกิ” กลายคำเป็น “อึกทึก” แล้วมีความหมายเพิ่มขึ้นในภาษาไทยว่ากึกก้องอื้ออึงโครมคราม ครั้นนานไปเพื่อยกย่องความสำคัญยิ่งใหญ่ของเสียงจึงเพิ่ม “มหา” เข้าไปให้อลังการเรียก “มหาอึกทึก” แล้วแผลงคำเป็น “มโหระทึก” (ตามแนวทางคำที่มีอยู่ก่อนคือ มโหรสพ หรือมหรสพ)

“ปัญจวาทยะ” หรือ “ปัญจตุริยะ” ในอินเดีย หมายถึงเครื่องประโคมรวม 5 สิ่ง ได้แก่ ปี่กับกลองต่างชนิด 4 ใบ (รวมเป็น 5) ส่วนลังการับจากอินเดียที่แพร่กระจายลงไปแล้วเรียก “มังคลเภรี” (มัง-คะ-ละ-เพ-รี)

ไทยรับทั้งจากอินเดียและลังกาในช่วงเวลาต่างกัน สมัยแรกสุดรับจากอินเดีย มีชื่อในจารึกไทยว่า “เบญจดุริยางค์” เป็นต้นตอเครื่องประโคมปี่กลองขบวนเสด็จสมัยอยุธยาทั้งสถลมารคและชลมารค รวมถึงยกทัพ (พบตามภาพสลักปราสาทในกัมพูชา เช่น นครวัด) แต่ภาษาปากเรียก “กลอง 4 ปี่ 1” ใช้ประโคมเล่นกระบี่กระบอง, ชกมวย และเผาศพ สมัยหลังรับจากลังกา เรียกวงมังคละ (ปัจจุบันยังพบบริเวณสุโขทัย, พิษณุโลก), วงกาหลอ (ปัจจุบันยังพบในท้องถิ่นภาคใต้)

“อึฏึกกิ” กลองสองหน้าขึงหนัง มีเอว ตีด้วยไม้ คือ “มโหระทึก” กลองอินเดีย ในกฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธยาตอนต้น [ภาพจากหนังสือ “ดนตรีอุษาคเนย์” โดยเจนจิรา เบญจพงศ์ (รวบรวม) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 514-515]

พราหมณ์ตีกลองมโหระทึก

“ขุนดนตรี ตีหรทึก” ข้อความในกฎมณเฑียรบาลหมายถึงเชื้อสายพราหมณ์ ราชทินนาม “ขุนดนตรี” เป็นผู้มีหน้าที่ใช้ไม้ตีมโหระทึก เป็นหลักฐานสำคัญมากยืนยันว่ามโหระทึกเป็นกลอง “อึฎึกกิ” ของอินเดียใต้ เพราะคำว่า “ดนตรี” เกี่ยวข้องกับตระกูลพราหมณ์อยุธยาที่สืบสายจากพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้

พราหมณ์ราชสำนักอยุธยาเจตนาให้พราหมณ์ตีมโหระทึกซึ่งเป็นกลอง “อึฎึกกิ” มีราชทินนาม “ขุนดนตรี” สืบเนื่องจากประเพณีพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้ในระบอบตันตระที่ยกย่องดนตรี

[คำอธิบายละเอียดอยู่ในบทความเรื่อง “ความลี้ลับของเกระละ ภาคที่ 2” ของไมเคิล ไรท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 18 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2540) หน้า 52-55 และมีรวมอยู่ในหนังสือ ฝรั่งหายคลั่ง (หรือยัง) สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2551 หน้า 41-42]

“ดนตรี”  สมัยอยุธยา มีอย่างน้อย 2 ความหมาย ได้แก่

  1. หมายถึงนักดนตรี, นักร้อง (จากภาษาสันสกฤต ว่า ตนฺตรินฺ) ความหมายนี้มีสืบเนื่องถึงปัจจุบันโดยขยายขอบเขตรวมถึงทำนองเพลงดนตรีด้วย
  2. หมายถึงเครื่องมีสาย (จากภาษาบาลีว่า ตนฺติ มีคำอธิบายอยู่ในหนังสือ ดนตรีในพระธรรมวินัย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2498 หน้า 13-16) พบหลักฐานบอกเป็นลายลักษณ์อักษรเรียกเครื่องมีสายบรรเลงมีเสียงเบา ได้แก่ พิณ, ซอ ฯลฯ ใช้เห่กล่อมในที่รโหฐานว่า “ดนตรี” อยู่ในอนิรุทธคำฉันท์ (สมัยอยุธยาตอนต้น) กับร่องรอยหลายแห่งในกฎมณเฑียรบาล เช่น พระราชนุกิจว่า “6 ทุ่มเบิกเสภาดนตรี” และนอกจากนั้นยังพบในภาพปูนปั้น (สมัยทวารวดี) กับภาพแกะสลักไม้ (สมัยอยุธยา) รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (ในวังหน้า สมัย ร.1 กรุงรัตนโกสินทร์)

 

ฆ้องชัย (เป็นชื่อเรียกที่สมมุติขึ้นสมัยหลัง) ใช้ตีประโคมในพิธีศักดิ์สิทธิ์ มักตกแต่งด้วยการทาสีเป็นแฉกรอบปุ่มฆ้อง (เหมือนรูปขวัญหน้ากลองสำริด เพราะมีที่มาร่วมกัน) พบเก่าสุดจากเรือจมในฟิลิปปินส์ ราวเรือน พ.ศ.2000 (มีข้อมูลในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? สำนักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ.2562 หน้า 49)

 

“มโหระทึก” ในพิธีพราหมณ์

พิธีพราหมณ์ในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนต้นมีเครื่องประโคมบรรเลงโดยพระครูพราหมณ์ (หรือมิฉะนั้นก็ขุนนางในตระกูลพราหมณ์) พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลว่าพระราชพิธีดุลาภารมีคณะพราหมณ์พิธีทำหน้าที่ประโคมบรรเลง สังข์ ฆ้อง, กลอง ดังนี้  (1.) ขุนศรีสังขกร เป่าสังข์ (2.) พระอินทโร ตีอินทเภรี (3.) พระนนทิเกษ ตีฆ้องชัย (4.) ขุนดนตรี ตีมโหระทึก

สังข์ เป่าโดยขุนศรีสังขกร นามนี้เป็นตำแหน่งอธิบดีโหรดาจารย์ (ศักดินา 300) หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พราหมณ์พิธี

ฆ้อง ตีโดยพระนนทิเกษ เรียก “ฆ้องชัย”

ฆ้องชัย คือ ฆ้องที่มีลายรูปขวัญเป็นแฉกอยู่ล้อมปุ่มกลางบนหน้าฆ้อง สืบเนื่องตกทอดจากหน้ากลองสำริดหรือกลองกบของอุษาคเนย์ 2,500 ปีมาแล้ว ไม่เป็นเครื่องดนตรีอินเดีย แต่ได้รับยกย่องเป็นของ “เฮี้ยน” จึงถูกผนวกเข้าไปอยู่ในพิธีพราหมณ์สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะฆ้องใช้ไม้ตีมีเสียงดังไกล ยิ่งฆ้องขนาดใหญ่  เสียงยิ่งดังก้องกังวานไกลมาก (เรียกฆ้องหุ่ย) ดังนั้นฆ้องจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในรัฐใหญ่ (ส่วนกลองสำริดถูกเลิกใช้ เพราะใช้ไม้ตีมีเสียงดังไม่ก้องและไม่ไกล)

กลอง มี 2 ใบ ได้แก่ กลองอินทเภรี ตีโดยพระอินทโร กับกลองมโหระทึก ตีโดยขุนดนตรี (อินเดียได้รับการกล่าวขวัญยกย่องจากทั่วโลกว่า “ราชาแห่งเครื่องหนัง” (หมายถึงกลอง) จึงมีกลองหลากหลายรูปแบบและตีสองมือด้วยลีลาพลิกแพลงโลดโผน)

“อินทเภรี” เป็นชื่อท้องถิ่นตั้งขึ้นตามประเพณีราชสำนักอยุธยา ส่วน “มโหระทึก” เป็นชื่อกลายคำจากภาษาทมิฬว่า “อึฎึกกิ”

“อินทเภรี” แปลว่า กลองพระอินทร์ เป็นชื่อตามประเพณีดั้งเดิมที่ยกย่องเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์เป็นของพระอินทร์ แต่ในที่นี้เชื่อว่าน่าจะหมายถึงกลองอินเดีย (แบบหนึ่ง) มีสองหน้า ใช้มือตีมีสายคล้องคอเดินไปตีไป (มีภาพลายเส้นในหนังสือลาลูแบร์) ต่อมาถูกเชิญเป็น “ครูใหญ่” เรียก “ตะโพน” แล้วทำขาตั้งและนั่งตีในวงปี่พาทย์ ได้รับยกย่องเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ ก่อนบรรเลงต้องจุดธูปบูชาพร้อมดอกไม้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่